จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 22-28 เมษายน 2565 ฉบับที่ 2175

 

จดหมาย

 

• ช่วยด้วย

ล่วงละเมิด เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์

ข่มขืน ผู้บริสุทธิ์ ด้วยกดหมาย

ข่มขู่ ด้วยอำนาจ ทั้งใจกาย

ประชาธิปไตย ถูกฆ่า “ขอแจ้งความ”

ไมตรี รัตนา

 

นี่ย่อมเป็นผลสะเทือนจากกรณีอื้อฉาวของคนประชาธิปัตย์

ที่เผชิญข้อกล่าวหารุนแรง

กระทำอนาจาร และข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงหลายคน

และต่อเนื่องมานาน

ทำให้ “ไมตรี รัตนา” กระทบใจ

และมองไกลไปกว่านักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจก

ไปสู่ระบบ–ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย

ที่ถูกล่วงละเมิด ถูกข่มขืน มาต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน

แต่ยังไม่มีการจัดการ

อยู่ในแค่ขั้นตอน “ขอแจ้งความ” เท่านั้น

แต่ดูจะไม่มีใครรับแจ้งความ

ถือเป็นความเจ็บป่วยของ “เหยื่อ” ที่หมายถึงพวกเราทุกคน

 

• ช่วยสอบ

สืบเนื่องจากข่าวที่ปรากฏเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่ง ซึ่งต่อมาเจ้าตัวที่ถูกกล่าวอ้างถึง คือ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ได้ออกมาปฏิเสธ หลังถูกกล่าวหาจากผู้เสียหายที่เป็นหญิงจำนวนมากว่า ได้กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุมากกว่า 15 ปี และข่มขื่นกระทำชำเรา โดยเจ้าทุกข์ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ลุมพินีแล้ว และตำรวจได้ยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลไว้ 3 คดี

โดยผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราวทั้ง 3 คดี โดยศาลได้ตีราคาประกันในคดีหมายเลขดำ ฝ.173,174/2565 สำนวนละ 200,000 บาท และคดีหมายเลขดำ ฝ.175/2565 จำนวน 300,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม.ทราบ

แต่เนื่องจากตามข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ 2561 ข้อ 19(2)(4) ข้อ 24 ถึง 28 ประกอบข้อ 115 มีข้อกำหนดอันเกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไว้

โดยระบุว่า พรรคมีความรับผิดชอบต่อสมาชิก โดยจะต้องควบคุมและกํากับดูแลมิให้สมาชิกกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อบังคับพรรค และประกาศของพรรค

หากฝ่าฝืน คณะ กก.บห.พรรค มีอำนาจมีมติขับให้ผู้ฝ่าฝืนออกจากสมาชิกพรรคได้

และถึงแม้นายปริญญ์จะประกาศลาออกทุกตำแหน่งภายในพรรคประชาธิปัตย์แล้วก็ตาม แต่ความเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ปรากฏว่าลาออกแล้วหรือไม่

ดังนั้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะต้องดำเนินการตาม ม.22 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยเร่งแจ้งให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคโดยเร็ว

ซึ่งหากเลขาธิการ กกต.แจ้งไปยังพรรคประชาธิปัตย์แล้ว คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ละเลยหรือไม่เรียกประชุมคณะกรรมการบริการพรรค หรือไม่มีมติหรือสั่งการใดๆ เกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวของอดีตรอง หน.พรรคคนดังกล่าว และไม่กำหนดมาตรการหรือวิธีการที่จำเป็น เพื่อมิให้สมาชิกพรรคกระทำการอันมีลักษณะดังกล่าวอีก และไม่แจ้งให้เลขาธิการ กกต.ทราบภายใน 7 วันนับแต่มีมติ

เลขาฯ กกต.จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการ กกต.เพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะ กก.บห.พรรค ปชป. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะได้ และห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองอีกจนกว่าจะพ้น 20 ปีไปแล้ว

นายศรีสุวรรณ จรรยา

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

 

 

เดิมมีความพยายามจากคนในประชาธิปัตย์

อยากให้กรณีนี้เป็นเรื่อง “บุคคล”

และเมื่อลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในพรรคแล้ว

ก็ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม

ไม่ใช่เรื่องของพรรค

แต่ดูเหมือนสังคม รวมถึงนักร้อง “ศรีสุวรรณ จรรยา”

จะไม่ยินยอม ต่างยืนยันว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับพรรค

เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกพรรค

จะจำกัดขอบเขตให้เป็นเรื่อง “ส่วนตัว” มิได้

แรงกดดันที่โหมกระหน่ำ ทำให้ที่สุด หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะต้องออกมาแถลงเสียใจและขอโทษสังคม

รวมทั้งจะสอบสวนกรณีนี้

ช้าเกินไป และทำให้กรณีนี้ผ่อนคลายลงหรือไม่

ยังเป็นคำถาม

 

• ช่วยพิจารณา

ผู้นำที่ดีต้องคิดถึงโลกธรรม 8 ประการ

คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์

แล้วจะต้องมีพรหมวิหาร 4

คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ผู้ประพฤติธรรม จะต้องนึกไว้เสมอว่า

ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น

ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป

คิดดูให้ดีดี ไม่มีอะไรเป็นสุข

ดูตัวอย่าง กรณีคุณแตงโม รายต่อไปคือปูติน แห่งรัสเซีย

เขามีบทเรียนแล้ว

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

เขียนมาก่อน มีกรณีอื้อฉาวในประชาธิปัตย์

แต่ก็คงเป็นข้อเตือนใจ

ที่คลอบคลุมถึง

ซึ่งนักการเมืองที่มีเป้าหมายเป็นผู้นำ

จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ตะวันรอนเสนอมาให้ดี •