กำดัด / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพประกอบ : มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ 5 กัณฑ์ชูชก

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

กำดัด

 

‘กําดัด’ เป็นคำที่ใช้ได้สารพัด ใช้เป็นกริยาก็ได้ คำขยายก็ดี ความหมายเปลี่ยนไปตามหน้าที่และข้อความแวดล้อม คำนี้ใช้ได้กับคน ผลไม้ เวลา แสงแดด ไปจนถึงความรัก

ที่ใช้กับคนและเป็นคำคุ้นหู คือ ‘วัยกำดัด’ กำดัดในที่นี้หมายถึง กำลังรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่น่ารักน่าชม วัยกำดัด คือ วัยกำลังดี หรือวัยรุ่นนั่นเอง บางทีใช้คำว่า ‘กำดัด’ เฉยๆ ไม่ต้องประกอบกับคำอื่น ดังที่ “นิราศเดือน” ของนายมี หรือหมื่นพรหมสมพัตสร เล่าถึงสาวรุ่นมาทำบุญวันสงกรานต์ว่า

“ที่กำดัดซัดสีสวยทั้งกาย เที่ยวถวายน้ำหอมพร้อมศรัทธา”

ใน “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก บรรดานางพราหมณีรุมด่าทอเยาะเย้ยนางอมิตตดา เมียสาวของชูชกพราหมณ์เฒ่า

“เออก็เจ้ายังระเร่อรุ่นกำดัดเด็กดวงดรุณีกุมารี อภิรูปา ทรงลักษณสรีรารวยรื่นเสาวภาคย์ แม่กลัวแต่ว่าจะหายากหรือที่สามี”

ข้อความว่า ‘รุ่นกำดัดเด็กดวงดรุณีกุมารี’ หมายถึง สาวรุ่นเพิ่งพ้นวัยเด็กมาหมาดๆ

 

คําว่า ‘กำดัด’ ใช้ได้ทั้งชายหญิง ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “มณีพิชัย” นางยอพระกลิ่นแกล้งรุกเร้าจนพระมณีพิชัยทำอะไรไม่ถูก

“นั่งอยู่ดีดีที่ศาลา เจ้ามานั่งเบียดเสียดสี

ไม่อดสูดูเอาเล่าเถิดซี้ ยิ่งหนียิ่งขยับตามมา

จะให้เป็นอย่างไรไปอีกเล่า จนข้าเจ้าถอยหลังกระทั่งฝา

คับแคบแทบจะตกศาลา นี่เนื้อจะมาแกล้งกัน”

พระมณีพิชัยรีบห้ามเป็นพัลวัน

“เจ้าก็เป็นสาวศรีพี่ก็หนุ่ม ยังกำดัดกลัดกลุ้มหุนหัน

อย่าทำเซ้าซี้อย่างนี้อย่างนั้น ลูกเมียข้ามันก็ไม่มี

ฉวยกระไรเพลี่ยงพล้ำสิรำคาญ ข้าขี้คร้านเกี้ยวชู้จู้จี้

จะขุ่นเคืองเบื้องหน้าเป็นราคี อยู่คนเดียวเถิดซีที่ศาลา”

‘กำดัด’ ในข้อความว่า ‘ยังกำดัดกลัดกลุ้มหุนหัน’ หมายถึง วัยกำลังรุ่นทั้งคู่ เป็นหนุ่มเป็นสาวพอๆ กัน

 

อย่างไรก็ดี ‘กำดัด’ ยังมีความหมายว่า ‘กำหนัด’ หรือคิดถึงด้วยความรัก กระวนกระวายทางกาม ดังที่ “นิราศเดือน” เล่าถึงหญิงสาวบางคนเข้าวัดแทนที่จะมุ่งทำบุญกลับมุ่งหมายในตัวพระ

“บ้างก็มีที่สวาดิมาดพระสงฆ์ ต่างจำนงนึกกำดัดขัดสิกขา”

ทั้งพระและสีกาต่างรักกัน แต่ติดขัดว่าพระมีข้อที่ต้องศึกษาและปฏิบัติ จึงลงเอยด้วยการ

“ได้แต่เพียงพูดกันจำนรรจา นานนานมากลับไปแล้วใจตรอม”

นิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” ตอนที่พระอาทิตย์พบนางฟ้า (ผู้ถูกสาปให้มาเกิดชั่วคราวในโลกมนุษย์) ได้ตัดพ้อนางว่า

“โอ้เจ้าพี่ศรีสวัสดิ์กำดัดสวาท นุชนาฏแม่อย่าลืมเนื้อความหลัง

หรือชอบใจอยู่ที่ในอุบลบัง สมบัติทั้งเมืองฟ้าไม่อาวรณ์

พี่หรือคือสุริยงดำรงทวีป ทุเรศรีบมาด้วยการสงสารสมร

จะชูช่วยนางฟ้าสถาวร พงางอนนุชน้องอย่าหมองนวล”

คำว่า ‘กำดัดสวาท’ สื่อถึงความรักของพระอาทิตย์ที่มีต่อนาง

 

นอกจากคน ผลไม้ก็ใช้คำว่า ‘กำดัด’ ได้ด้วย “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์หิมพานต์บรรยายถึงหมู่ไม้ดอกไม้ผล ดังนี้

“บ้างผลิดอกออกใบระบัดอ่อนกิ่งก้านอรชรดั่งชั้นฉัตร บ้างก็ทรงผลกำดัดสุกทราม บ้างก็ดิบห่ามระคนปนผกามาศ ที่บานแบ่งบุปผชาติน่าใคร่ชม”

‘ผลกำดัดสุกทราม’ คือ ผลสุกกำลังดี คำว่า ‘ทราม’ ในที่นี้ “อักขราภิธานศรับท์” ให้ความหมายว่า

“ซาม, เปนชื่อสิ่งของทั้งปวงที่กำลังดี, ฦๅภอดีเปนต้นนั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘กำดัด’ และ ‘ทราม’ ความหมายไม่ต่างกัน ใช้ด้วยกันมีความหมายว่า กำลังดี กำลังพอดี “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์มหาพน เล่าถึงต้นกล้วยต้นกล้ายใกล้ที่พำนักของพระเวสสันดรว่า

“กทลิโย อนึ่งผลกล้วยกล้ายดิบสุกห่ามทรามกำดัดกินก็เกลื่อนกลาด ย่อมมีอยู่แทบที่ใกล้พระอาวาสบริเวณวนาศรม แห่งพระผู้อุดมด้วยศีลวัตรบวรพิเศษสืบสร้างแสวงเพศผนวชในพนัสแสนกันดาร อันเป็นเขตพระหิมพานต์นั้นแล”

ผลกล้วยและกล้ายมีหลายลักษณะตั้งแต่ ‘ดิบ สุก ห่าม และทรามกำดัดกิน (คือ กำลังกิน กำลังดี กำลังพอดีกิน) ยิ่งไปกว่านั้นในกัณฑ์จุลพน เล่าถึงผลมะม่วงระยะต่างๆ ‘กำดัด’ในที่นี้มีความหมายต่างไป

“มะม่วงทั้งหลายลางต้นพึ่งเผล็ดช่อตูมบานอยู่ยังไม่มีผล และบางต้นมีผลเป็นศีรษะแมลงวัน ยังต้นอื่นกว่านั้นเป็นขบเผาะ ยังต้นอื่นอีกกำดัดเดาะเป็นผลดิบใหญ่ ยังต้นอื่นไปมีผลห่ามงามเป็นปากตะกร้อ สีนวลลออน่าเก็บกิน”

‘กำดัดเดาะ’ น่าจะมาจากคำว่า ‘กำดัดกำเดาะ’ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ให้ความหมายว่า กำดัด คือ กำลังรุ่น กำเดาะ คือ กระเตาะ, รุ่น, เพิ่งแตกเนื้อสาว ดูจากข้อความแวดล้อม “ยังต้นอื่นอีกกำดัดเดาะเป็นผลดิบใหญ่ๆ” แสดงว่าคงเป็นผลมะม่วงที่ยังไม่สุก

ถ้าเปรียบกับผู้หญิงก็คือสาวแรกรุ่น หรือเพิ่งรุ่นสาวนั่นเอง

 

เมื่อเกี่ยวกับเวลา ‘กำดัด’ มีความหมายว่า เต็มที่ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนเถนขวาดใช้เวทมนตร์สะกดผู้คุมและสะเดาะโซ่ตรวนก็อาศัยเวลาดึกเต็มที่นี่แหละแหกคุก

“ครั้นถึงเวลาดึกกำดัด เงียบสงัดแสงไต้ริบหรี่อยู่

เถนขวาดรำพึงถึงคุณครู ระยับจิตลงสู่ให้แน่นอน

โอมอ่านคาถามหาสะกด ผู้คนหลับหมดดังไม้ท่อน

พิเคราะห์ใคร่ครวญดูราหูจร ปลอดเปลาะสะเดาะกลอนถอนโซ่ตรวน

ก็บันดาลขื่อคาสารพัด หลุดพลัดจากที่ลงถี่ถ้วน

แล้วสะเดาะโซ่กุญแจแปรปรวน ตรวนเณรจิ๋วร่วงฉับพลัน”

ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” สุนทรภู่ใช้คำว่า ‘กำดัดดึก’ ไว้ในตอนที่นางอรุณรัศมีครวญถึงสินสมุทร

“นางตรึกตราอาลัยอยู่ในห้อง จนยามสองเสียงสงัดกำดัดดึก

เผยพระแกลแลมหาชลาลึก อนาถนึกหนาวใจกระไรเลย”

 

เช่นเดียวกับตอนที่หัสไชยเสียทีถูกมังคลาเผาเรือ ทหารลังกาฉลองชัยเฮฮาพากัน ‘ประมาทใจไม่ระวังนอนนั่งเฉย’ และ ‘ต่างคนเลยหลับนอนผ่อนสำราญ’ หัสไชยจึงคิดแก้ไขสถานการณ์

“สังเกตดูผู้คนที่บนฝั่ง พวกฝรั่งเงียบระงับนอนหลับใหล

กำดัดดึกปรึกษาเสนาใน เราก็ไม่มีเสบียงจะเลี้ยงพล

จะรบพุ่งรุ่งเช้าข้างเขามาก เราอดอยากสารพัดจะขัดสน

วันนี้ดึกศึกหลับเราขับพล ขึ้นตีปล้นอ้ายฝรั่งรบสั่งลำ”

ทั้ง ‘ดึกกำดัด’ และ ‘กำดัดดึก’ เป็นเวลาดึกสงัด ดึกมาก ผู้คนทั้งหลายล้วนพักผ่อนนอนหลับใหล เหมาะทำการใดๆ ที่ไม่ต้องการให้ใครล่วงรู้

นอกจากนี้คำว่า ‘กำดัด’ เมื่อขยายคำว่า ‘แดด’ จะให้ภาพของแสงอาทิตย์แรงกล้าในเวลากลางวัน ความร้อนแผดเผาจนเจลโบราณ (= ขี้ผึ้งผสมกระเหม่า (เขม่า) หรือผงดำๆ ใช้แต่งผม) เสื่อมสภาพ สาวหน้าขาวผ่องกลายเป็นหน้าดำโดยอัตโนมัติ ดังที่นิทานคำกลอนเรื่อง “สิงหไกรภพ” บรรยายว่า

“ข้าหลวงเหล่าชาววังรุงรังคิ้ว ต่างผัดผิวผ่องดีมีสีสัน

ติดขี้ผึ้งถึงกระเหม่าสักเก้าชั้น อุตส่าห์กันหน้าผมให้คมคาย

พวกหนุ่มๆ รุมเกี้ยวทำเบี้ยวบิด ดัดจริตควักค้อนงอนใจหาย

กำดัดแดดแผดเผากระเหม่าละลาย เมินซังตายถอยถลาทำพาเชือน”

 

ถึงตรงนี้ ‘สวย’ กับ ‘ซวย’ ใกล้ๆ กัน •