Anselm Kiefer ศิลปินผู้สำรวจประวัติศาสตร์อันมืดมนของสังคม ด้วยฝีแปรงหยาบกระด้างทรงพลังและวัตถุแปลกแหวกขนบ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Anselm Kiefer

ศิลปินผู้สำรวจประวัติศาสตร์อันมืดมนของสังคม

ด้วยฝีแปรงหยาบกระด้างทรงพลัง

และวัตถุแปลกแหวกขนบ

 

 

ตอนนี้ขอพักจากการนำเสนอนิทรรศการ มาเล่าเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยกันบ้าง

ศิลปินผู้นี้เป็นศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้กำลังมีนิทรรศการแสดงอยู่ในช่วงนี้ เขามีชื่อว่า แอนเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) จิตรกรและประติมากรชาวเยอรมัน ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์เยอรมัน และตำนานปรัมปรา, ทั้งตำนานเทพปกรณัมนอร์สของยุโรปเหนือ หรือโอเปราของอุปรากรชาวเยอรมัน ริชชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner)

เขามักจะสร้างผลงานขนาดใหญ่มหึมาที่แฝงรหัสหรือสัญลักษณ์บอกใบ้ถึงบุคคล, เหตุการณ์, หรือสถานที่อันเป็นตำนานในประวัติศาสตร์

คีเฟอร์ใช้ผลงานของเขาสำรวจ, ขุดคุ้ยอดีต เพื่อตีแผ่ประเด็นอันอื้อฉาวที่ถูกซ่อนเร้นในประวัติศาสตร์, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอัปยศจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยพรรคนาซีเยอรมนี, ด้วยความพยายามที่จะหยิบเอาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนาซีให้กลับมาเป็นประเด็นโต้เถียงระดับชาติ

เพื่อให้ชาวเยอรมันในยุคปัจจุบันกลับมารับมือกับอดีตอันมืดมนของตัวเอง ในยุคสมัยที่การรับรู้หรือพูดถึงนาซีเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในสังคม

Varus, 1976, ภาพจาก https://bit.ly/3OHrkRi

ภาพวาดของคีเฟอร์ผสมผสานการใช้สีหนาหนักและฝีแปรงอันรุนแรง เข้ากับวัตถุสิ่งของ อันแปลกแหวกขนบการทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว, ดอกไม้แห้ง, กิ่งไม้, รากไม้, ขี้เถ้า, ดิน, เศษแก้ว ฯลฯ เพื่อสื่อถึงเวลาและวิถีชีวิต, ความตายและความเสื่อมสลาย

หรือแม้แต่ตะกั่ว อันเป็นวัตถุพื้นฐานที่ใช้ในการเล่นแร่แปรธาตุ และยังเป็นวัสดุที่คีเฟอร์คิดว่ามีน้ำหนักพอที่จะแบกรับภาระแห่งประวัติศาสตร์เอาไว้ได้

วัตถุเหล่านี้ต่างเป็นตัวแทนที่สื่อถึงแง่มุมอันแตกต่างหลากหลายทางประวัติศาสตร์ และตำนานปรัมปราต่างๆ ของเยอรมัน และหลายประเทศในยุโรป

ด้วยความสนใจในประวัติศาสตร์, ตำนานปรัมปรา และองค์ความรู้ต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่คีเฟอร์มักใช้หนังสือ เป็นหัวข้อหลักของเขาในการนำเสนอเกี่ยวกับอารยธรรมและความรู้ต่างๆ รอบตัว, เขายังมักใช้ตัวหนังสือประกอบในภาพวาดของเขา ทั้งข้อความที่หยิบฉวยมาจากบทกวี, นวนิยาย และคำขวัญประจำชาติ เช่นเดียวกับชื่อของบุคคลสำคัญต่างๆ ที่เขียนด้วยลายมือ

องค์ประกอบทางศิลปะในภาพวาดหรือประติมากรรมของคีเฟอร์ ครอบคลุมรูปแบบและเนื้อหาอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานการใช้ภาพแทนและลวดลายเชิงสัญลักษณ์

การใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์ทางรหัสยศาสตร์ (ศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งเร้นลับ)

การสอดแทรกรายละเอียดของสถาปัตยกรรมภายในและทิวทัศน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและสร้างผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ชม

รายละเอียดเหล่านี้ บ้างก็มีที่มาจากมุมมองทางประวัติศาตร์ของเยอรมันในอดีต เช่น ภาพของป่าไม้ที่ทำให้หวนรำลึกถึงสงครามอันโหดร้าย

หรือได้แรงบันดาลใจมาจากเทพนิยายเก่าแก่ อย่างเช่น เทพนิยายกริมม์ เป็นต้น

Margarethe, 1981, ภาพจาก https://bit.ly/3Lsc7la

แอนเซล์ม คีเฟอร์ เกิดในปี 1945 ที่เมืองโดเนาเอชินเกน (Donaueschingen) ประเทศเยอรมนี ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะยุติ

การเติบโตในครอบครัวของครูสอนศิลปะ ทำให้เขามีความหลงใหลในศิลปะตั้งแต่เด็ก

แต่ในช่วงวัยรุ่นเขากลับหันไปศึกษาทางด้านกฎหมายและภาษาศาสตร์อยู่ระยะหนึ่ง, ก่อนที่จะหวนกลับมาเล่าเรียนศิลปะในสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเมืองคาลส์รูเออ (Staatliche Akademie der Bildenden K?nste Karlsruhe) กับศิลปินเยอรมันผู้ทรงอิทธิพลอย่างพีเทอร์ ดรีเฮอร์ (Peter Dreher) ในช่วงปลายยุค 60s

เขายังใช้เวลาในช่วงนี้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและตะวันออกไกลในภายหลัง

คีเฟอร์เป็นหนึ่งในชาวเยอรมันรุ่นที่มีความรู้สึกอัปยศอดสูและรู้สึกผิดบาปต่อเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยพรรคนาซีเยอรมนี (ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็แทบจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ที่ว่านี้ด้วยซ้ำ)

เขากล่าวว่า การจงใจหลีกเลี่ยงการถกเถียงหรือพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองในสถานศึกษาของเยอรมัน กลายเป็นแรงผลักดันทางความคิดสร้างสรรค์ให้เขาอย่างมาก

เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานภาพถ่ายในชุดที่มีชื่อว่า Occupations (1969) ที่มีความอื้อฉาวอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่มันตีแผ่อดีตของนาซีเยอรมันอย่างจะแจ้งตรงไปตรงมา

Faith, Hope, love,1984-6, ภาพโดย Wmpearl, ภาพจาก https://bit.ly/3vEdHcQ

ในช่วงปี 1970 คีเฟอร์ย้ายไปที่เมืองดึสเซิลดอร์ฟ (D?sseldorf) และเข้าศึกษาที่สถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ

ที่นั่น เขากลายเป็นเพื่อนกับศิลปินผู้ทรงอิทธิพลอีกคนอย่างโจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ผู้มีอิทธิพลต่อเขาอย่างมากในฐานะที่ปรึกษาและครูกลายๆ

บอยส์ประทับใจในความจิกกัดเสียดสีอดีตอันมืดมนของชาติตนเองในงานของคีเฟอร์, เขาจึงผลักดันให้ศิลปินรุ่นน้องหันเหจากการทำงานภาพถ่ายมาทำงานจิตรกรรมแทน

จนคีเฟอร์หันมาพัฒนาสไตล์การทำงานของตัวเองด้วยการใช้ภาษาภาพแทน

การใช้ทิวทัศน์และสถาปัตยกรรมภายใน ที่สำรวจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และตำนานปรัมปราของเยอรมันผ่านภาพวาดฝีแปรงหยาบกระด้างหนาเตอะ (Impasto) ที่ได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่ วินเซนต์ แวน โก๊ะ และจิตรกรระดับตำนานชาวออสเตรีย ออสการ์ โคคอชกา (Oskar Kokoschka)

ภาพวาดเหล่านี้ของคีเฟอร์ มองเผินๆ เหมือนเป็นแค่ภาพทิวทัศน์ทุ่งหญ้าในชนบทของเยอรมนี แต่เมื่อสังเกตดีๆ จะเห็นถึงสิ่งแฝงเร้นเอาไว้ภายใน ทั้งภาพของสุสานอันรกร้างกว้างไกล หรือค่ายกักกันมาณะของนาซีเยอรมัน

Bohemia Lies by the Sea, 1996, ภาพจาก https://bit.ly/3KfQH9f

ศิลปินอีกคนที่มีอิทธิพลต่อคีเฟอร์อย่างมาก คือ เกออก เบซิลลิสต์ (Georg Baselitz) จิตรกรชาวเยอรมันในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบ นีโอ-เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Neo-Expressionism) ที่นอกจากจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาและผู้สนับสนุนผลงานของคีเฟอร์แล้ว ยังเป็นเพื่อนร่วมงานของเขาด้วย

ส่งผลให้คีเฟอร์หันมาทำงานในแนวทางนีโอ-เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์เช่นกัน

ด้วยแนวทางนี้นี่เองที่ทำให้ชื่อเสียงของคีเฟอร์พุ่งทะยานโดดเด่นในช่วงปลายยุค 1970s และ 1980s และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

These writings, when burned, will finally cast a little light, 2022, ภาพโดย Lighting Design Studio Baldieri. Ph. Massimiliano Baldieri ภาพจาก https://bit.ly/3KhPGgP

เขายังได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศเยอรมนี ร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ร่วมกับเบซิลลิสต์ ในปี 1980 อีกด้วย

การบุกเบิกการใช้วัตถุข้าวของรอบตัวทั่วไปที่ไม่ค่อยถูกใช้ทำงานศิลปะมาผสมผสานในภาพวาด, หรือการผสมผสานความเป็นสามมิติแบบประติมากรรมลงในงานสองมิติอย่างงานจิตรกรรม, การทับซ้อนผืนผ้าใบหลายๆ ชั้น ของคีเฟอร์ ส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังๆ กล้าทดลองใช้วัสดุเพื่อขยายขอบเขตในการทำงาน

ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอย่างจางหวน (Zhang Huan) และแดน โคลเน (Dan Colen)

หรือการใช้องค์ประกอบอันหนาแน่นและหัวข้ออันเข้มข้นทรงพลังของเขาก็ส่งอิทธิพลให้ศิลปินรุ่นหลังๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นของสงคราม, ความทรงจำ และการสูญเสีย ทั้งจิตรกรอย่างวิลเลียม เคนทริจด์ (William Kentridge), สตีเฟน บาร์เคลย์ (Stephen Barclay), คริสโตเฟอร์ บรามแฮม (Christopher Bramham)

หรือศิลปินภาพถ่ายอย่างโซอี้ สเตราส์ (Zoe Strauss) และศิลปินศิลปะจัดวางอย่างคริสเตียง โบลตองสกี้ (Christian Boltanski)

These writings, when burned, will finally cast a little light, 2022, ภาพโดย Lighting Design Studio Baldieri. Ph. Massimiliano Baldieri ภาพจาก https://bit.ly/3KhPGgP

นอกจากการยืนอยู่บนเส้นแบ่งพรมแดนระหวางศิลปะนามธรรมและศิลปะรูปลักษณ์แล้ว คีเฟอร์ยังใช้ความเป็นกวีและรูปแบบทางจิตวิทยาในการถ่ายทอดประเด็นทางสังคมและการเมืองอันเข้มข้น เพื่อทำลายสุนทรีศาสตร์อันแห้งแล้งเย็นชาของศิลปะมินิมอลลิสม์และคอนเซ็ปช่วลอาร์ต

เขานำพาชีวิตหวนกลับคืนสู่งานจิตรกรรมที่เคยถูกปรามาสว่าตายไปแล้วจากโลกศิลปะ

คีเฟอร์และเพื่อนศิลปินร่วมยุคสมัยอย่างเกออก เบซิลลิสต์, ซิกมา โพสเคอ (Sigmar Polke) และแกร์ฮาร์ด ริตช์เตอร์ (Gerhard Richter) ประสบความสำเร็จในการผลักให้สังคมเยอรมันร่วมสมัยลุกขึ้นมาเผชิญหน้าและถกเถียงเกี่ยวกับอดีตอันอัปยศสยดสยองของประเทศตัวเองได้เป็นอย่างดี

ล่าสุด คีเฟอร์ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 59 ในปี 2022 กับผลงาน Questi scritti, quando verranno bruciati, daranno finalmente un po’ di luce (These writings, when burned, will finally cast a little light, 2022) ที่จัดแสดงภายในพระราชวังปาลัซโซ่ดูคาเล (Palazzo Ducale) อาคารประวัติศาสตร์แบบกอธิคในจัตุรัสเซนต์มาร์ก เมืองเวนิส อิตาลี

These writings, when burned, will finally cast a little light, 2022, ภาพโดย Lighting Design Studio Baldieri. Ph. Massimiliano Baldieri ภาพจาก https://bit.ly/3KhPGgP

คีเฟอร์ประดับประดา Sala dello Scrutinio ห้องโถงใหญ่ในพระราชวัง ด้วยชุดผลงานจิตรกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปินอิตาเลียนชั้นครูแห่งยุคเรอเนสซองซ์อย่างทินโทเรตโต (Tintoretto) และอันเดรีย วิเซนติโน (Andrea Vicentino)

ผลงานภาพวาดขนาดยักษ์ที่ประกอบด้วยสังกะสี, ตะกั่ว, ทองคำแท้, เสื้อผ้า และชิ้นส่วนของรถเข็นช้อปปิ้ง หรือวัตถุอันแปลกประหลาดอื่นๆ บนฉากหลังไหม้เกรียมแตกระแหงในผืนผ้าใบขนาดมหึมา อย่างโลงศพอันว่างเปล่าของนักบุญมาร์กแห่งเวนิส, บันไดที่ดูราวกับจะปีนลงไปยังขุมนรก

ผลงานอันสั่นสะเทือนอารมณ์อย่างทรงพลังเหล่านี้ ช่างซ้อนทับกับภาพของสงครามยูเครนในปัจจุบันเหลือเกิน

ผลงานชุดนี้ของคีเฟอร์ถูกจัดแสดงในมหกรรมศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2565 จัดหนักจัดเต็มขนาดนี้

มิตรรักแฟนศิลปะทั้งหลายไม่ควรพลาดที่จะหาโอกาสไปชมอย่างยิ่ง จริงๆ อะไรจริง! •

ข้อมูล หนังสือ Anselm Kiefer : Transition from Cool to Warm โดยหอศิลป์ Gagosian, เว็บไซต์ https://bit.ly/3MwO04H, https://bit.ly/3KxbKVb, https://bit.ly/3vjCunz