ทำความรู้จัก ‘stagflation’ ภาวะเสี่ยงของไทยและเอเชีย/เทศมองไทย

เทศมองไทย

ทำความรู้จัก ‘stagflation’

ภาวะเสี่ยงของไทยและเอเชีย

 

ผมเคยเขียนถึงสภาวะ “stagflation” ไปบ้างแล้ว แต่ต้องเขียนถึงอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา แอนน์-มารี กุลด์-โวล์ฟ รักษาการผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาพูดถึงคำนี้ในเชิงเตือนอย่างจริงจัง

กุลด์-โวล์ฟกล่าวระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เตือนว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ stagflation ขึ้นในภูมิภาค

ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดเรื่องคำแถลงที่ว่า ทำความรู้จักกันสักนิดว่า stagflation คือภาวะอย่างไรกัน

 

stagflation (สแต็กเฟลชั่น) เป็นคำที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้เรียกสถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เมื่อเกิดเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะงักงันหรือถดถอย

ภาวะที่ว่านี้ไม่ปกติ เพราะโดยปกติแล้วเงินเฟ้อจะสูงก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว กิจการธุรกิจผลิตสินค้าและบริการเป็นไปด้วยดี ความต้องการสินค้ามีสูง ทำให้ต้องว่าจ้างงานเพิ่มมากขึ้น รายได้ของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ใช้เงินกันมากขึ้นวนกลับไปทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจชะลอตัว การเลิกจ้างก็จะมีมากขึ้น อัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้น เงินในกระเป๋าลดลง คนในสังคมใช้จ่ายกันน้อยลง เงินเฟ้อย่อมปรับตัวลงตามไปด้วย วนกันเป็นวงเช่นนี้จนกว่าจะมีการแก้ไขที่ถูกจุด

แต่ stagflation เป็นภาวะที่เกิดเงินเฟ้อสูงจากสาเหตุอื่นที่อยู่นอกเหนือกลไกทางเศรษฐกิจในประเทศ เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว หรือในบางกรณีกลับถดถอยด้วยซ้ำไป ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

เพราะเศรษฐกิจที่ถดถอยจะทำให้รายได้ของประชาชนลดน้อยลงจนต้องจำกัดการใช้จ่าย ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจลดการผลิตและการบริการลง ไล่คนออกมากขึ้น กำลังซื้อในสังคมจะยิ่งน้อยลงไปอีก วนเป็นวัฏจักรร้ายแรงและยาวนาน ทำลายเศรษฐกิจของประเทศได้ชะงัดมาก และแก้ไขลำบากมาก

 

กุลด์-โวล์ฟบอกเอาไว้ว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญปัญหานี้ เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่สภาวะเงินเฟ้อกำลังสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดไว้เช่นเดียวกัน

ทำไมสถานการณ์อย่างนี้ถึงเกิดขึ้นกับเอเชีย?

เธอบอกว่า แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างเอเชียกับรัสเซียและยูเครนมีจำกัดอย่างยิ่ง แต่การที่ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในหมวดอาหารถีบตัวสูงขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นตามมาทั่วเอเชีย

พร้อมกันนั้นการล็อกดาวน์ที่ดูเหมือนยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ก็ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าจากตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลาดหนึ่งลดน้อยลง ทำให้การส่งออกของประเทศในเอเชียลดลง กลายเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้อแก้ไขด้วยการขึ้นดอกเบี้ย กุลด์-โวล์ฟก็บอกเช่นกันว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะเร็วและมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อรุนแรงแค่ไหนและแรงกดดันจากภายนอกมากน้อยเพียงใด

แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจชะลอลงไปอีก ด้วยเหตุนี้บางประเทศจึงไม่เลือกใช้วิธีนี้

ที่เป็นปัญหาสมทบเข้ามาพร้อมกันไปด้วยก็คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ประเทศซึ่งมีหนี้สินสะสมอยู่มากๆ โดยเฉพาะถ้าหากเป็นหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ ก็จะยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก

 

นักวิเคราะห์ภาคเอกชนอย่างตรินห์ เหงียน แห่งแนทิซิส ในฮ่องกง ยอมรับว่า เห็นพ้องกับไอเอ็มเอฟ ที่ว่าอนาคตทางเศรษฐกิจของเอเชียดูทีท่าแล้วอยู่ในสภาพไม่ดีนัก

ตรินห์เชื่อว่า ในสภาพเช่นนี้หลายประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะยิ่งทำร้ายเศรษฐกิจให้สาหัสขึ้นไปอีก เพราะสภาวะทางการเงินตึงเปรี๊ยะมากขึ้น โอกาสที่จะกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว ทำได้ลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะถ้าหากสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นและแรงขึ้น

ประเทศที่เลือกหนทางที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยไม่ขึ้นดอกเบี้ยในประเทศ อย่างเช่น ไทยและญี่ปุ่น ก็จะส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมากขึ้นไปอีก อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงมากขึ้นเช่นเดียวกัน

หยิบมาเล่าสู่กันฟังเพื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกันแต่เนิ่นๆ ครับ