กว่าจะเป็นล่ามนักการทูตญี่ปุ่น มีใครเป็น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” บ้าง ?

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

กว่าจะเป็นล่ามนักการทูตญี่ปุ่น

ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นาย โยชิมาสะ ฮายาชิ(芳正林)รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้เยือนโปแลนด์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยและรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน 20 คนมาญี่ปุ่นด้วยเที่ยวบินพิเศษ นับเป็นความพิเศษที่ญี่ปุ่นไม่เคยทำมาก่อน

ในเรื่องการทูต การต่างประเทศ ผู้มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลัง คือ “ล่ามนักการทูต” เส้นทางนักการทูตญี่ปุ่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ล่ามเจรจาระดับผู้นำประเทศมีความน่าสนใจ

ล่ามนักการทูตต้องผ่านการยอมรับความเชี่ยวชาญด้านภาษาจากกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากต้องทำหน้าที่อยู่บนผลประโยชน์ของชาติ แบกรับภาระความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง ที่น่าแปลกคือ หลายๆคนเริ่มต้นความรู้ด้านภาษานั้น ๆ ตั้งแต่เป็นศูนย์ ผ่านการอบรมที่เข้มข้น จนถึงวันที่ปฏิบัติหน้าที่สำคัญรับใช้ชาติอย่างภาคภูมิใจ

นาย ไดสุเกะ ยามาชิตะ เจ้าหน้าที่การทูต วัย 45 ปี สังกัดงานสนธิสัญญา งานส่วนใหญ่เกี่ยวกับสนธิสัญญาทางทะเลและอากาศ เป็นล่ามนักการทูตภาษาโปแลนด์ตั้งแต่ปี 2017 ขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่ล่ามระดับสูงในการเจรจาระดับผู้นำประเทศ ก่อนเข้าทำงานกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เคยเกี่ยวข้องกับภาษาโปแลนด์เลย จบมหาวิทยาลัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วไปเรียนต่อที่อังกฤษด้านการดนตรี แล้วมาเกี่ยวข้องกับภาษาโปแลนด์ได้อย่างไร “ระหว่างอยู่ที่อังกฤษ มีโอกาสไปเที่ยวยุโรปตะวันออก ได้พบว่าเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ยาวนาน”

ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น มีล่ามนักการทูต 110 คน ของ 32 ภาษา มีคนที่มาเริ่มเรียนภาษานั้น ๆ เมื่อเข้าทำงานที่กระทรวงแล้วไม่น้อย

การเข้าเป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศแบ่งกว้างๆ เป็น 3 ประเภท คือ เจ้าหน้าที่สายวิชาชีพ(キャリア)เจ้าหน้าที่สายเฉพาะ(専門職員)เช่น ด้านภาษา อาณาบริเวณศึกษา เป็นต้น และ เจ้าหน้าที่ทั่วไป(一般職)

เจ้าหน้าที่สายวิชาชีพและเจ้าหน้าที่สายเฉพาะ ต้องฝึกฝนความชำนาญด้านภาษา ซึ่งก็คือ “ว่าที่นักการทูต” ในอนาคตนั่นเอง เรียกกันว่า “สายจีน” “สายรัสเซีย” เป็นต้น

เจ้าหน้าที่สายวิชาชีพ เลือกเรียน 1 ภาษาจาก 7 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน รัสเซีย จีน อาหรับ (บางปีมีภาษาเกาหลี) ส่วนเจ้าหน้าที่สายเฉพาะ มี 40 ภาษา ให้เลือกตามความสนใจได้ 5 อันดับ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในขณะนั้น

เมื่อเข้าทำงาน ต้องไปเข้าค่ายที่ศูนย์ฝึกภาษาประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่วิชาชีพและสายเฉพาะเรียนต่ออีก 2 ปี และ 1 ปีตามลำดับ ก่อนจะถูกส่งไปฝึกที่ต่างประเทศ ทุกคนต้องทำงานประจำที่หน่วยงาน และใช้เวลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เรียนภาษาด้วย ต้องท่องจำรูปประโยคให้ขึ้นใจ ออกเสียงให้ถูกต้องไม่มีเพี้ยน ครั้งละ 20 ประโยค สัปดาห์ละ 2 ครั้ง คือ 40 ประโยค ต้องสอบให้ผ่าน นับเป็นช่วงเวลา “สุดโหด” ทีเดียว

การทำงานปีแรกมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มากมายอยู่แล้ว ต้องทำงานล่วงเวลา และตั้งใจฝึกภาษา ใน 1 ปี ต้องจำให้ได้ 800 ประโยค บางทีต้องท่องจำในรถไฟบ้าง วันที่งานยุ่ง กลับบ้านด้วยรถไฟเที่ยวสุดท้ายก็ยังเข้านอนไม่ได้ ต้องฝึกภาษาให้ขึ้นใจ เวลาผ่านไป 1 ปี เพิ่งเข้าสู่การเรียนขั้นพื้นฐานเท่านั้น

พอเรียนจบในประเทศ ก็ใช้พื้นฐานที่เรียนมา ไปฝึกที่ต่างประเทศ โดยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือบัณฑิตวิทยาลัยในประเทศที่ใช้ภาษานั้นเป็นเวลา 2-3 ปี แล้วแต่ภาษา คราวนี้ไม่ต้องทำงานประจำเหมือนตอนอยู่ในญี่ปุ่น แต่ใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มที่

นาย ยามาชิตะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของโปแลนด์ ก่อตั้งปี1364 ปีแรกเรียนคอร์สสำหรับนักเรียนต่างชาติ ปีที่สอง เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการงานในสาขา

พอเรียนจบ 2 ปี ก็เข้าทำงานที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำโปแลนด์ เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกกดดันมาก ต้องฝึกฝนด้านการงาน และใช้ภาษาโปแลนด์ให้คล่องแคล่ว คำนามในภาษาโปแลนด์มีทั้งเพศชาย เพศหญิง ไม่มีเพศ เอกพจน์ พหูพจน์ ส่วนคำวิเศษณ์ก็มีการผันรูปคำด้วย นับว่ายากมากทีเดียว เมื่อมีเวลาว่างต้องออกไปเรียนรู้และสัมผัสชีวิตผู้คน ฝึกการสนทนาและการเป็นล่ามให้เชี่ยวชาญ

กว่าจะถึงวันที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา” และปฏิบัติงานล่ามได้ ไม่ง่ายเลย นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับนักการทูต แต่ไม่มีเงินพิเศษแต่อย่างใด

เริ่มปฏิบัติหน้าที่ล่ามของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วจึงค่อยๆเลื่อนขั้นเป็นล่ามของรัฐมนตรีต่างประเทศและนายกรัฐมนตรี นาย ยามาชิตะปฏิบัติงานหน้าที่ล่ามมากว่า 50 ครั้งแล้ว ผู้รู้ภาษาโปแลนด์มีไม่มาก จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ล่ามในการประชุมระดับผู้นำประเทศบ่อยครั้ง

นาย อัทสึยูกิ ฟุจินุมะ วัย 38 ปี ประจำกรมอเมริกาเหนือ กองสนธิสัญญาญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา เข้าทำงานปี 2006 และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษาอังกฤษเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นการประชุมระดับผู้นำประเทศ

เดือนเมษายน ปี 2021 นายโยชิฮิเดะ สุงะ(菅義偉)อดีตนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา พบกับนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นาย ฟุจินุมะปฏิบัติหน้าที่ล่ามการประชุม และมีการสนทนาสองต่อสอง(テタテหรือ tete-a-tete)ของผู้นำด้วย

นายไบเดน ได้เชิญนาย สุงะ เข้าไปที่ห้องอาหารข้างห้องทำงาน ในห้องประดับภาพถ่ายของครอบครัว นาย ไบเดน อธิบายภาพถ่ายภรรยา ลูกชายทีละภาพอย่างเป็นกันเอง บรรยากาศอบอุ่น ส่วน นาย สุงะ ได้กล่าวรำลึกถึงการที่นาย ไบเดน ได้เยือนเซนได และให้กำลังใจครอบครัวผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เป็นที่ประทับใจของชาวญี่ปุ่น

ปี 2015 นาย ชินโซ อาเบะ(安倍晋三)อดีตนายกรัฐมนตรีได้พบกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่ตุรกี ประเทศทั้ง 2 มีความสัมพันธ์อันดี มีความร่วมมือกันในหลายด้าน ขณะสนทนามีการหยิบยกเรื่อง “การล่าปลาวาฬ” ญี่ปุ่นมีการล่าปลาวาฬ แต่ออสเตรเลียไม่เห็นด้วย จึงเป็นสถานการณ์ที่ยากสำหรับล่าม “เราต้องรู้ลึก รวดเร็ว ระมัดระวังผลประโยชน์ของชาติ สื่อสารให้เข้าใจจุดยืนของญี่ปุ่นอย่างถูกต้อง เลือกใช้คำศัพท์อย่างชาญฉลาดและสุภาพ ไม่ทำให้เกิดความขุ่นมัว ไม่ทำลายบรรยากาศ แต่ต้องสื่อความหมายที่ละเอียดอ่อนได้ครบถ้วน”

ล่ามทั้ง 2 บอกตรงกันว่า ความสำคัญคือ “ต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้า” ปี 2019 เจ้าชายอากิชิโนและเจ้าหญิงคิโกะ(秋篠宮ご夫妻)เสด็จเยือนโปแลนด์ นาย ยามาชิตะ ปฏิบัติหน้าที่ล่าม ที่ต่างจากการพบกันของผู้นำประเทศ เจ้าชายและเจ้าหญิงเสด็จสถานที่ต่างๆ ล่ามต้องไปดูสถานที่จริงและเตรียมการล่วงหน้า ทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆที่จะพบเห็นทั้งดอกไม้ นก รูปหล่อโลหะต่างๆที่จะทรงสนพระทัย ค้นคว้าคำศัพท์ภาษาโปแลนด์ที่เกี่ยวข้องไว้ ไม่มีสคริปต์ล่วงหน้า

นาย ฟูจินุมะ เล่าเรื่องที่ตัวเองทำเปิ่น คือ เมื่อนาย ชินโซ อาเบะ เยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านผู้นำอีกฝ่ายพูดอะไรที่ฟังคล้ายภาษาของประเทศนั้น แต่แท้จริงแล้วเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงท้องถิ่นทำให้เข้าใจยาก เข้าใจเพียง 30% ซึ่งน่าจะทำให้การปฏิบัติงานขลุกขลัก แต่การเตรียมการและศึกษามาล่วงหน้าจึงสามารถแปลได้ลุล่วง ได้รับคำชมจาก นาย อาเบะ ด้วย

อันที่จริงแล้ว บางครั้งนายกรัฐมนตรีก็อาจรู้สึกโดดเดี่ยวได้ เช่น ในงานเลี้ยงที่เป็นทางการ ข้างตัวไม่มีใคร บางทีไม่มีหัวข้อสนทนา เจ้าหน้าที่ล่ามต้องทำหน้าที่เหมือนเลขาฯ แอบกระซิบบอกท่านว่า “ลองคุยเรื่องนั้นดูไหมครับ” ท่านอาจไม่เห็นด้วย แต่หน้าที่ของล่ามไม่เพียงทำให้การสนทนาราบรื่นเท่านั้น บางครั้งก็ต้องช่วยเรื่องอื่นนอกจากการสนทนาด้วย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทุกอย่างต้องจัดการอย่างรวดเร็ว การเจรจาทางการทูตแบบพบหน้ากันลดน้อยลง เป็นการสนทนาทางออนไลน์หรือโทรศัพท์มากขึ้น การฟังเพียงคำพูดนั้นยากต่อการจับความรู้สึกของอีกฝ่าย แต่ต้องแปลให้ครบถ้วน พลาดไม่ได้เลย ล่ามจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง

ความมีคุณภาพอย่างหนึ่งของการต่างประเทศญี่ปุ่นจึงมี “ผู้อยู่เบื้องหลัง”

…กว่าจะเป็นล่ามนักการทูตที่ญี่ปุ่นภูมิใจ