คารมทวด / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพประกอบบทความ : ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แสดงให้เห็นชายหญิงต่างชาติขณะเข้าบทรักอยู่ในตัวอาคาร โดยมีสาวชาวบ้านเดินผ่านอยู่ด้านนอก

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

คารมทวด

 

ชื่อเรื่องตอนนี้น่าจะเป็น “คารมทวดของทวดๆๆๆ” มากกว่า เพราะมาจากอดีตไกลโพ้น คารมคนสมัยอยุธยาแม้จะผ่านมาเป็นร้อยๆ ปี แต่คมความคิดไม่เป็นรองใคร โดยเฉพาะลีลาโต้คารมระหว่างหญิงชายสูสีกินกันไม่ลง

“กาพย์ห่อโคลงของพระศรีมโหสถ” วรรณคดีสมัยอยุธยา เล่าว่ากวีพบสาวที่ต้องตา ต่างฝ่ายต่างต้องใจ

“สองแลแปรต้องกัน สองกระสัลปั่นใจหา

สองใฝ่ใคร่กรีธา สองตาต่อจ่อใจหวัง ฯ

สองแลแปรต่อต้อง ตากัน

สองใส่ใจยวนยรร ย่อนไส้

สองหวังหญั่งความศัลย์ สมโยก

สองป่วนกวนกามไหม้ รุ่มร้อนหวนโหย ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เมื่อฝ่ายชายเปิดฉากเกี้ยว ฝ่ายหญิงก็ตอบกลับอย่างคมคายว่า ชายมีหลายลิ้นหลอกลวงหญิง ไม่จริงใจไม่ซื่อตรง

“กลชายหลายลิ้นแลบ คมปแปลบแสบเสียวใจ

เคียวคดกดตรงไฉน ปราศรัยแสร้งแกว่งทอดตัว

กลชายหลายลิ้นล่อ ลวงหญิง

ความสัจตัดไฉนจริง หนึ่งน้อย

เคียวคดกดตรงจริง ฤๅซื่อ

ปากเปล่าเล้าโลมร้อย เล่ห์ล้วนลวงหญิง ฯ”

ความจริงใจตรงไปตรงมานั้นสำคัญยิ่ง เมื่อคำเกี้ยวพาราสีคดดังคมเคียวที่โค้งงอ ปราศจากความจริง ถ้อยคำดังกล่าวจึงเชื่อไม่ได้

 

ถึงตอนนี้ชายหรือจะอยู่เฉย เมื่อหญิงแขวะว่าวาจาชายคดดุจเคียวเกี่ยวข้าว ชายก็สวนกลับว่าใจของตนคือ ‘บรรทัด’ หรือ ‘ไม้บรรทัด’ ที่มีช่างดัดให้ตรงไม่คดงอ ใช้ทาบเป็นแนวสำหรับขีดเส้นให้ตรง และเขียนพระธรรมคำสอนบนเส้นนั้น

“เรียมฤๅคือบรรทัด ช่างชาญดัดขัดเกลาขยัน

ทอดเขียนเรียนพระธรรม์ ใช้สันเคียวเบี้ยวบิดงอ

ใจเรียมเทียมดุจด้วย บรรทัด

คนช่างเกลาเหลาดัด รอบรู้

ทอดเขียนระเมียนอรรถ ธรรเมศ

ใช่อันสันเคียวคู้ คดค้อมคมนา ฯ”

นอกจากแก้ว่าตนมีใจซื่อตรง ตรงเหมือนไม้บรรทัด ยังเสริมว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม รู้จัก ‘เรียนพระธรรม์’ มิใช่เป็น ‘สันเคียวคู้ คดค้อมคมนา’ ตามที่ฝ่ายหญิงกล่าวหา

 

ถึงกระนั้นฝ่ายหญิงยังไม่ยอมเชื่อ ถือโอกาสเหน็บเต็มแรงว่าคำพูดของชายไม่ผิดอะไรกับหัวเต่าที่ยืดได้หดได้ตามสถานการณ์ นั่นคือ ไม่รักษาคำพูด พูดอย่างทำอย่าง ไม่น่าเชื่อถือ

“หน้าหัวตัวเต่าคับ ใครจะนับจับเหวี่ยงยอ

ยื่นหัวกลัวต้องตอ หดคอเข้าเจ่าหลบหาย ฯ

หน้าหัวตัวต้อมเต่า ตุงหลัง

ผู้ใดใฝ่แสวงหวัง เหวี่ยงเว้น

ยื่นหัวกลัวตอฝัง แฝงอยู่

หดคอตอเข้าเร้น ด่าวด้นดินเลน ฯ”

แม้ฝ่ายหญิงจะเสียดสีสารพัด ชายก็เพียรยืนยันว่าคำพูดของตนมั่นคงน่าเชื่อถือเหมือนกับงาช้างที่งอกแล้วงอกเลย ไม่หดกลับคืน ต่อให้เจออาวุธเช่นค้อนก็ไม่หวั่นไหว ยังคงอยู่เช่นนั้น

“คำจริงสิ่งเรียมบอก คือช้างออกงอกงางาม

มีมันปั่นเหลือลาม บขามค้อนห่อนหดคืน ฯ

คำจริงสิ่งนี้พี่ ฤๅถอย

งาพญาสารสอย แส่ค้อน

มีมันปั่นหมายคอย ลามไล่

ไม่ขามความเยินย้อน ห่อนหย้นคืนหลัง ฯ”

การเปรียบเทียบคำพูดของชายกับหัวเต่าและงาช้างทำให้นึกถึง “โคลงโลกนิติ” บทที่ว่า

“งาสารฤๅห่อนเหี้ยน หดคืน

คำกล่าวสาธุชนยืน อย่างนั้น

ทุรชนกล่าวคำฝืน คำเล่า

หัวเต่ายาวแล้วสั้น เล่ห์ลิ้นทรชน ฯ”

ความหมายคือ วาจาคนดีเหมือนงาช้างที่งอกแล้วไม่หดคืน พูดอย่างไรทำอย่างนั้น รักษาคำพูดของตน ส่วนวาจาคนชั่วเหมือนหัวเต่าที่ผลุบเข้าโผล่ออกจากกระดอง พูดอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง คำพูดเชื่อไม่ได้

“กาพย์ห่อโคลงของพระศรีมโหสถ” ใช้แนวคิดเดียวกันนี้เปรียบคำพูดที่เชื่อถือไม่ได้กับหัวเต่า และเปรียบคำพูดน่าเชื่อถือกับงาช้าง

ถึงจะถูกฝ่ายชายตีตกทุกประเด็น ฝ่ายหญิงก็ไม่ยอมแพ้ เปรียบวาจาชายกับการขีดรอยไว้บนผืนน้ำ มีแต่จะเลือนหายไร้ร่องรอย

“คำชายหมายขีดน้ำ ลบเลือนกล้ำคำกลับกลาย

ร่องรอยถอยถมหาย ลิ้นชายล่อส่อเสมอกัน ฯ

คำชายหมายขีดน้ำ เลือนลบ

เส้นบ่หายหมายกลบ เกลื่อนสิ้น

รอยร่องท่องแถวหลบ หลายเลิศ

แยบคายลายลมลิ้น ล่อเลี้ยวโลมหญิง ฯ”

แสดงว่าวาจาชายเปลี่ยนแปลงได้เสมอ โดยเฉพาะคำลวงให้หญิงหลงรัก

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายชายอธิบายว่าคำพูดของเขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับเหล็กจารึกลายเส้นงดงามไว้บนแผ่นหิน เป็นรอยที่ไม่มีวันจางหาย

“ตัวพี่นี้กล่าวสาร คือเหล็กจารลานแผ่นผา

เส้นสายลายเลขา เป็นปรากฏสรดฤๅหาย ฯ

คำพี่ที่แกล้งกล่าว เฉลยสาร

คือเหล็กจารลานการ อ่านแจ้ง

แลเห็นเส้นสายจาร ลายเลิศ

รจนาปรากฏแกล้ง แต่งไว้ฤๅหาย ฯ”

ยิ่งไปกว่านั้นฝ่ายหญิงเปรียบคำพูดของชายกับ ‘ลิ้นงู’ ที่มีอันตรายต่อสตรี

ลิ้นงูพรูพรายแพร่ง ลิ้นลมแต่งแห่งชายไฉน

ดุจกันหวั่นจงใจ แก้ไขคล่องต้องติดตาม ฯ

ลิ้นงูพรูแพร้วแพร่ง พรายหลาย

ลิ้นเล่ห์เปรลมชาย กล่าวเกี้ยว

ดุจกังหันเหินหาย โปรยเปล่า

แก้ไขใจคดเคี้ยว ล่อลิ้นลาวล ฯ”

ข้อความว่า ‘ลิ้นงูพรูแพร้วแพร่ง พรายหลาย’ ให้ภาพของงูที่มีหลายลิ้น ซึ่งสอดคล้องความเป็นจริงที่ลิ้นงูมีสองแฉกและมีพิษ ทำให้นึกถึงสำนวน ‘ลิ้นสองแฉก’ ที่หมายความว่า พุดจาสับปลับเชื่อถือไม่ได้ ซึ่งตรงกับความหมายที่ฝ่ายหญิงต้องการสื่อว่าชายมีหลายลิ้นคอยหลอกล่อเกี้ยวพาราสีหญิงเรื่อยไปด้วยใจคด

 

เมื่อถูกฝ่ายหญิงจวกเอาซึ่งๆ หน้า ถ้าไม่ไปต่อก็เสียเชิง ชายจึงนำตราชูหรือตาชั่งสำหรับชั่งน้ำหนักสิ่งของมายืนยันว่าตนคือตราชูที่เที่ยงตรง และมีเพียงลิ้นเดียวหาใช่ลิ้นสองแฉกเช่นลิ้นงูไม่

ตราชูดูทางเที่ยง บบ่ายเลี่ยงเหวี่ยงเสมอกัน

ลิ้นเดียวเหนี่ยวกลางคัน บผันปลิ้นลิ้นเรียมเหมือน ฯ

ตราชูดูลิ้นดิ่ง เดียวตรง

บบ่ายคลายเอนลง เงี่ยง้ำ

เตรียบตรูคู่คำองค์ ยมเรศ

ชั่งบาปบุญบุญก้ำ กึ่งลิ้นเรียมเหมือน ฯ”

แม้ว่าฝ่ายหญิงกระหน่ำเหน็บแนมสักเพียงใด ฝ่ายชายก็ยิ่งพยายามสุดฤทธิ์ชี้แจงว่าไม่ได้เป็นดังถูกกล่าวหา

จีบติดหรือไม่ ไปอ่านต่อเองนะ •