กว่าจะถึง SCBX ตอนที่ 4 ฝ่าวิกฤต / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

กว่าจะถึง SCBX

ตอนที่ 4 ฝ่าวิกฤต

 

ธนาคารไทยพาณิชย์เดินแผนฝ่าวิกฤตการณ์ปี 2540 อย่างตื่นเต้น และแตกต่าง

“ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปริมาณสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากร้อยละ 4.9 ในปี พ.ศ.2538 เป็นร้อยละ 5.8 ในปี พ.ศ.2539 และเป็นร้อยละ 42.4 ในปี พ.ศ.2541…” หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) ระบุไว้ตอนหนึ่ง

ว่าไปแล้ว ภาพที่ชัดเจน กระชับ และมีสีสันเพิ่มขึ้น มาจากหนังสืออีกเล่ม “Century of Growth” (2007) Text by Stephen Lowy (EDITIONS DIDERS MILLET, Singapore) ด้วยเรื่องราวอ้างถึงบทสนทนาของผู้เกี่ยวข้องหลายคน โดยพาะ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ (2550-2564) ได้วิเคราะห์เหตุแห่งปัญหาไว้อย่างน่าสนใจ เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงแหล่งเงินกู้อย่างง่ายดาย บางครั้งไม่มีหลักประกัน และเป็นการลงทุนทางธุรกิจอย่างเกินความจำเป็น ที่ไม่ใช่ภาคการผลิต ด้วย Keyword สำคัญๆ ที่ว่า “easy loan” “free ride” และ “non-productive sectors”

ขณะธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยพาณิชย์ ( 2527-2535) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง (2535-2538, 2540- 2544) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจด้วย กล่าวถึงผลกระทบบางแง่ที่สำคัญไว้ “ความล้มเหลวของภาคการเงินในปี 2540 ได้สร้างปัญหาไม่เพียงเรื่องเงินฝากและสินเชื่อ หากสั่นคลอนความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินต่างประเทศด้วย ซึ่งส่งผลกระทบถึงภาคส่งออก…” อีกบางตอนในหนังสือ “Century of Growth” (2007)

“การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี พ.ศ.2541 ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างมากจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก และจากการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดกับธนาคารพาณิชย์ ตามกรอบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ..” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”) ให้ภาพใหญ่ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในเวลานั้นไว้ ตามมาด้วยแผนการแก้ไขวิกฤตที่สำคัญ เป็นไปในทางเดียวกัน “ทุกสถาบันการเงินพยายามประคับประคองสถานการณ์ และเร่งเพิ่มทุนขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคง…”

อีกตอนในหนังสือดังกล่าวระบุ

 

สําหรับธนาคารไทยพาณิชย์ อยู่ภายใต้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ภายใต้การนำของ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ( ชื่อในขณะนั้น) เข้ามาเป็นนายกกรรมการต้นปี 2541 อันที่จริง ดร.จิรายุ อิศวรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการปูนซิเมนต์ไทยด้วย ในเวลาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ว่าไปแล้ว สะท้อนภาพยุทธศาสตร์เครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินฯ ช่วงสำคัญ ท่ามกลางวิกฤต เครือซิเมนต์ไทยในเวลานั้น เผชิญปัญหาอย่างหนักไม่แพ้กัน ด้วยมีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก

ทว่า ดำเนินแผนการแก้ไขปัญหาซึ่งนำโดย ชุมพล ณลำเลียง ผู้จัดการใหญ่ เป็นไปอย่างทันท่วงทีและดูจะได้ผล ได้รับความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นนั้นมาถึงประธานกรรมการเครือซิเมนต์ไทย ในฐานะนายกกรรมการไทยพาณิชย์ด้วย อย่างมิพักสงสัย

แม้ว่าหนังสือชุด 100 ปีธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งฉบับภาษาไทย “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) และฉบับภาษาอังกฤษ “Century of Growth” (2007) จะกล่าวถึงบทบาทชุมพล ณ ลำเลียง ไว้เพียงเล็กน้อย ในกรอบเล็กๆ ใน “Century of Growth” เรื่อง “Turning SCB’s Fortune Around” หน้า 144 โดยอ้างบทความนิตยสาร TIME, December 1999 ที่ให้เครดิตชุมพล ณ ลำเลียง กับบทบาท “…the first engineering of a major bank in post-crisis Thailand”

สำหรับข้อเขียนนี้ โฟกัสภาพ ชุมพล ณ ลำเลียง ในบทบาทบรรลุแผนการเพิ่มทุนธนาคารครั้งสำคัญยิ่ง

(โปรดพิจารณา “เหตุการณ์สำคัญ” ในล้อมกรอบ ประกอบด้วย)

 

ว่าไปแล้ว แผนการเพิ่มทุนธนาคารไทยพาณิชย์ ภายใต้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ มี 2 จังหวะก้าว

ขั้นแรก (เมษายน 2541) – “เมื่อวิกฤตการณ์เพิ่งเกิดขึ้น ยังไม่ชัดเจนว่าผลกระทบรุนแรงมากเพียงใด จึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม” (100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์)

อีกส่วนหนึ่งเสนอขายแบบเจาะจง (private placement) ให้กับธนาคารญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจนานพอสมควรในธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ และเพิ่งเข้ามาถือหุ้นในธนาคารไม่นาน คือ Sanwa bank (ปัจจุบันถูกควบรวมอยู่ใน MUFC Bank) และ Long-Term Credit Bank of Japan (ปัจจุบัน Shinsei Bank) ดูไปแล้วเป็นจังหวะที่ไม่ดีนัก ด้วยธนาคารญี่ปุ่นทั้งสองกำลังมีปัญหา ต่อด้วยการปรับโครงสร้างทางธุรกิจในระยะต่อมา

แม้ว่าเมื่อสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น แต่ก็ประจวบเหมาะ การมาถึง “มาตรการ 14 สิงหา” หลายคนเชื่อว่า มาตรการดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับประโยชน์มากที่สุดธนาคารหนึ่ง ว่ากันว่า เมื่อมองผ่าน “สายสัมพันธ์” ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่มีบทบาท ทั้งผู้ผลิตนโยบาย และผู้ได้รับผลกระทบ ชุมพล ณ ลำเลียง เคยยอมรับว่า การเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มทุนธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ด้วยมองเห็นโอกาสจากมาตรการดังกล่าวข้างต้น

บทบาทที่จับต้องของชุมพล ณ ลำเลียง อยู่ที่กระบวนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนธนาคารไทยพาณิชย์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ เครือซิเมนต์ไทยเพิ่งผ่านประสบการณ์ในแผนการ Non-Deal Road Show (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2541) สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศกับแผนปรับโครงสร้างเครือซิเมนต์ไทย ถือว่าประสบความสำเร็จ

จนมาถึงกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ ในอีก 4 เดือนต่อมา

 

“ในการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้…มูลค่าหุ้นที่จัดสรรให้แก่นักลงทุนต่างประเทศทั้งสิ้นประมาณ 25,000 ล้านบาท ถือเป็นการขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไทย และเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)…” (100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์)

โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (พฤษภาคม 2542) เปลี่ยนโฉมหน้าครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในสัดส่วน 41% สำนักงานทรัพย์สินฯ เหลือเพียง 14% โดยมีนักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นในสัดส่วนถึง 27%

แต่ไม่นานจากนั้น สำนักงานทรัพย์สินฯ กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดอีกครั้ง •

 

เหตุการณ์สำคัญธนาคารไทยพาณิชย์

2541

1 กุมภาพันธ์ – จิรายุ อิศรางกูร ณ เป็นนายกกรรมการ แทนประจิตร์ ยศสุนทร ทั้งนี้ ประจิตร์ ยศสุนทร ยังคงเป็นประธานกรรมการบริหาร

30 มีนาคม – ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย เข้าเป็นกรรมการธนาคาร

14 สิงหาคม – กระทรวงการคลัง (ธารินทร์ นิมมานเมินท์ เป็นรัฐมนตรี) ประกาศมาตรการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน

2542

1 กุมภาพันธ์ – ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นประธานกรรมการบริหาร แทนประจิตร์ ยศสุนทร

31 มีนาคม – กระทรวงการคลังอนุมัติโครงการเพิ่มทุนธนาคารไทยพาณิชย์อีกจำนวน 65,000 ล้านบาท ตามมาตรการ 14 สิงหาคม

7-28 เมษายน – เดินทางไปเสนอขายหุ้น (road show) ผู้ลงทุนในต่างประเทศ

1 พฤษภาคม – โอฬาร ไชยประวัติ พ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ชฎา วัฒนศิริธรรม เข้าดำรงตำแหน่งแทน

10 พฤษภาคม – ธนาคารไทยพาณิชย์สามารถเพิ่มทุนได้สำเร็จตามจำนวน 64,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นการลงเงินโดยกระทรวงการคลัง

10 ธันวาคม – ชุมพล ณ ลำเลียง พ้นตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร โดยมีวิชิต สุรพงษ์ชัย เข้ารับตำแหน่งแทน •