โลตัส ‘Emira’ – มาสด้า ‘MX30’ ซูเปอร์คาร์สันดาป-รถไฟฟ้า / ยานยนต์ สุดสัปดาห์ : สันติ จิรพรพนิต

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์

สันติ จิรพรพนิต

[email protected]

 

โลตัส ‘Emira’ – มาสด้า ‘MX30’

ซูเปอร์คาร์สันดาป-รถไฟฟ้า

 

รักพี่เสียดายน้องจริงๆ เมื่อได้ข้อมูลรถยนต์ 2 รุ่นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงตัดสินใจเขียนถึงพร้อมกันไปเลย เพราะไม่อยากทิ้งช่วงเนิ่นนานเกินไป

เห็นชื่อเรื่องคิดว่าเป็นรถในเซ็กเมนต์เดียวกัน แต่จริงๆ แล้วมากันคนละไซซ์ คนละรุ่นเลย

หนึ่งคือยอดรถซูเปอร์คาร์ “Lotus Emira” (โลตัส เอมิรา) ที่ถือว่าเป็นรถเครื่องยนต์สันดาปภายในรุ่นสุดท้ายของโลตัส เพราะนับจากรุ่นนี้ โลตัสจะมุ่งผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น

และอีกหนึ่งเป็นรถสปอร์ตไฟฟ้ารุ่นแรกของมาสด้า ในนาม “MX-30”

ประเดิมกันที่โลตัส เอมิรา เปิดตัวในไทยเป็นครั้งแรกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การดูแลของโลตัส คาร์ ประเทศไทย โดยเวิร์นส์ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถสปอร์ตโลตัสอย่างเป็นทางการในประเทศไทย

รถสปอร์ตระดับพรีเมียมเครื่องวางกลาง ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Lotus Evija” ไฮเปอร์คาร์ไฟฟ้า

สร้างขึ้นจากสถาปัตยกรรมใหม่ Lotus Sports Car Architecture มีระยะห่างของล้อที่กว้างกว่ารถรุ่นอื่นๆ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพยึดเกาะถนน และรู้สึกได้กับจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำมาก

รูปลักษณ์ร่วมสมัยด้วยพื้นผิวที่ลื่นไหล เส้นลักษณะที่คมชัด และรายละเอียดทางเทคนิค ฝากระโปรงหน้าที่โดดเด่นสะดุดตา ช่องระบายอากาศขนาดใหญ่ที่ตัดเข้าไปในด้านท้ายของรถ

ไฟหน้า LED แนวตั้งเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยดีไซน์ twin blade ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Evija

เครื่องหมายคำว่า Lotus อยู่เหนือแผงหลังสีเดียวกับตัวรถ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากด้านหลังของ Evija อย่างชัดเจนเช่นกัน

ภายในโดดเด่นด้วยแผงหน้าปัดแบบ wrap around ผสมผสานเข้ากับแผงประตูที่หรูหรา เน้นพื้นผิวนุ่มสะท้อนให้เห็นถึงงานฝีมือระดับพรีเมียมของอังกฤษ

พวงมาลัยท้ายตัด พร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่น ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ จอแสดงผล TFT ขนาด 12.3 นิ้ว

คอนโซลกลาง ติดตั้งหน้าจอสัมผัสขนาด 10.25 นิ้วที่ติดตั้งตรงคอนโซลกลาง เชื่อมต่อ Android Auto และ Apple CarPlay ระบบเสียงระดับพรีเมียม 10 ลำโพงจาก KEF แบรนด์ดังสัญชาติอังกฤษ

ด้านหลังของเบาะนั่งมีพื้นที่ 208 ลิตร สำหรับสัมภาระหรือสิ่งของขนาดใหญ่

ส่วนพื้นที่เก็บของด้านหลังของเครื่องยนต์ มีขนาด 151 ลิตร ใส่กระเป๋าเดินทางขนาดมาตรฐานหรือถุงกอล์ฟได้สบาย

ขุมพลังมีให้เลือก 3 แบบ เริ่มจาก “First Edition” V6 ซูเปอร์ชาร์จ ขนาด 3.5 ลิตร กำลังสูงสุด 400 แรงม้า แรงบิด 420 นิวตัน-เมตร

อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพียง 4.2 วินาที ความเร็วสูงสุด 288 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เครื่องยนต์ AMG i4 First Edition 2.0 ลิตร เทอร์โบ กำลัง 360 แรงม้า

และ i4 BASE 2.0 ลิตร เทอร์โบ

มาพร้อมกับการตั้งค่าแชสซีส์และช่วงล่าง 2 แบบ ประกอบด้วย “Tour” สำหรับการใช้งานบนท้องถนนทุกวัน ให้การผสมผสานที่ลงตัวระหว่างสมรรถนะของ Lotus ไดนามิกและการควบคุมรถด้วยการขับขี่ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น

และช่วงล่าง “Sport” มาพร้อมกับ Lotus Drivers Pack อุปกรณ์เสริม ตั้งค่าระบบกันสะเทือนที่แข็งขึ้นเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความสามารถและความรู้สึกแบบไดนามิก

สนนราคา รุ่น V6 First Edition (high spec) 11.9 ล้านบาท ผลิตทั่วโลก 130 คัน ประเทศไทยมีโควต้าเพียง 6 คันเท่านั้น พร้อมส่งมอบต้นปี 2566

เครื่องยนต์ AMG i4 First Edition ราคาเริ่มต้น 9,290,000 บาท พร้อมส่งมอบไตรมาสที่ 2 ปี 2566

และรุ่น i4 BASE ราคาที่ 7,990,000 บาท ส่งมอบไตรมาสที่ 3 ปี 2566

 

ส่วน “มาสด้า MX-30” ไม่ได้เปิดขายอย่างเป็นทางการ แต่นำมาอวดโฉมในงาน “2022 Mazda Business Review & Way Forward” โดยบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงทิศทางธุรกิจ

เพื่อประกาศให้รู้ว่ามาสด้าพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกันนะ

“MX-30” ถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของมาสด้า ที่ผลิตออกจำหน่ายทั่วโลก โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก เพราะมาสด้าเก็บข่าวได้เงียบเชียบ

ที่ผ่านมามาสด้าเน้นไปกับการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน จนเรียกว่ามาเกือบขั้นสุดในชื่อ “สกายแอ๊คทีฟ” (Skyactiv)

แต่เมื่อเอาจริงก็สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว เพราะออกแบบได้สวยสปอร์ตอย่างมาก แม้มีกลิ่นอายรถครอสโอเวอร์ก็ตาม

จุดเด่นนอกจากรูปร่างหน้าตาโดนใจแล้ว การเปิดประตูก็แหวกแนวจากรถในปัจจุบันอย่างมาก

โดยเป็นรถที่ไม่มีเสากลาง หรือเสา “B-Pillars” เวลาเปิดประตูจะเหมือนกับเปิดตู้กับข้าว ลักษณะคล้ายรถกระบะโอเพ่นแคป ที่บ้านเราคุ้นเคย

ประตูคู่หน้าจะมีขนาดใหญ่ ส่วนบานหลังจะย่อมลงมา แต่ตั้งองศาได้กว้างถึง 80 องศา สามารถเข้าออกได้สะดวก

แต่เมื่อปิดประตูทำให้ได้รูปลักษณ์แบบรถสปอร์ต 2 ประตู

พัฒนาบนพื้นฐานเดียวกับ “มาสด้า CX-30” แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย

มิติตัวถัง (กว้าง x ยาว x สูง) 1,795 x 4,395 x 1,570 ม.ม. ระยะฐานล้อ 2,655 ม.ม.

หน้าตาภายนอกออกแบบภายใต้เทคโนโลยีสกายแอ๊คทีฟ และ Kodo Design

กระจังหน้ามีขนาดเล็กแตกต่างจากเทรนด์การออกแบบของมาสด้า ในยุคหลังๆ ส่วนหนึ่งมาจากต้องการความปราดเหรียว และอีกส่วนอาจเป็นเพราะรถไฟฟ้า 100% ไม่จำเป็นต้องมีกระจังช่องดักลมขนาดใหญ่เพื่อระบายความร้อน

ไฟหน้าเรียวเล็กแบบโปรเจ็กเตอร์เลนส์ ไฟท้ายได้อารมณ์รถสปอร์ตของค่ายในตระกูล “MX” ซึ่งเป็นเก๋งเปิดประทุน

หลังคาด้านหลังลาดลงเล็กน้อย ขณะที่จัดวางซุ้มล้อและคิ้วขนาดใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นรถกลุ่มครอสโอเวอร์

ด้านในเน้นความเรียบง่ายคอนเซ็ปต์ “Human Modern” และยึดผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางเหมือนเดิม

พวงมาลัยสามก้านแบบสปอร์ต มาตรวัดแบบ TFT LCD อ่านค่างาย

ขณะที่แผงแดชบอร์ดดูเรียบง่ายสบายตา เพราะลดปุ่มปรับต่างๆ แต่ให้ใช้ควบคุมที่หน้าจอกลางระบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว

ข้อดีทำให้ดูสะอาดตา แต่เวลาปรับอาจลำบากหน่อย คงต้องจัดการให้แล้วเสร็จก่อนเดินทาง ซึ่งจะว่าไปคล้ายกับรถหลายรุ่นในปัจจุบัน ที่รวมปุ่มควบคุมต่างๆ ไว้ที่หน้าจอกลาง

ช่องเก็บของด้านหลังขนาดใหญ่ และสามารถเพิ่มพื้นที่บรรทุกเมื่อพับเบาะหลังลง

ขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้า 143 แรงม้า 265 นิวตัน-เมตร แบตเตอรี่ 35.5 กิโลวัตต์

พิสัยทำการ 237 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC และ 200 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WLTP

การชาร์จ AC Type2 6.6 กิโลวัตต์ / CCS Combo DC Fast Charging 40 กิโลวัตต์ ชาร์จจาก 20-80% ในเวลา 36 นาที

แม้ “มาสด้า MX-30” เจเนอเรชั่นนี้น่าจะไม่มาจำหน่ายในไทย เพราะช่วงแรกมาสด้าให้น้ำหนักไปที่รถพลังงานทางเลือกอย่างไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริดก่อน •