เส้นทางคดี “สรยุทธ” สู่ยกสามศาลฎีกา ปล่อยชั่วคราวหรือถาวร?!

“ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์แล้ว เห็นว่าในชั้นนี้เห็นควรให้อนุญาตปล่อยชั่วคราว นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จำเลยที่ 3 และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 4 ตีราคาประกันคนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และให้จำเลยทั้งสองต้องมารายงานตัวต่อศาลทุก 3 เดือน”

นับเป็นข่าวดีของนายสรยุทธ กับ น.ส.มณฑา ที่ถูกคุมขังในเรือนจำ 15 วัน เมื่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำสั่งให้ประกันในวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา

โดยช่วงเช้าวันเดียวกันก่อนจะมีการอ่านคำสั่งประกันนั้น ผู้พิพากษาที่ร่วมพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้อนุญาตฎีกาตามคำร้องของนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ว่าคดีมีปัญหาสำคัญและเหตุอันควรสู่ศาลสูงสุดที่จะวินิจฉัย ตามหลักในประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

และเมื่อมีการรับฎีกาแล้ว นายสรยุทธกับพวกจึงยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว

และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันลงมาในวันเดียวกันนั้นเอง

สําหรับคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 51 ปี อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดังและกรรมการ ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช อายุ 45 ปี พนักงาน บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1-4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่ง และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8, 11

พฤติการณ์แห่งคดี ระบุว่า นางพิชชาภา พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงินเป็นเช็ค ธนาคารธนชาต สาขาพระราม 4 สั่งจำนวน 6 ฉบับ เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภาไม่รายงานการโฆษณา

โดยระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวโดยยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดซึ่งศาลตีวงเงินคนละ 200,000 บาท

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า นางพิชชาภา อดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ มาตรา 6, 8, 11

ส่วน บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ, น.ส.มณฑา พนักงาน บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานสนับสนุน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รวม 6 กระทง ให้จำคุกนางพิชชาภา 6 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี

ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำคุก 6 กระทง กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี

และปรับ บจก.ไร่ส้ม ทั้งสิ้น 120,000 บาท

ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงให้จำคุกนางพิชชาภา 20 ปี

ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา พนักงาน บ.ไร่ส้ม คนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา

ส่วน บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ให้ปรับรวม 80,000 บาท

ส่วนในชั้นอุทธรณ์ ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งหมดประกันตัว ตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลด้วยทุก 30 วัน

ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษายืนจำคุกจำเลยทั้งหมดเหมือนที่ศาลชั้นต้นลงโทษ

หลังมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว นายสรยุทธกับพวก ได้ยื่นประกันตัวทันที โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท

โดยศาลอาญาทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา

และในวันดังกล่าวนั้นเอง ศาลฎีกามีคำสั่งลงมาทันทีในช่วงเย็นว่าไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด

ทำให้นายสรยุทธกับจำเลยร่วมทั้งหมดต้องถูกคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำ

เรื่องนี้ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 6 กระทง กระทงละ 3 ปี 4 เดือน จึงเป็นคดีต้องห้ามฎีกา ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคเเรก ที่ระบุว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

“ส่วนการจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าผู้พิพากษาคนใดที่เป็นผู้พิจารณาสำนวน หรือผู้พิพากษาที่ลงชื่อทำความเห็นแย้งในคดีไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา หรือกรณีที่อัยการสูงสุดลงชื่อรับรองฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้สามารถฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้”

หากเมื่อเป็นตามที่โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวแล้ว คดีนี้คนที่มีอำนาจรับรองฎีกาในคดีนี้ได้จะมีอยู่ 6 คน ประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาชั้นต้นที่พิจารณาคดี 2 คน ชั้นอุทธรณ์ 3 คน และอัยการสูงสุด 1 คน

ซึ่งสุดท้าย นักเล่าข่าวชื่อดัง กับนางมณฑาลูกน้อง มีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีเซ็นอนุญาตฎีกาให้ พร้อมได้ประกันตัวจากศาลฎีกา

จากนี้ไปนายสรยุทธกับพวก ต้องลุ้นกันต่อในยกที่สาม ว่าหลังจากที่ได้ยื่นฎีกาและได้ประกันตัวจำเลยทั้งหมดในคดีนี้แล้ว ศาลฎีกาที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาเขียนคำพิพากษาตามปกติแล้วไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับฎีกา จะบวกขั้นตอนธุรการกว่าฎีกาจะถึงศาลฎีกาอีกไม่เกิน 4 เดือนนั้น

ศาลฎีกาจะพิจารณาวินิจฉัยในข้อต่อสู้ฎีกาของนายสรยุทธกับจำเลยร่วมอย่างไร

จากนี้ต้องติดตามว่า นักเล่าข่าวชื่อดังที่ได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราวออกมา

ท้ายที่สุดแล้วจะได้ปล่อยออกมาถาวรหรือไม่?!!