Deep South นิทรรศการศิลปะที่พาเราสำรวจลึกลงไปใต้ชายแดน / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Deep South

นิทรรศการศิลปะ

ที่พาเราสำรวจลึกลงไป ใต้ชายแดน

 

Deep South หรือ ภาคใต้ตอนลึก เป็นคำที่ถูกใช้เรียกภูมิภาคใต้สุดของประเทศไทยอย่างจังหวัดปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และบางส่วนในจังหวัดสงขลา พื้นที่ชายแดนติดกับมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเรา

ที่ถูกขนานนามว่า “ภาคใต้ตอนลึก” เหตุเพราะพื้นที่แห่งนี้ห่างไกลจากกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยกว่าพันกิโลเมตร

ผู้คนในภูมิภาคอื่นของประเทศจำนวนไม่น้อย ไม่เคยและไม่กล้าเดินทางลงมายังพื้นที่แห่งนี้ เพราะนอกจากจะอยู่ห่างไกลแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นที่โจษขานถึงเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบที่คุกรุ่นมาเกือบสองทศวรรษ และไม่มีทีท่าว่าจะดับมอดลง

ประกอบกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่แตกต่าง หรือแม้แต่ศาสนาที่แตกต่างจากศาสนาหลักประจำชาติ

พื้นที่แห่งนี้จึงยิ่งถูกผลิตซ้ำความเป็นชายขอบ ซ้ำเติมความบอบช้ำให้ผู้คนในพื้นที่เสมอมา

แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะเยียวยารักษาตนเองด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย เพื่อโต้กลับการถูกผลักไสออกไปให้เป็นพื้นที่ภาคใต้ตอนลึก เช่นเดียวกัน

ดังที่ปรากฏในนิทรรศการ Deep South : ลึกลงไป ใต้ชายแดน ที่พาผู้ชมเข้าไปสำรวจภูมิภาคใต้ตอนลึกแห่งนี้ว่าภายใต้ความลึกใต้สุดของประเทศนั้นมีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่ ผ่านผลงานของ 7 ศิลปินแห่งจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างมูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ, เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ, กรกฎ สังข์น้อย, มูฮัมหมัดซูรียี มะซู, อิซูวัน ชาลี, พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น และวันมุฮัยมีน อีแตลา

 

ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“โดยทั่วไป พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่ Deep South ซึ่งแปลว่า ภาคใต้ตอนลึก เราก็ตั้งคำถามว่า คำว่าลึกที่ว่านั้นคืออะไร? แล้วลึกแค่ไหน? งานของศิลปินที่เราเลือกมาก็จะมีมุมมองที่ลึกลงไปในแต่ละคน ที่สะท้อนความเป็นภาคใต้ตอนลึก ความเป็นพื้นที่ชายแดน พื้นที่ที่ไม่เคยมีความสงบ, ศิลปินแต่ละคนก็จะเล่าเรื่องราวในมิติที่แตกต่างกันในความเป็น Deep South บางคนพูดถึงประเด็นทางการเมือง อย่างความรุนแรง อำนาจกดทับ กฎหมายอันไม่เป็นธรรม บางคนพูดถึงมุมมองทางวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ บางคนพูดในเชิงบวก บางคนพูดในเชิงลบ สิ่งเหล่านี้ถูกซ่อนลึกในความเป็น Deep South ที่ประกอบกันเป็นนิทรรศการนี้ขึ้นมา”

มลายู…ไม่นิยม โดยมูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ

เริ่มจากผลงาน มลายู…ไม่นิยม โดย มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ ภาพวาดเดวิดนุ่งโสร่งและวีนัสนุ่งผ้าปาเต๊ะ ที่ถูกพาดผ่านทะลุทะลวงด้วยเส้นตารางที่ดูคล้ายเส้นทัศนียภาพจำนวนนับไม่ถ้วน

ภาพวาดสองชิ้นนี้พูดความเป็น perspective ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ทัศนียภาพทางสายตา แต่เป็นเรื่องของทัศนคติของคนข้างนอกที่มองมายังคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศิลปินใช้สัญลักษณ์ของเส้นทัศนียภาพ (perspective) หลากเส้นเสียบทะลุไปมาบนร่างของเดวิดกับวีนัส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นหญิงและชายที่สมบูรณ์แบบ แต่กลับนุ่งโสร่งและผ้าปาเต๊ะ อันเป็นเอกลักษณ์ของออแรนายู (คนมลายู)

เพื่อตั้งคำถามว่า ภาพลักษณ์ความรุนแรงที่คนทั่วไปมองมานั้นเป็นข้อเท็จจริง

หรือเป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากสื่อและกระแสสังคมเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายความมั่นคงกันแน่

คนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ โดยเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ

ตามมาด้วยผลงาน คนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ โดย เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ภาพวาดสื่อผสมบนสังกะสีและไม้อัดที่ตีแผ่ความอยุติธรรมของกฎหมายและความวิปริตบิดเบี้ยวของอำนาจรัฐที่กระทำต่อคนในพื้นที่ 3 จังหวัด สี่อำเภอในชายแดนภาคใต้

คนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ โดยเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ

ร่องรอยสนิม รอยไหม้ รอยคล้ายกระสุนบนร่างกายคนในภาพ ขนาบด้วยสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐอย่างอาวุธปืน รถถัง รองเท้าคอมแบต เป็นตัวแทนของความเจ็บปวดของคนในพื้นที่ที่ต้องอยู่ร่วมกับความรุนแรง

การจัดวางภาพวาดในลักษณะคล้ายเป้ายิงปืน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ประชาชนทุกคนในพื้นที่ต่างตกเป็นเป้าความรุนแรงที่ว่านี้โดยไม่เลือกหน้า และไม่รู้ว่าภัยจะมาถึงตัวเมื่อไหร่

Under 2021 โดยกรกฎ สังข์น้อย

ต่อด้วยผลงาน Under 2021 โดย กรกฎ สังข์น้อย ที่พูดถึงการถูกกดทับอยู่ใต้อำนาจของบางสิ่งที่ครอบงำความคิดและความเชื่อ ด้วยการจัดการ บังคับ ควบคุม ไม่ให้ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม

Under 2021 โดยกรกฎ สังข์น้อย

โดยใช้สัญลัษณ์ของ “เท้า” ที่ได้รูปแบบจาก “ตัวพระ” ตัวละครเอกในงานจิตรกรรมไทยประเพณีเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจรัฐและชนชั้นนำ ที่ถูกแบกเอาไว้โดยคนตัวเล็กๆ ที่ได้รูปแบบมาจาก “ภาพกาก” หรือตัวละครประกอบฉากที่เป็นสามัญชนในภาพจิตรกรรมไทย

เป็นสัญลักษณ์เสียดเย้ยถึงความเป็นประชาชนผู้ไม่มีอำนาจ เหมือนเป็นแค่ฝุ่นละอองใต้ฝ่าเท้าผู้มีอำนาจเท่านั้น

ความเจ็บปวด ที่ปาตานี โดยมูฮัมหมัดซูรียี มะซู
ความเจ็บปวด ที่ปาตานี โดยมูฮัมหมัดซูรียี มะซู

และผลงาน ความเจ็บปวด ที่ปาตานี โดย มูฮัมหมัดซูรียี มะซู ที่สะท้อนถึงความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่โดยมีกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ที่ทำให้คนในพื้นที่มากมายถูกควบคุมตัว ถูกซ้อมทรมานในระหว่างการสอบปากคำ จนทำให้พวกเขามีความรู้สึกถูกกดทับ กดขี่ จนเกิดความหวาดกลัวในการดำเนินชีวิต

ศิลปินหยิบนกเขา นกประจำถิ่นของ 3 จังหวัดชายแดนฯ เป็นสัญลักษณ์แทนผู้คนในพื้นที่ ผ่านเทคนิคการฉลุหนังตะลุง ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นของภาคใต้

นกเขาเหล่านี้ถูกใส่ในถุงพลาสติกใส ซึ่งแสดงสัญลักษณ์ถึงความทรมานจากการใช้ความรุนแรง

บนถุงพิมพ์ด้วยข้อความจากปากเหยื่อผู้ถูกซ้อมทรมานที่ศิลปินสัมภาษณ์มา

รองเท้าแตะ โดยอิซูวัน ชาลี
รองเท้าแตะ โดยอิซูวัน ชาลี

หรือผลงาน รองเท้าแตะ โดย อิซูวัน ชาลี ที่สลักภาพตัวเงินตัวทอง (หรือตัวเหี้ย) สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้ายตามคติความเชื่อแบบไทย ลงบนรองเท้าแตะ ที่คนทั่วไปสวมใส่

รองเท้าแตะ โดยอิซูวัน ชาลี

เพื่อแสดงการเสียดประชดประชันถึงการที่ประชาชนถูกเหยียบย่ำกดขี่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยให้ตัวเหี้ย ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ประชาชนมักใช้เรียกขานผู้มีอำนาจฉ้อฉล ถูกประชาชนเหยียบย่ำกระทำกลับบ้าง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สามัญชนคนธรรมดาผู้ไร้อำนาจอย่างเราๆ ก็ทำได้แค่นี้นั่นแหละนะ!

สันติภาพไม่มีจริง โดยพิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น

และผลงาน สันติภาพไม่มีจริง โดย พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น ที่พูดถึงความย้อนแย้งของมนุษย์ที่ต้องการแสวงหาสันติภาพ แต่สันติภาพที่ว่านั้นก็เกิดขึ้นได้ด้วยการทำสงคราม เมื่อเราใช้ความรุนแรงและสงครามในการสร้างสันติภาพ สันติภาพจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร

สันติภาพไม่มีจริง โดยพิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น

ศิลปินใช้เสาธง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสันติภาพในหลายประเทศ

หากแต่บนเสาธงแต่ละด้ามกลับถูกฝังด้วยกระสุนปืน สัญลักษณ์ของสงคราม ราวกับเป็นซากศพของเสาธงที่ไม่อาจแสวงหาสันติภาพได้จริง

TADIKA โดยวันมุฮัยมีน อีแตลา

ปิดท้ายด้วยผลงาน TADIKA โดย วันมุฮัยมีน อีแตลา ที่พูดถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธ์มลายู ที่หลายคนอาจจะไม่รู้จักหรือคุ้นเคยเท่าไหร่ เพราะถึงรัฐจะพยายามประชาสัมพันธ์ว่าสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ในความหลากหลายที่ว่านั้นรัฐเข้าใจจริงๆ แค่ไหน?

TADIKA โดยวันมุฮัยมีน อีแตลา

สิ่งที่ศิลปินสะท้อนให้เห็นผ่านผลงานชุดนี้ก็คือการที่โรงเรียน ตาดีกา (TADIKA) (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามระดับประถม) และโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามระดับมัธยม) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างถูกแทรกแซงและปลูกฝังคติและค่านิยมของความเป็นชาติให้แสดงออกเพียงแค่อัตลักษณ์เดียว เพื่อต้องการผสม กลืน กลาย เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด

หนำซ้ำรัฐยังมองโรงเรียนสอนศาสนาเหล่านี้ว่าเป็นพื้นที่ที่บ่มเพาะผู้ก่อการร้ายด้วยซ้ำไป

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้สนับสนุนความหลากหลายจริงๆ ศิลปินจึงจำลองห้องเรียนขึ้นมาใหม่ โดยใช้โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำจากห้องเรียนในโรงเรียนตาดีกาจริงๆ

นอกจากนี้ เขายังแสดงการตอบโต้ทางวัฒนธรรมด้วยผลงานวิดีโอที่เด็กในโรงเรียนตาดีการ้องเพลงชาติไทยด้วยภาษามลายู และธงชาติที่ตัดเย็บขึ้นจากผืนผ้าลวดลายท้องถิ่นมลายูอีกด้วย

TADIKA โดยวันมุฮัยมีน อีแตลา

“ผมเชื่อว่าคนที่มีภาพจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสื่อกระแสหลักหลายคนยังไม่เคยเดินทางไปในพื้นที่แห่งนี้ด้วยซ้ำไป พวกเราอยากให้นิทรรศการนี้เปิดเผยให้เห็นว่า อะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ อะไรที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกเรียกขานว่า Deep South หรือเป็นพื้นที่ที่บางคนหวาดกลัว ถ้าหากได้มาชมนิทรรศการครั้งนี้ หลายคนอาจจะเข้าใจและได้เห็นมุมมองมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน” อนุวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ไม่แน่ว่า ถ้าผู้อ่านได้มาสัมผัสประสบการณ์ ได้เห็นวิถีชีวิต ความรู้สึกนึกคิด และการต่อสู้ของศิลปินที่ผู้เป็นตัวแทนของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหล่านี้ คุณอาจจะพบว่า ถึงแม้พื้นที่แห่งนี้จะถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่ลึกลงไปในชายแดนอันห่างไกล แต่แท้จริงแล้ว จิตใจของมนุษย์ต่างหาก ที่อาจจะลึกกว่าดินแดนที่อยู่ลึกและห่างไกลทั้งหลายทั้งปวง ก็เป็นได้

นิทรรศการ “Deep South : ลึกลงไป ใต้ชายแดน” จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม-11 มิถุนายน 2565 เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร), สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @VSGalleryBangkok

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก VS Gallery •