“ซูจี” เลิกเงียบ ขึ้นแถลงปมวิกฤตโรฮิงญา ถามทำไมถึงอพยพไปบังคลาเทศกันหมด?

วันที่ 19 กันยายน เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยนของอังกฤษรายงานว่า หลังจากที่เงียบมานานกว่าสัปดาห์ท่ามกลางวิกฤตโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของพม่าตั้งแต่ 25 สิงหาคม จนถึงขณะนี้ นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของพม่า ได้ขึ้นแถลงต่อที่ประชุมสภาในกรุงเนปิดอว์ ท่ามกลางสมาชิกสภาและผู้แทนจากต่างประเทศ ร่วมฟังกันอย่างเนืองแน่น โดยนางซูจีกล่าวว่ารัฐบาลยังคงทำการค้นหาว่า “ปัญหาที่แท้จริง” นั้นคืออะไร และข้อกล่าวหารวมถึงการโต้ข้อกล่าวหาจะต้องได้รับการสืบสวน

นางซูจีกล่าวว่า ทางเราเองก็มีความกังวลเช่นกัน เราต้องการค้นหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เราต้องฟังทุกเสียง เราต้องแน่ใจข้อกล่าวหาเหล่านี้อยู่บนหลักฐานที่น่าเชื่อถือก่อนที่จะลงมือ

การขึ้นแถลงด้วยตัวเองของนางซูจีต่อกรณีวิกฤตชาวโรฮิงญา นับว่าเป็นครั้งแรกที่ปรากฎตัวต่อสาธารณะนับตั้งแต่กองทัพพม่าเข้าล้อมปราบกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาจนถูกติดป้ายว่าเป็น ‘การกำจัดชาติพันธุ์’ โดยหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ซึ่งนางซูจีกล่าวว่า ตนตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่าโลกต่างสนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ในฐานะสมาชิกผู้รับผิดชอบของชุมชนประชาชาติพม่าจะต้องไม่กลัวการตรวจสอบของนานาชาติ

นางซูจียังกล่าวอ้างว่า หมู่บ้านของชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลจากความขัดแย้ง โดยกองทัพพม่าที่ถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงเผาบ้านและฆ่าผู้คนนั้น ที่จริงพวกเขาถูกสอนให้ยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงความเสียหายข้างเคียง

“ตนรู้สึกกังวลอย่างมาก ต่อความทุกข์ยากของผู้คนที่จมอยู่กับความขัดแย้ง” นางซูจี กล่าวและว่า เรากังวลที่ได้ยินว่ามีชาวมุสลิมกำลังหนีข้ามชายแดนไปบังคลาเทศ เราต้องค้นหาว่าทำไมถึงเกิดการอพยพครั้งใหญ่ขึ้นมาได้”

นางซูจี ยังได้กล่าวเตือนว่า การลงโทษจะใช้กับคนก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎหมายของแผ่นดินหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงเรื่องเชื้อชาติหรือจุดยืนทางการเมือง

ขณะเดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า ในระหว่างขึ้นแถลง นางซูจีเอ่ยถึง ‘โรฮิงญา’ เพียงครั้งเดียว โดยระบุถึงกองกำลังปลดปล่อยชาวโรฮิงญาแห่งรัฐอาระกันหรืออาซาร์

นอกจากนี้ นางซูจี ได้เรียกร้องกับโลกให้มองพม่าทั้งหมดและกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ชุมชนระหว่างประเทศกลับจดจ่อแต่ปัญหาเดียวที่เกิดขึ้น ท่ามกลางปัญหาอื่นๆที่พม่ากำลังเผชิญ

ทั้งนี้นางซูจี เกือบเงียบสนิทต่อเหตุนองเลือดในรัฐยะไข่ จนถึงกับทำให้ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อ้างอิงว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เข้าตำราของการกำจัดชาติพันธุ์ก็ว่าได้