ปลดล็อกความเป็นไทย/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ปลดล็อกความเป็นไทย

 

การออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย มีสถานะอย่างไรในเวทีสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของโลก

ถ้าไม่มองชนิดเข้าข้างตนเองจนเกินไป คงต้องบอกว่า เราไม่ได้อยู่ในจุดที่ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสักเท่าไร (อาจยกเว้นบางประเภทอาคารที่สถาปนิกไทยทำได้ไม่น้อยหน้าสถาปนิกประเทศอื่น เช่น สปา และโรงแรม)

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่วงการสถาปัตยกรรมไทยถกกันมายาวนานตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และพยายามหาคำตอบกันอยู่เสมอ

คำตอบที่พบมีหลากหลาย แต่ที่มักได้ยินกันบ่อยๆ จนเป็นสูตรสำเร็จก็คือ การกล่าวโทษวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาเมื่อราว 100 ปีก่อนจนทำให้เราหลงลืมความเป็นไทย เห่อฝรั่ง และในที่สุดกลายเป็นอาการขาดช่วงขาดตอนในการสืบสานงานสถาปัตยกรรมไทยสู่ความเป็นร่วมสมัย ในขณะที่อยากจะเป็นฝรั่งก็เป็นอย่างไม่สุด ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ผลก็เลยออกมาเป็นลักษณะ หัวมังกุท้ายมังกร ที่ไม่มีอะไรดีสักอย่าง

สถาปนิกหลายท่านเห็นว่า สังคมไทยมีวัตถุดิบทางศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มากล้นที่สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของสังคมไทยเองได้โดยไม่จำเป็นต้องหลงไปตามกระแสตะวันตก

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการรณรงค์ให้ย้อนกลับไปหารากเหง้าแห่งความเป็นไทยในอดีตกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการออกแบบความเป็นไทยร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นกระแสการย้อนไปหยิบใช้หลักศาสนามาเป็นเครื่องมือออกแบบ ใช้ศัพท์แสงภาษาพระภาษาบาลีมาอ้างอิงเป็นแนวคิดทางสถาปัตยกรรม

หรือกระแสการย้อนกลับไปหาวัฒนธรรมชาวบ้านที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีค่า เพื่อนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานร่วมสมัย

โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการกล่าวโทษวัฒนธรรมตะวันตกและการรณรงค์ให้เกิดอาการหวนไห้โหยหาอดีตในแบบข้างต้นเท่าไรนัก แม้จะเห็นด้วยอย่างเต็มที่ว่า สังคมไทยมีวัตถุดิบทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศิลปะที่หลากหลายและมากล้นที่จะนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์

แต่ปัญหาคือ ทรัพยากรอันมีค่าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ยังไม่สามารถถูกดึงออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพของตัวมันเอง ไม่ว่าเราจะเร่งระดมคนมาทำความรู้จัก ศึกษา วิเคราะห์ เก็บรวบรวมภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้มากเพียงไหนแล้วก็ตาม

เคยสงสัยไหมครับ ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เรามีงานค้นคว้ามากมายเกี่ยวกับงานช่างไทย งานช่างท้องถิ่น ลวดลายศิลปะทั้งแบบของหลวงและของชาวบ้าน มีการศึกษาเกี่ยวกับคติความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เรามีภาพถ่าย ลายเส้นของงานช่างแบบจารีตในสังคมไทยมากมายไม่ว่าจะเป็นของภูมิภาคไหนๆ

แต่ทำไมข้อมูลเหล่านี้ยังไม่เพียงพออีกหรือที่สถาปนิกไทยจะสามารถนำไปสร้างงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมของตนเอง ตามที่ทุกคนชอบพูด

ในทัศนะผม งานศึกษาเกี่ยวกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทยในอดีตมิได้ขาดแคลน (อย่างน้อยก็ไม่ได้ขาดแคลนมากเท่าที่หลายคนคิดกัน) แต่สิ่งที่ขาดไปคือ “กุญแจ” ที่จะเข้ามาไขเอาทรัพยากรทางความรู้และวัฒนธรรมเหล่านี้ที่ถูกขังอยู่ในกรงกับดักทางความคิดบางอย่างที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย

กรงกับดักความคิดดังกล่าว คือ ทัศนะว่าด้วย “ความเป็นไทย” ในสังคมไทยปัจจุบัน

 

หากเราต้องการให้วงการสถาปัตยกรรมไทยก้าวหน้าและสามารถแข่งขันทางความคิดในเวทีสากลได้อย่างแท้จริง เราจำเป็นจะต้อง “ปลดล็อกความเป็นไทย” ออกจาก “กับดักความเป็นไทย” เพื่อปลดปล่อยพลังในการสร้างสรรค์ของสังคมไทยออกมา

กับดักความเป็นไทย คือ มายาคติที่ก่อตัวในแวดวงสถาปัตยกรรมไทยมายาวนาน มีลักษณะสร้างขั้วตรงข้ามทางความคิดระหว่าง “ความเป็นไทย” กับ “ความเป็นสากล” ที่มีลักษณะในเชิงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน กล่าวโทษซึ่งกันและกันว่าเป็นต้นเหตุแห่งความล้าหลังในวงการสถาปัตยกรรม

ขั้วหนึ่ง ดูถูกมรดกทางวัฒนธรรมและรากเหง้าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมในสังคมไทย ไม่สนใจที่จะศึกษา ค้นคว้า และทำความเข้าใจ เพราะมองว่าเป็นเรื่องของอดีตที่ตายไปแล้ว การออกแบบในขั้วนี้จึงมุ่งเน้นความเป็นสากลโดยละเลยบริบทเฉพาะทางสังคมวัฒนธรรม

ขั้วหนึ่งมีลักษณะโหยหาอดีตอย่างล้นเกินและยึดติดกับความเป็นไทยที่รูปแบบหรือเปลือกผิวภายนอก

และมักกล่าวโทษลักษณะสากลว่าเป็นตัวบ่อนทำลายความเป็นไทย การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีคือการย้อนกลับไปใช้แนวคิดแบบจารีตที่ยึดโยงอยู่กับหลักการทางศาสนา ยกชูภูมิปัญญาชาวบ้านจนเกินจริง

แม้สองขั้วความคิดจะเป็นปฏิปักษ์กันแต่ลึกๆ แล้ว มีความเชื่อเหมือนกันประการหนึ่งคือ การเชื่อว่า ความเป็นไทย มีลักษณะที่หยุดนิ่ง แช่แข็ง ตายตัว และไม่เปลี่ยนแปลง เสมือนหนึ่งเป็น DNA ของสังคมไทย

เพียงแต่กลุ่มหนึ่งเหม็นเบื่อกับความหยุดนิ่งตายตัวจนละทิ้งความเป็นไทยไป และหันหน้าเข้าสู่สากล ส่วนอีกกลุ่มยกย่องเชิดชูว่าความหยุดนิ่งแช่แข็งนั้นคือความดีงามและสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะลอกเลียนและหยิบใช้ความเป็นไทยที่แช่แข็งนั้นอยู่ร่ำไป

 

ลักษณะดังกล่าวยังมองเห็นได้ชัดในระบบการศึกษาของโรงเรียนสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน

กล่าวอย่างกว้างๆ โรงเรียนสถาปัตยกรรมในสังคมไทยยังมีลักษณะสองขั้วอย่างชัดเจน ถ้าเน้นความเป็นสากลก็ไม่สนใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเท่าที่ควร

ดังจะเห็นได้จากปริมาณวิชาที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่มีน้อยมาก หากเทียบกับรายวิชาที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมตะวันตก

แต่ถ้าเป็นโรงเรียนหรือสาขาที่เน้นเรื่องความเป็นไทย ก็เรียกได้ว่าแทบจะออกแบบสถาปัตยกรรมทุกอย่างให้มีหน้าตาเหมือนวัดและวังตามแบบประเพณี

ในทัศนะผม ลักษณะสองขั้วดังกล่าวมีลักษณะสุดโต่ง ตาบอดคนละข้าง จนนำมาสู่การพัฒนาที่เชื่องช้าในวงการสถาปัตยกรรมไทย

ทางออกที่จะแก้ไขกับดักคู่ตรงข้ามดังกล่าว มีเพียงทางเดียวคือ “ปลดล็อกความเป็นไทย” ที่มิใช่การโยนทิ้ง ดูถูก ไม่ศึกษา ไม่สนใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใด แต่ตรงกันข้ามเลยนะครับ เพราะการจะปลดล็อคได้ จะต้องเกิดขึ้นจากการศึกษาทำความเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งและรอบด้านเสียก่อน จนสามารถเข้าใจมันได้ว่า ความเป็นไทย เป็นเพียงการกำหนดนิยามที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรเลยที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นไทยแท้ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และลอยข้ามพ้นกาลเวลา

ไม่มีหรอกนะครับ ความเป็นไทยแบบช่างหลวงที่ห้ามแตะห้ามเปลี่ยนเพราะมันคือไทยแท้

ไม่มีหรอกนะครับความเป็นไทยแบบชาวบ้านที่สูงส่งสวยงามบริสุทธิ์ดังภาพฝันในจินตนาการแบบชนบทไทยในภาพเขียนที่เราจะต้องยึดถือมันไว้ไม่เปลี่ยน

จะมีก็แต่ความเป็นไทยที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อสนองตอบความต้องการแต่ละยุคที่ไม่เคยเหมือนกันเลย

 

สรุปก็คือ เราจะต้องสามารถเข้าให้ได้ว่า ความเป็นไทยในแต่ละยุคแต่ละช่วงเวลานั้น เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยเฉพาะอย่างหนึ่ง ที่มีเป้าหมายจะตอบสนองวิถีชีวิตและความปรารถนาใฝ่ฝันของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัย มิใช่มรดกที่แข็งเกร็งอันถูกส่งทอดมาสู่เราโดยไม่เปลี่ยนแปลง ความเป็นไทยมิใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ สูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ หรือมีแบบแผนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

หากวิถีชีวิตและความปรารถนาของผู้คนในสังคมไทยเปลี่ยน ความเป็นไทยก็สามารถเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา และอาจจะเปลี่ยนอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้

หากสามารถเข้าใจได้เช่นนี้ ความเป็นไทยก็จะถูกปลดล็อก และเราจะสามารถปลดปล่อยพลังในการสร้างสรรค์ความเป็นไทยในทิศทางใหม่และในรูปแบบที่ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดอยู่กับเปลือกนอกที่หยุดนิ่งตายตัว

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกก็มิใช่การอยากทำอะไรก็ได้โดยไม่สนใจศึกษาบริบทและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของสังคมไทยเลยนะครับ เพราะงานสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่ดี (ในทัศนะผม) บนฐานความคิดที่ปลดพันธนาการของความเป็นไทยแบบแช่แข็งตายตัวออกไปแล้ว กลับยิ่งจะต้องศึกษาค้นลึกเกี่ยวกับพลวัตทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ไหลเลื่อนตลอดเวลา ประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ตลอดจนความใฝ่ฝันและแรงปารถนาของคนในสังคมไทยร่วมสมัยให้มากยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

จนสามารถก้าวผ่านเลยเปลือกผิวที่แข็งตัวไม่เปลี่ยนแปลงออกไปได้ในที่สุด