กรองกระแส/ผีแห่งการเลือกตั้ง กำลังหวนมาหลอกหลอน แผน “ไม่” เลือกตั้ง

กรองกระแส

ผีแห่งการเลือกตั้ง กำลังหวนมาหลอกหลอน แผน “ไม่” เลือกตั้ง

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แตกต่างจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และแตกต่างจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 อย่างน้อยก็ 2 ประการสำคัญ

1 หัวหน้า คสช. เข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี”

นี่ย่อมแตกต่างไปจากรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ที่มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ นายอานันท์ ปันยารชุน นี่ย่อมแตกต่างไปจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่มอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

1 คสช. ไม่กำหนดเวลาอย่างแน่ชัดว่าจะมี “การเลือกตั้ง” เมื่อใด เพียงแต่บอกเป็นนัยๆ ผ่านบทเพลงสำคัญว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน”

ตรงกันข้ามกับรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ที่ นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงอยู่ในสภาพอันเป็นรัฐบาลชั่วคราว ตรงกันข้ามกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงอยู่ในสภาพอันเป็นรัฐบาลชั่วคราว

เดือนเมษายน 2534 ก็มีการเลือกตั้ง เดือนธันวาคม 2550 ก็มีการเลือกตั้ง

แต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างแน่ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ที่เคยประกาศก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

รัฐประหาร 2501

รัฐประหาร 2520

เหมือนกับว่ารัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จะได้พิมพ์เขียวหลายประการมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ที่นำโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

อาจเพราะ “มือกฎหมาย” มีบทเรียนอย่างจำหลักหนักแน่น

การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จึงดำเนินไปเหมือนกับถอดประสบการณ์และความจัดเจนมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 แต่ได้เพิ่มความเข้มมากยิ่งขึ้นเพราะผ่านบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 และหวาดพรั่นต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

การพิจารณาเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจสะท้อนยุทธศาสตร์การรวบและสืบทอดอำนาจอย่างค่อนข้างเด่นชัด

เห็นได้จากการกำหนดในเรื่อง 1 ส.ว. และ 1 ในเรื่องเลือกตั้ง

เป้าหมายเด่นชัดว่าต้องการให้หลักประกันว่าผลการเลือกตั้งจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เมื่อประสบเข้ากับ ส.ว. อันมาจาก “การลากตั้ง” ก็เท่ากับรับรองว่า “อำนาจ” อยู่ในกำมือแน่

กระนั้น เพื่อความแน่นอนและมั่นคงยังวางกรอบ “เผด็จอำนาจ” ต่อไปอย่างเบ็ดเสร็จ

ผ่านองค์กรอิสระ ผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ ผ่านคณะกรรมการปฏิรูป เพื่อมิให้อำนาจหลุดรอดไปอยู่กับกลุ่มอื่น อำนาจอื่น

นี่เท่ากับใช้ความจัดเจนจากการเผด็จอำนาจจากรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501

อำนาจเบ็ดเสร็จ

ใต้กฎแห่ง “อนิจจัง”

หากนำเอาบทเรียนและความจัดเจนจากรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501 ประสานเข้ากับรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 คล้ายกับว่าหลักประกันแห่งการยึดครองและสืบทอดอำนาจดำเนินไปอย่างร้อยละร้อย

แต่มีจุดๆ หนึ่งซึ่งอาจกลายเป็น “ตัวแปร” ขึ้นมา

นั่นก็คือ กระบวนการของการเลือกตั้งซึ่งแม้จะวางกฎ กติกา เป็นกรอบในการจำกัดต่อพรรคการเมืองอย่างไรแต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถควบคุมและบงการได้เบ็ดเสร็จ

โดยเฉพาะหลังจากประชาชนได้ลิ้มรสจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

โดยเฉพาะหลังจากประชาชนได้ลิ้มรสจากชัยชนะอย่างต่อเนื่องภายในกระบวนการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย

รูปธรรมก็คือ มีผู้กำชัย มีผู้พ่ายแพ้อย่างเด่นชัด

ชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นอย่างไร ชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นอย่างไร ชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 เป็นอย่างไร และชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นอย่างไร

ล้วนเป็นของ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย

การเลือกตั้งจึงกลายเป็นปัจจัย 1 ซึ่งดำเนินไปในลักษณะอันเป็น “ตัวแปร” ที่อำนาจเบ็ดเสร็จจากกระบวนการรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะควบคุมได้

นี่คือความละเอียดอ่อนทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ในที่สุด ผีเลือกตั้ง

ก็หวนกลับมาหลอน

ลึกๆ แล้วบรรดา “กองเชียร์” รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งและปรารถนาที่จะเดินตามยุทธศาสตร์และความสำเร็จจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

ซึ่งกว่าจะมีการเลือกตั้งก็เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512

หลังรัฐประหารใหม่ๆ “กองเชียร์” ทั้งหลายต่างออกมาเสนอยุทธศาสตร์อยู่ยาวโดยไม่มีการเลือกตั้ง พวกเขาฮึกห้าวถึงกับพูดออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านมา 3 ปี ความมั่นใจที่จะไม่ให้มี “การเลือกตั้ง” ก็เริ่มอ่อนแรงหมดพลังตามลำดับ

“การเลือกตั้ง” กำลังกลายเป็น “ผี” และกำลังหลอกหลอน หนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้น