เมื่อผู้หญิงไม่เคยตกเป็น ‘เหยื่อ’ และความกำกวมในหนัง ‘เวอร์โฮเวน’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

เมื่อผู้หญิงไม่เคยตกเป็น ‘เหยื่อ’

และความกำกวมในหนัง ‘เวอร์โฮเวน’

 

หลายสัปดาห์ก่อน เคยแปลบทสัมภาษณ์ผู้กำกับฯ อาวุโส “พอล เวอร์โฮเวน” เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง “Benedetta” ของเขา มาแผยแพร่ ณ คอลัมน์นี้

สัปดาห์นี้ ขออนุญาตนำแง่มุมความคิดของ “แดฟเน พาทาเกีย” นักแสดงชาวกรีซ-เบลเยียม ซึ่งสวมบทเป็นตัวละคร “บาร์โตโลเมอา” ในหนังเรื่องเดียวกัน ได้อย่างน่าประทับใจและน่าจดจำ มาเล่าสู่กันฟัง

โดยอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ของเธอในเว็บไซต์ https://schonmagazine.com

 

: ก่อนหน้าจะมาเล่นหนังเรื่อง “Benedetta” คุณเป็นแฟนภาพยนตร์ของ “พอล เวอร์โฮเวน” มาก่อนหรือไม่?

ฉันไม่ได้คุ้นเคยกับงานของเวอร์โฮเวนมากนัก แต่ฉันเคยดูหนังเรื่อง “Basic Instinct” เมื่อฉันรับรู้ว่าตัวเองกำลังจะได้แคสติ้งเข้าไปเป็นนักแสดงในหนังของเขา ฉันก็ทยอยดูหนังของเวอร์โฮเวนจนครบเกือบทุกเรื่อง

เรื่องที่ฉันชอบมากที่สุดคือ “Flesh and Blood” ภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเขา ซึ่งได้ “เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์” มาร่วมแสดง ตอนนั้นเธออายุแค่ 22 ปี แต่กลับฝากฝีมือไว้น่าทึ่งมาก

หนังเรื่องนั้นไม่ใช่ผลงานของเวอร์โฮเวนที่โด่งดังหรือเป็นที่รักมากที่สุด แต่ฉันชอบมันเพราะคิดว่า “Flesh and Blood” มีอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับ “Benedetta”

มันถ่ายทอดเรื่องราวในยุคกลาง ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของกาฬโรค แม้แต่การถ่ายภาพของหนังสองเรื่องก็มีบางมุมที่เหมือนกัน

ด้วยความที่ “Flesh and Blood” มีจุดเชื่อมโยงกับ “Benedetta” ฉันจึงรักหนังเรื่องนั้นมากๆ ฉันพบว่ามันสนุกสุดๆ

 

: แสดงว่าตอนนี้คุณเป็นแฟนหนังของเวอร์โฮเวนเรียบร้อยแล้ว?

ฉันเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเวอร์โฮเวนไปแล้ว ฉันชื่นชอบผลงานของเขาเพราะว่าฉันรักในวิถีทางที่เขาปฏิบัติกับผู้หญิง ฉันรักคาแรคเตอร์ของตัวละครสตรีในหนังของเขา เพราะพวกเธอจะมีบุคลิกภาพที่สลับซับซ้อนอยู่เสมอ และไม่เคยตกเป็นเหยื่อของใคร

ตัวละครเหล่านี้จะเริ่มปรากฏตัวขึ้นในบริบทที่พวกคุณมักคิดว่าพวกเธอคือเหยื่อ แต่แล้วพวกเธอจะสามารถพลิกสถานการณ์ได้เสมอ ยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงในหนังของเวอร์โฮเวนยังไม่เคยสร้างภาพตอกย้ำให้ตัวเองกลายเป็นเหยื่อ พวกเธอสามารถทำในสิ่งที่ตนเองปรารถนาได้อยู่ตลอดเวลา

หนังของเขามักเต็มไปด้วยฉากเซ็กซ์และความรุนแรง แต่ฉากเหล่านั้นจะถูกเล่าด้วยวิธีการที่น่าสนใจมากๆ ฉากเซ็กซ์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเร้ากามารมณ์ แต่มันมีหน้าที่ในการบอกเล่าอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น

เช่นจริงๆ แล้ว ฉากเซ็กซ์ใน “Basic Instinct” ไม่ได้มุ่งยั่วยวนให้เกิดตัณหาราคะ ฉันดูฉากนั้นอย่างกระวนกระวายใจ ด้วยเหตุผลว่าเราไม่ได้กำลังจับจ้องว่าตัวละครในจอร่วมเพศกันอย่างไร แต่เรากำลังตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวเมื่อตัวละครหญิงหยิบที่เจาะน้ำแข็งขึ้นมาฆ่าผู้ชายไม่ใช่เหรอ? ดังนั้น นั่นจึงเป็นฉากระทึกขวัญ

หรือใน “Showgirls” แม้ในระดับพื้นผิว หนังจะถูกปกคลุมด้วยฉากเซ็กซ์ แต่เรื่องราวจริงๆ ของมันกลับตลกเอามากๆ

เช่นเดียวกันกับ “Benedetta” ฉันรู้สึกว่าในบางคราว หนังของเรา ก็มีแง่มุมของความตลกขบขันแฝงอยู่ในฉากเซ็กซ์ ฉากเหล่านั้นส่งผลต่อเรื่องราวโดยรวมไม่มากก็น้อย และมันไม่ได้มีหน้าที่เพียงเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศเท่านั้น

: ตัวละคร “บาร์โตโลเมอา” ที่คุณสวมบทไม่ได้มีแค่เพียงบุคลิกภาพที่สลับซับซ้อน แต่เธอยังมีความกำกวมคลุมเครืออยู่สูงมาก คุณรับมืออย่างไรกับความกำกวมดังกล่าว?

ความกำกวมคลุมเครือคือสิ่งที่ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในหนังของพอล เวอร์โฮเวน เมื่อฉันได้อ่านบทภาพยนตร์ ฉันจำได้ว่าทุกๆ ครั้งที่พลิกไปยังหน้าถัดไป ฉันไม่เคยคิดว่ามีฉากไหนที่เป็นองค์ประกอบตื้นๆ พื้นๆ หรือไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในหนังเลย ทุกครั้งที่คุณคิดว่าคุณรู้แล้วว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าคุณจะคาดการณ์ผิด

กระทั่งสำหรับหนังเรื่องนี้ จุดที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ คุณไม่สามารถรู้ได้จริงๆ ว่านี่เป็นภาพยนตร์ตระกูลอะไร? ในบางแง่ คุณอาจคิดว่ามันเป็นหนังดราม่า แต่แล้วต่อมา คุณก็จะพูดขึ้นว่า “โอ้! ไม่ บางทีมันอาจจะเป็นหนังตลก”

ไม่ต่างอะไรจากบรรดาตัวละครในหนัง ซึ่งคุณจะไม่มีทางหยั่งรู้ถึงแรงจูงใจที่ผลักดันให้พวกเธอลงมือทำเรื่องราวต่างๆ

แน่นอนที่สุด เมื่อมันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะถ่ายทอดแสดงออกมา ความกำกวมคลุมเครือก็เป็นอะไรบางอย่างที่เราสามารถรู้สึกได้ แม้มันจะไม่ใช่แสงสว่างที่ช่วยส่องนำทางให้เรา

ในสถานการณ์แบบนี้ เราต้องตัดสินใจเลือกเอาเองว่าอะไรที่ใช่หรือไม่ใช่แรงจูงใจของตัวละคร เวอร์โฮเวนอยากให้นักแสดงได้รู้สึกถึงความกำกวมคลุมเครือ ยกตัวอย่างเช่น เขาจะไม่ยอมพูดถึงสภาวะทางจิตวิทยาของตัวละครเลย เขาไม่ชอบสนทนาเรื่องนั้น

ตอนฉันไปแคสติ้ง เขาพูดกับฉันว่า “แล้วเจอกันที่กองถ่าย” เมื่อฉันถามต่อว่า “เราจะมีการซักซ้อมอะไรกันก่อนไหม?” เขาก็ตอบว่า “คุณรู้อยู่แล้วว่าคุณต้องทำอะไร”

ในกองถ่าย ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับนักแสดงอย่างพวกเรา เวอร์โฮเวนอนุญาตให้เรามีเสรีภาพในการนำเสนอวิธีการทำงานได้อย่างที่เราต้องการ ก่อนที่เขาจะเดินเข้ามาแล้วกำกับเราอีกที แต่สัญชาตญาณแรกที่เกิดขึ้นจะเป็นสัญชาตญาณของนักแสดงที่มีต่อตัวละครนั้นๆ นั่นแหละคือสิ่งที่เขาต้องการ เขาคือคนหนึ่งที่ต้องรับรู้ถึงความกำกวมคลุมเครือ

แม้กระทั่งเมื่อเวอร์โฮเวนมีแนวทางที่ชัดเจนมากๆ ว่านักแสดงอย่างพวกเราควรจะทำอะไรแบบไหน แต่แล้วเขาก็มักจะโยนแนวคิดนั้นทิ้งไป เช่น เขาอาจพูดกับฉันว่า “เธอทำอย่างนี้เพราะเธอรักหล่อน” ก่อนจะหันหลังเดินจากไป แล้วสักพัก เขาจะกลับเข้ามาพร้อมคำพูดว่า “หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้นะ” ดังนั้น แม้แต่แนวทางการกำกับการแสดงของเขาก็มีความกำกวม

เหมือนกับที่พวกเราเองไม่รู้อะไรชัดเจนนัก ซึ่งบางครั้งในชีวิต เราก็ไม่ได้รู้อะไรชัดๆ ไปเสียทั้งหมด

สำหรับการแสดงเป็น “บาร์โตโลเมอา” ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องเพอร์เฟ็กต์ ที่เราจะเข้าไปสวมบทบาทตัวละครรายนี้โดยใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก เพราะเธอคือเด็กสาวที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณ เธอคือปุถุชนที่ยังปราศจากการยับยั้งชั่งใจ

ก่อนหน้านี้ ฉันไม่เคยทำงานแสดงโดยใช้สัญชาตญาณนำมาก่อน แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ สำหรับตัวละครรายนี้ ฉันรู้สึกว่านี่คือวิธีการแสดงแบบที่เวอร์โฮเวนต้องการ •

เนื้อหาจาก https://schonmagazine.com/interview-daphne-patakia/

อ่าน ‘Benedetta’ : ความสนุก, ศาสนจักร และเซ็กส์ | คนมองหนัง ได้ที่นี่

‘Benedetta’ : ความสนุก, ศาสนจักร และเซ็กส์ | คนมองหนัง