ย้อนปมคดี น.ศ.แพทย์ วางยาหมาเอาประกัน แจ้งจับทันที 2 ข้อหา ศิริราชสั่งพักการเรียน

 

ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สร้างความสนใจให้กับสังคม

สำหรับกรณีการทุจริตฉ้อโกงรูปแบบใหม่ ที่พยายามหาประโยชน์จากบริการจัดส่งสิ่งของและสัตว์เลี้ยง

โดยทำทีเป็นการจ้างขนส่งสุนัขราคาแพง พร้อมทำประกันเต็มวงเงิน

ระหว่างทางก็ลงมือด้วยความโหดเหี้ยม วางยาสุนัขของตัวเอง เพื่อให้สิ้นใจระหว่างทาง

ก่อนข่มขู่เอาเงินประกันที่ทำไว้

ดีที่บริษัทขนส่งผิดสังเกต ต้องร้องขอให้สัตวแพทย์ช่วยผ่าพิสูจน์ ในที่สุดก็พบยาความดันของคนอยู่ในกระเพาะของสุนัข

นำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงและทารุณกรรมสัตว์

และสิ่งที่น่าตะลึงขึ้นไปอีก เพราะตัวการในเรื่องนี้กลับเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 6

กลายเป็นคำถามว่าสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความผิดปกติทางจิต ที่ต้องรับการรักษาหรือไม่

ก่อนที่จะออกมามีหน้าที่รับผิดชอบดูแลชีวิตของคนในสังคม

ตะลึง น.ศ.แพทย์วางยาสุนัข

เหตุการณ์อื้อฉาวครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน โดย นสพ.รัชภูมิ เขียวสนาม หัวหน้ากลุ่มสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.นครราชสีมา เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ต.มงคล คุปติศิริรัตน์ สารวัตรสอบสวน สภ.โพธิ์กลาง จ.นครราชสีมา เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าของสุนัขซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ ป้อนยาเกินขนาด ทำให้สุนัขตาย

โดยระบุว่าเข้าข่ายความผิดข้อหาทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน สพญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ ตัวแทนกลุ่มวอตช์ด๊อก ไทยแลนด์ และ นางณัฐนันท์ จีระวิวิทธ ตัวแทนบริษัทขนส่ง เอช.เอส.เค.อีเอ็กซ์เพรส ก็เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.สืบพงศ์ กรุณา รอง ผกก.สอบสวน สน.สุทธิสาร เพื่อให้ดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง และทารุณกรรมสัตว์

ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้มาพบ ตร. ภายในวันที่ 18 กันยายน

สำหรับเรื่องดังกล่าวมีจุดตั้งต้นจากการเปิดเผย สพญ.องค์นาถ สุตธรรม เจ้าของโรงพยาบาลสัตว์เซ็นเตอร์เพ็ท ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระบุว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน มีลูกค้ารายหนึ่งโทรศัพท์มาบอกว่าจะพาสุนัขมารักษา จากนั้น 30 นาที ก็มาถึง โดยหิ้วกระเป๋าใส่ซากสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน มาให้ตรวจดู

จึงแจ้งให้เจ้าของทราบว่าสุนัขตายแล้ว จากนั้นก็เห็นเจ้าของไปคุยกับคนขับรถของบริษัทขนส่งสัตว์เลี้ยง บอกให้รับผิดชอบการสูญเสีย แต่คนขับยืนยันว่าก่อนหน้านี้เพียงครึ่งชั่วโมง ยังเห็นสุนัขแข็งแรงดี จึงขอให้แพทย์ตรวจดู

เบื้องต้นแจ้งกลับไปว่าอาจเกิดจากการช็อก เพราะเนื้อตัวสุนัขสะอาด ไม่มีรอยปัสสาวะ อุจจาระ แต่คนขับยังไม่พอใจ ขอให้ผ่าซากพิสูจน์

เมื่อผ่ากระเพาะอาหารก็พบเม็ดยาจำนวนมากอยู่ภายใน นอกจากนี้ ก่อนที่เจ้าของนำสุนัขมา ก็เห็นเม็ดยาชนิดเดียวกันอยู่ในกระเป๋า เมื่อสอบถาม น.ศ.แพทย์ก็ยอมรับว่าเป็นยาของตนเอง แล้วก็โยนทิ้งถังขยะ เมื่อพบยาแบบเดียวในกระเพาะสุนัข จึงไปคุ้ยถังขยะเอามาเทียบ ก็พบว่าเป็นแบบเดียวกัน โดยเป็นยาลดความดันของคน

ทั้งนี้ เมื่อสอบถาม น.ศ.แพทย์คนดังกล่าว ก็ระบุว่าเป็นวิตามินที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่งใน กทม. สั่งจ่ายให้สุนัขกิน แต่เมื่อขอดูฉลากและกระปุกยาก็บอกว่าทิ้งไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการนำใบชันสูตรไปเปลี่ยนแก้ไข จากที่ระบุความเห็นแพทย์ว่าได้รับยาเกินขนาด เป็นช็อกจากการเดินทาง

ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ชัดเจน

แฉพฤติกรรมเสื่อมอื้อ

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวสืบสวนจนพบว่า น.ศ.แพทย์ มีเจตนาว่าจ้างให้ขนสุนัขเพื่อเอาเงินประกัน และกรณีนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้น โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา น.ศ.แพทย์ว่าจ้างบริษัทขนส่ง ให้มารับสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเดียน สีน้ำตาล อายุ 7 เดือน จากโรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม. ไปส่งยังโรงพยาบาลสัตว์หมอต้น เลขที่ 1143/47 ถนนสุรนารายณ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมระบุว่าจะฝากไว้ที่ดังกล่าว 2 วัน เพื่อเซอร์ไพรส์แฟนสาวที่อยากได้สุนัขพันธุ์นี้

โดยอ้างว่าซื้อมาในราคา 4 หมื่นบาท ทางบริษัทแจ้งค่าบริการขนส่ง 6,500 บาท และขอทำประกันชีวิตเพิ่มอีก 4,000 บาท เงื่อนไขว่าหากเกิดเสียชีวิตระหว่างเดินทาง บริษัทจะรับผิดชอบเงินตามจำนวนทั้งหมด

ต่อมาเมื่อวันเดินทางทั้งหมดไปด้วยกันภายในรถของบริษัท ระหว่างทางสุนัขมีอาการอ่อนเพลีย เจ้าหน้าที่จึงนำกลูโคสผสมน้ำให้ดื่มตลอดเวลา เมื่อถึงที่หมาย บริษัทขนส่งก็เดินทางกลับทันที

แต่เมื่อผ่านไปประมาณชั่วโมงครึ่ง น.ศ.แพทย์โทรศัพท์หาบริษัทขนส่ง บอกว่าสุนัขตายแล้ว เมื่อกลับไปถึงลูกค้าระบุให้บริษัทชดใช้เงิน 4 หมื่นบาท แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม เพราะผิดเงื่อนไข น.ศ.แพทย์จึงบอกให้ทางโรงพยาบาลกับบริษัทขนส่งจ่ายเงินกันฝ่ายละ 2 หมื่นบาท แต่ก็ไม่มีใครยอมจ่าย

ต่อมาวันที่ 5 กันยายน น.ศ.แพทย์จึงว่าจ้างให้ขนส่งสุนัขอีกตัว คราวนี้ตายระหว่างทางจริง แล้วจึงเรียกร้องค่าเสียหายตามประกัน 5 หมื่นบาท นำไปสู่การผ่าซากพิสูจน์

ไม่เพียงแค่ประเด็นการข่มขู่เรียกค่าเสียหายเท่านั้น แต่จากการสอบสวนยังพบว่า น.ศ.แพทย์รายนี้ยังมีพฤติกรรมฉ้อโกง โดย นายเจษฎา กุลโสภณ เจ้าของร้านสุนัข ก็ออกมาระบุว่า น.ศ.แพทย์ติดต่อขอซื้อสุนัข 2 ตัว โดยตอนแรกขอซื้อวันที่ 30 กรกฎาคม ขายไปในราคา 7,500 บาท ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม ลดราคาขายไปให้ 6,500 บาท ยืนยันทุกตัวสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรค ที่ผ่านมาจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก ก็ไม่เคยมีปัญหาแต่อย่างใด

ไม่เพียงแค่นั้น ยังพบว่า น.ศ.แพทย์คนนี้ติดต่อบริษัทฟีนิกซ์ เอ็กซ์เพรส จรัญสนิทวงศ์ 13 ให้จัดส่งกระต่าย 10 ตัว พร้อมขอทำประกัน หากมีการเสียชีวิตระหว่างขนส่ง หากตัวไหนตายต้องชดใช้ราคาตัวละ 5 พันบาท แต่เจ้าของบริษัทปฏิเสธไป

และยังซื้อปลากัดในราคาตัวละ 2 พันบาท เพื่อเอาไปเปิดประมูล เมื่อไม่ได้ราคา ก็จะขอเงินคืน แต่พอคนขายไม่ยอม ก็อ้างว่าปลาตาย โดยสภาพน่าจะเป็นการปล่อยตากแดดจนตาย

เป็นเรื่องการทารุณกรรมสัตว์

ศิริราชสั่งพักการเรียน

ส่วนด้านของสถาบันการศึกษาต้นสังกัด ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องดังกล่าว โดย นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราช และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล สอบปากคำ น.ศ.แพทย์ ที่ก่อเหตุวางยาฆ่าสุนัขหวังเรียกเงินประกัน และพ่อแม่ของนักศึกษาแพทย์คนดังกล่าว ที่ห้องคณบดีคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน

ต่อมาได้แถลงมติการประชุมคณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล วาระพิเศษ

ระบุว่า

1. ให้นักศึกษาแพทย์ที่ถูกกล่าวหาพักการศึกษาตั้งแต่บัดนี้จนกว่าผลการตัดสินการดำเนินการตามข้อ 2, 3 และ 4 จะสิ้นสุด

2. ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางจริยธรรมกับนักศึกษาดังกล่าว หากประเมินแล้วมีผลตัดสินว่ามีความผิดทางจริยธรรมจริง ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะดำเนินการส่งเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อดำเนินการต่อไป ตามเกณฑ์ความผิดด้านจริยธรรม

3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะเฝ้าติดตามการรักษาปัญหาด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด หากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจได้รับการประเมินว่ามีความรุนแรง ขัดต่อการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ ก็จะเสนอมหาวิทยาลัยมหิดลพิจารณาให้พ้นสภาพนักศึกษา

4. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะเฝ้าติดตามความคืบหน้าของกระบวนการยุติธรรม หากมีผลทางอาญาเป็นที่สิ้นสุดและมีความผิด ก็จะเสนอมหาวิทยาลัยมหิดลให้พิจารณาให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้นักศึกษาแพทย์รายดังกล่าวอยู่ระหว่างพักการเรียน เนื่องจากมีภาวะย้ำคิดย้ำทำตั้งแต่ช่วงปี 3 จึงพักเรียนมาเป็นระยะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยพักมาตั้งแต่ช่วงเมษายน ส่วนอาการนั้นไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพราะเป็นความลับคนไข้

หากต่อไปแพทย์พบว่าอาการป่วยขัดต่อวิชาชีพ หรือผลตัดสินออกมาว่าผิดทางอาญา คณะกรรมการก็จะพิจารณาให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ ได้พูดคุยสอบถามข้อมูลจากตัวนักศึกษาวันเดียวกันนี้ก็พบว่าข้อมูลบางอย่างไม่ตรงกับที่สื่อนำเสนอไปก่อนหน้านี้ คณะกรรมการก็จะนำไปพิจารณาก่อนจะตัดสิน

สรุปข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ไม่ให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในวิชาชีพ