ทำไมผู้ว่าฯ อิสระ จึงมีคะแนนนำ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ทำไมผู้ว่าฯ อิสระ จึงมีคะแนนนำ

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ผู้สมัครอิสระ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีคะแนนนำตั้งแต่ก่อนรับสมัครจนถึงปัจจุบันอยู่ในระดับกว่า 30%

ทีมวิเคราะห์มองว่าเหตุผลที่คะแนนนำมาตลอดเป็นเพราะภาพรวมจากคุณสมบัติทั้งหมดของเขาอยู่ในระดับดีเกือบทุกด้าน

ถึงที่สุดแล้วประชาชนก็จะพิจารณาตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ จากภาพรวม โดยนำทุกด้านมาผสมกัน ไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติส่วนตัวหรือนโยบายหรืออุดมการณ์การเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าลองแยกดูจะพบว่า

1. ประวัติครอบครัว เรื่องส่วนตัวอยู่ในระดับดีมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวดี ด้านความรู้การศึกษา ก็อยู่ในระดับดีมาก เรียนจบถึงปริญญาเอกด้านวิศวะจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกและยังมาเรียนต่อด้านการบริหารด้วย

2. ประสบการณ์ในการทำงานมีมากพอ เคยผ่านระบบราชการ งานด้านการเมืองก็ถึงระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยบริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และไม่มีประวัติด่างพร้อย

3. มีความตั้งใจจริง และสู้อย่างอดทนในการที่จะเข้ามาสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม.แบบอิสระเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2562 และทำงานต่อเนื่องลงสำรวจพื้นที่ต่างๆ ติดต่อกัน 2 ปีครึ่ง ถ้าวันนั้นไม่ตัดใจออกมาจริงๆ ในสถานการณ์ที่การเมืองแรงแบบนี้ก็ต้องได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในนามพรรคเพื่อไทย

4. สามารถเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมได้จริง เนื่องจากมีเวลาเตรียมตัวลงสำรวจพื้นที่และหาเสียงก่อนคนอื่นถึง 2 ปีกว่า ผลสุดท้ายก็รู้ว่าถ้าวางนโยบายหยาบๆ ออกไปก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ 50 เขตได้อย่างสัมฤทธิผล แต่ต้องแปลงนโยบายขนาดใหญ่ให้ออกเป็นโครงการระดับย่อยซึ่งปัจจุบันก็คงไม่มีใครจำได้ว่า 200 โครงการนั้นมีอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ถ้าคนติดตามและศึกษาจะรู้ว่าสิ่งที่นำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาที่หน้าบ้านของประชาชน และแก้ไขปัญหาในตรอกซอยที่เรียกว่าเป็นเส้นเลือดฝอย จนไปถึงถนนใหญ่

5. จุดยืนที่เป็นอิสระ แต่เป็นประชาธิปไตย คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ถูกล้มโครงการการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถูกรัฐประหารหลุดจากตำแหน่ง ถูกคณะรัฐประหารจับไปขังปรับทัศนคติ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาของผู้บริหารในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ จะถูกกลุ่มอำนาจเก่าจัดการ และนี่จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีเสียงสนับสนุนที่มาจากฝ่ายประชาธิปไตย

ความเป็นอิสระอันนี้จะทำให้เขาสามารถจัดการบริหาร กทม.ได้ทั้งเรื่องการบริหารบุคคลที่จะมารับตำแหน่งต่างๆ และการกำหนดนโยบายที่จะพลิกฟื้น กทม.ได้ตามที่ต้องการ

6. วิธีการประชาสัมพันธ์ และรูปแบบการนำเสนอ ที่ผ่านสื่อต่างๆ ติดต่อกันนานนับปี

 

อดีตผู้ว่าฯ กทม. อัศวิน ขวัญเมือง

ตัวผู้ว่าฯ อัศวินซึ่งสมัครผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มรักษ์กรุงเทพแม้จะลงเลือกตั้งและมีทีม ส.ก.ลงสมัคร 38 คน แต่ก็ถือว่าเป็นอิสระจากพรรคการเมือง เดิมใครๆ ก็คิดว่าจะลงในนามพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีโอกาสมากกว่า ผู้ว่าฯ อัศวินลังเลอยู่นาน สุดท้ายก็ตัดสินใจลงแบบอิสระเพราะประเมินกระแสพรรคพลังประชารัฐแล้วว่ากำลังไหลลงตกต่ำลงทุกวัน ถ้าลงในนามพรรคกว่าจะถึงวันเลือกตั้งก็คงต่ำเตี้ยเรี่ยดินแน่

เรื่องการสนับสนุนเงินทองก็ไม่จำเป็นต้องใช้จากพรรค และเพื่อความสะดวกใจก็เลยหา ส.ก.ของตนเอง แม้อาจจะไม่เด่นไม่ดังมาก แต่พอลงตามพื้นที่ได้ เป้าหมายหลักวางไว้ที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ต้องวางฐานเสียงเลือกตั้งใหญ่ในครั้งต่อไป จะได้สักกี่คนหรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

แต่เป้าหมายของการมี ส.ก. ก็คือให้ช่วยเดินหาเสียงตลอดการเลือกตั้ง ประเมินว่าคนที่มีโอกาสได้ ส.ก. คือ นายสุชัย พงษ์เพียรชอบ เลขาธิการกลุ่มรักษ์กรุงเทพ (ต่าย คลองเตย)

แม้ผู้ว่าฯ อัศวินจะไม่มีฐานเสียงแบบพรรคการเมือง ที่เราสามารถมองเห็นได้ในการเลือกตั้ง 2562 แต่การดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.มาประมาณ 5 ปีครึ่ง ก็ผ่านการแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้าง กทม.มาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำโครงการต่างๆ มากมาย มีงบประมาณลงไปช่วยเหลือประชาชนทั่วทั้ง 50 เขตหลายโครงการ

ยกตัวอย่างเช่น การมอบทุนประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้มอบเป็นทุนช่วยเหลือให้กับประชาชนคนละ 5,000 บาท เขตละ 200 คนทำให้ผู้นิยมและเชียร์ผู้ว่าฯ อัศวินมีอยู่จำนวนหนึ่งในเขต กทม. ทำไปได้เท่าไรก็ไม่รู้

เดิมผู้ว่าฯ อัศวินอาจไม่ได้เตรียมการจัดตั้งไว้ทั้ง 50 เขต ถ้าตลอด 5 ปีมานี้เตรียมการไว้ดีๆ ก็สามารถมีหัวคะแนนได้หลายหมื่นคน แต่น่าจะมาคิดได้ทีหลัง จึงต้องเร่งทำ ดังนั้น คะแนนพื้นฐานที่มีอยู่อาจน้อยกว่าพรรคการเมือง แต่ก็น่าจะทำได้ 1-200,000 คะแนน จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพวกมีความคิดอนุรักษนิยมมากพอจึงจะได้รับชัยชนะ แต่ก็มีคนในสายนี้ลงแข่งอีก 2 คนคือ ดร.เอ้ จาก ปชป. และรองผู้ว่าฯ สกลธี ภัททิยกุล ก็เท่ากับว่ามาแย่งเสียงกันเองโดยตรง อัศวินแพ้ใครก็ได้ แต่ถ้าแพ้ สกลธีรองผู้ว่าฯ ถือว่าเสียหาย

ถ้าเทียบคุณสมบัติกับชัชชาติ ผู้ว่าฯ อัศวินไม่มีด้านที่เหนือกว่า แต่เขาเคยบริหารปกครอง กทม.มา 5 ปีครึ่ง

ข้อได้เปรียบของอดีตผู้ว่าฯ กทม.ก็คือ

1. รู้ปัญหาของ กทม. แต่จะแก้ได้หรือไม่ยังไม่แน่

2. มีลูกน้องเก่ากระจายไปอยู่ทั่วทุกเขต แต่ข้อได้เปรียบแบบนี้จะมีผลจริงจังก็ต่อเมื่อลงไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งแล้วมีแนวโน้มจะได้หรือมีคะแนนนำ เพราะถ้าหากมีโอกาสสอบตก ลูกน้องเก่าก็จะไม่สนใจช่วยเหลือ ที่สำคัญตอนที่ดำรงตำแหน่งอยู่นั้นไม่ว่าจะตั้งใครขึ้นมามีตำแหน่งสำคัญ 1 คน คนที่ไม่พอใจและผิดหวังก็ต้องไม่น้อยกว่า 3 คน ถ้าแต่งตั้งพันคนก็มีคนไม่พอใจ 3,000 คน และข้าราชการพวกนี้แหละที่อยากจะเปลี่ยนผู้ว่าฯ ใหม่เพื่อตัวเองจะได้มีโอกาสเติบโตก้าวหน้าได้บ้าง นี่จึงเป็นดาบสองคน

ก่อนจะจาก กทม.มาผู้ว่าฯ อัศวินมักจะกล่าวทักทาย ผอ.เขตทั้งหลายว่า “ผมไว้ใจคุณ” แต่อีกไม่นานก็จะรู้ใจคน

ถึงอย่างไรผู้ว่าฯ อัศวินก็คงจะไม่ต้องชักเนื้อมากมายนักในการลงทุนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ ถ้าไม่ได้ก็คงไม่ขาดทุนมาก

 

สกลธี ภัททิยกุล

เป็นผู้สมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.แบบอิสระที่ลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.มาสดๆ ร้อนๆ เหมือนกับผู้ว่าฯ อัศวิน

มองแบบการเมือง ใครๆ ก็ต้องรู้ว่าทั้งผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ คงขัดแย้งกัน มีคนบอกว่าเดิมผู้ว่าฯ อัศวินคิดว่าจะไม่ลงสมัคร สกลธีก็หมายมั่นปั้นมือ เตรียมการจะลงมาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ก็เพื่อเตรียมการในเรื่องสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ต่อจากอัศวินนี่แหละ

แต่เมื่อเกมเปลี่ยน ความขัดแย้งก็เกิดเพราะมีตำแหน่งเดียว

แม้เป็นแค่รองผู้ว่าฯ แต่สกลธีก็มีกำลังหนุนจากกลุ่ม กปปส.บางส่วนสายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคนในพรรคพลังประชารัฐบางส่วน และเมื่อยังมีการสนับสนุนจาก ส.ก.ของพรรคกล้า

 

พรรคไทยสร้างไทย

บทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงพรรคใหญ่ 4 พรรค แต่ไม่ได้กล่าวถึงพรรคเล็กที่มีส่วนร่วมในศึก กทม.ครั้งนี้ นั่นคือพรรคไทยสร้างไทย ที่ส่งศิธา ทิวารี ลงสมัครผู้ว่าฯ ซึ่งสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จัดเต็ม โดยมี ส.ส.กทม.จากเพื่อไทย 2 คน ที่ย้ายมาช่วย สามารถส่งทั้ง ส.ก. 50 เขต ดูจากป้ายแล้วครั้งนี้ทุ่มเทไม่น้อย ยุทธศาสตร์การหาเสียงคือขายภาพของคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ติดคู่กับผู้สมัคร ส.ก.ทุกเขต แม้แต่ป้ายของผู้ว่าฯ จนบางคนนึกว่าสุดารัตน์มาสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง ตามกฎใหม่ผู้มีตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ แต่สุดารัตน์ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองจึงมาลงรูปประกบได้

แม้จะส่งสมัครผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ครบ 50 เขต แต่จากกระแสและการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ผู้ว่าฯ กทม.เป็นการส่งเพื่อมาวัดเสียงทั่วไป เพราะแทบไม่มีความพร้อมใดๆ

ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทยคงจะหวังว่าจะได้ ส.ก.จำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังประเมินไม่ได้ชัดเจน เขตที่ ส.ส.เก่าจากเพื่อไทยย้ายมาอยู่คือเขตดอนเมืองกับสายไหมพอจะถือเป็นโอกาสสูง และอีกเขตหนึ่งคือเขตบางซื่อ ซึ่งคุณพรพิมล (ลูกสาวชัช เตาปูน) ส.กเก่าหลายสมัย ย้ายมา แม้ครั้งนี้เอารูปสุดารัตน์มาประกบข้างก็ยังไม่แน่ว่าจะชนะ ต้องออกแรงเยอะมาก

ที่น่าผิดหวังคือคะแนนของศิธา ทิวารี ตามผลสำรวจค่อนข้างต่ำ ไม่ติด 5 อันดับแรก ตอนนี้ก็ต้องลุ้นว่าจะสู้กับสกลธี หรือรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระได้หรือไม่

 

ถ้าจะพิจารณาจากผลโพลหลายครั้งจนถึงปัจจุบันซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ยังปรากฏว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.แบบอิสระยังมีคะแนนนำเหมือนเดิม คือชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่อันดับสองยังไม่แน่ว่าอดีตผู้ว่าฯ กทม. อัศวิน ขวัญเมือง จะรักษาไว้ได้

ที่เคยบอกว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเวรกรรม ก็เพราะเสียงที่ได้นี้เกิดจากการที่ผู้สมัครใช้ความพยายามสร้างคะแนนนิยม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน ทั้งสองคนเหมือนกับได้ออกตัวก่อน การทำงานตลอดหลายปีจึงส่งผลมาถึงปัจจุบัน

สรุปว่าการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คุณสมบัติผู้สมัครและนโนบายของเขายังเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ใช่พรรคที่สังกัด