อีลอน มัสก์ กับดีลเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

อีลอน มัสก์

กับดีลเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์

 

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกพิสูจน์ความเป็นบุคคลที่สร้างเรื่องฮือฮาอย่างต่อเนื่องได้อีกครั้ง ด้วยการปิดดีล “เทกโอเวอร์” บริษัท “ทวิตเตอร์” แบบช็อกคนทั้งโลกได้เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา

ดีลที่คาดว่าจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นการแปรรูปบริษัทมหาชนสู่บริษัทเอกชนที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก

มัสก์ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท “เทสลา” และ “สเปซเอ็กซ์” สมัครบัญชี “ทวิตเตอร์” ตั้งแต่ปี 2009 และเริ่มพูดถึงความสนใจในการ “ซื้อ” ทวิตเตอร์ ครั้งแรกในปี 2017

มัสก์ทวีตเอาไว้ว่า “ผมรักทวิตเตอร์” ก่อนจะตามมาด้วยข้อความรีพลายว่า “มันราคาเท่าไหร่?”

ข้อความทีเล่นทีจริงนั้นไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามัสก์สนใจที่จะซื้อทวิตเตอร์จริงหรือไม่

แต่ที่ชัดเจนก็คือ “มัสก์” ใช้ทวิตเตอร์ที่มี 84 ล้านฟอลโลเวอร์เป็นสื่อกลางเดียวในการสื่อสารกับสาธารณะมาโดยตลอด

ขณะที่อีกด้านก็แสดงความไม่พอใจกับสื่อสังคมออนไลน์อย่าง “เฟซบุ๊ก” อย่างชัดเจนจนถึงขั้นลบบัญชีทั้งของตนเองและของบริษัทออกจากเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมทั้งหมด โดยระบุว่า เฟซบุ๊กนั้น “ไม่ได้เรื่อง” ท่ามกลางกระแสแฮชแท็ก #DeleteFacebook ในเวลานั้นที่โจมตีเฟซบุ๊กว่านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ไปหากินและมีนโยบายควบคุมการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกมาจนเกินจำเป็น

ถึงอย่างนั้นก็ตาม มัสก์ก็วิพากษ์วิจารณ์ “ทวิตเตอร์” เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่ “ทวิตเตอร์” เริ่มมีนโยบายในการควบคุมเนื้อหาต่างๆ มากขึ้น เริ่มแบนบัญชีที่แสดงความคิดเห็นในบางลักษณะ ขัดกับแนวคิดของมัสก์ที่มองว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือการนำข้อเสนอ ข้อโต้แย้งทุกอย่างมาถกเถียงกันจนนำไปสู่ข้อสรุป หรือตัดสินด้วยการลงคะแนนโหวตจนได้ข้อยุติ และนั่นเป็นพื้นฐานสำคัญของ “ประชาธิปไตย”

 

แน่นอนว่าการทวีตข้อความของมัสก์ถูกจับตามองมาโดยตลอดถึงขั้นทำให้มัสก์ขึ้นโรงขึ้นศาลในข้อหาสร้างข่าวจนต้องเสียค่าปรับกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.สหรัฐมาแล้ว

นอกจากนี้ ก.ล.ต.สหรัฐยังเรียกร้องให้ผู้พิพากษารัฐบาลกลางจับตาการทวีตข้อความของมัสก์ และนั่นทำให้มัสก์เริ่มคิดถึงการสร้าง “ทวิตเตอร์ในเวอร์ชั่นต่อไป” ขึ้นมา

จากแรงกดดันดังกล่าว รวมถึงความรู้สึกที่ว่า “ทวิตเตอร์” ที่ไม่ได้เป็นเวทีของการแสดงออกอย่างเสรีอีกต่อไป มัสก์จึงแก้ปัญหาด้วยการตัดสินใจ “ซื้อ” บริษัททวิตเตอร์ มาบริหารเองเสียเลย

สำหรับมัสก์ ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยสินทรัพย์สุทธิที่มากถึง 264,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเจียดเงินมาซื้อทวิตเตอร์ที่มีมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาเป็นของตัวเอง แต่แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ การสามารถเข้าไปมีอำนาจตัดสินใจในการบริหารบริษัททวิตเตอร์สามารถทำได้ด้วยการซื้อหุ้นให้มีสัดส่วนมากที่สุดก็เพียงพอแล้ว

ดูเหมือนว่ามัสก์จะเดินทางไปในทิศทางนั้น ทวิตเตอร์เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านว่า อีลอส มัสก์ เข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์คิดเป็นสัดส่วนถึง 9.2 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่ามากถึง 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด และแน่นอนว่าจะสามารถเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดบริหารบริษัททวิตเตอร์และร่วมลงคะแนนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ได้แล้ว

ทว่า มัสก์ไม่ได้หยุดแค่นั้น ในวันที่ 10 เมษายน มัสก์ปฏิเสธเข้าไปร่วมนั่งเป็นบอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ สร้างควาามประหลาดใจให้กับคนทั่วโลก

และนั่นเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างแล้วว่า มัสก์อาจกำลังวางแผนที่จะเข้าเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์เพื่อบริหารเองทั้งหมด

 

14 เมษายน อีลอน มัสก์ ก็ยื่นข้อเสนอเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์จริงๆ ด้วยข้อเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น หรือราว 43,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าหุ้นที่สูงกว่าราคาตลาดในเวลานั้นมากถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยังคงต่ำกว่าราคาสูงสุดที่เคยทำได้ที่ 73.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

ในช่วงแรกแน่นอนว่าบอร์ดบริหารทวิตเตอร์พยายามสกัดการเข้าเทกโอเวอร์ด้วยกลยุทธ์ “วางยาพิษ” (Poison Pill) กลยุทธ์ป้องกันการเข้าครอบงำกิจการอันเป็นปฏิปักษ์ด้วยการเปิดขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มเติมในราคาถูกเพื่อลดแรงจูงใจในการเข้าเทกโอเวอร์ลง

อย่างไรก็ตาม มัสก์ตัดสินใจใช้กลยุทธ์ “เทนเดอร์ออฟเฟอร์” (Tender Offer) คือเสนอขายหุ้นโดยตรงให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมดของทวิตเตอร์ โดยไม่ต้องผ่านมติของบอร์ดบริหาร ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดแบบน่าดึงดูดใจ

และนั่นมีความเป็นไปได้มากขึ้นเนื่องจากผู้ถื่อหุ้นอันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์นั้นส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินที่มีเป้าหมายในการทำกำไรทั้งสิ้น

24 เมษายน มีรายงานว่าบอร์ดบริหารทวิตเตอร์ตัดสินใจหารือกับมัสก์เกี่ยวกับการเข้าเทกโอเวอร์ ก่อนที่ในวันที่ 25 เมษายน ทวิตเตอร์และมัสก์บรรลุข้อตกลงในการเข้าเทกโอเวอร์ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในที่สุด

โดยคาดว่ากระบวนการเทกโอเวอร์จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้

 

การเทกโอเวอร์ทวิตเตอร์ของมัสก์ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศจะทำให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลาง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” นั้นอาจส่งผลกับการจัดการกับเนื้อหาที่ “สร้างความเกลียดชัง” รวมถึง “ข้อมูลบิดเบือน” ที่อาจสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมหรือไม่

อย่างเช่น การแบนบัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ปลุกระดมให้เกิดจลาจลบุกอาคารรัฐสภาหลังจากแสดงความไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2021 รวมถึงบัญชีที่ปล่อยข้อมูลบิดเบือน ทฤษฎีสมคบคิด หรือแนวคิดสุดโต่งจำนวนมากจะถูกปลดแบน หรือปล่อยผ่านไปในอนาคตหรือไม่ เรื่องราวเหล่านี้นั้นยังไม่มีความชัดเจน

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ โดยเฉพาะกับเรื่องที่มัสก์เคยพูดถึงก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับ “สแปมบอต” ที่ส่งข้อความขยะหรือหลอกล่อผู้คนให้กดลิงก์แปลกๆ, การยืนยันตัวตนผู้ใช้เพื่อจัดการกับ “แอ็กหลุม” ให้หมดไป, การเพิ่มปุ่ม “แก้ไข” ข้อความทวีต รวมไปถึงการเปิดให้มีชุดคำสั่งที่เป็นโอเพ่นซอร์สเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่

จะส่งผลกับ “ทวิตเตอร์” รวมถึงผู้ใช้ทั่วโลกอย่างไรในอนาคต