สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนกับเศรษฐกิจโลก/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนกับเศรษฐกิจโลก

 

เมื่อผมส่งคอลัมน์เรื่องสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนไปให้อดีตลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งทำงานหน่วยราชการด้านเศรษฐกิจการค้าพร้อมแสดงความกังวลเรื่องผลสะเทือนต่อการค้าโลกของมันตอนต้นเดือนเมษายนศกนี้ เธอตอบกลับมาว่าตอนนั้นไข่ไก่ก็ขึ้นราคาไปเรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายความว่ากับข้าวพื้นบ้านประจำครัวเรือนของเราอย่างไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ต้ม ไข่พะโล้ ฯลฯ ย่อมต้องพลอยถูกกระทบไปด้วยแน่นอน

สงครามคนละซีกโลกที่กระแทกมาถึงโต๊ะกินข้าวบ้านเราเป็นอีกด้านของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. อันออกแบบมาในกรอบรูทีนราชการประจำตามความเคยชินคิดไปไม่ถึง

จึงน่าใส่ใจสดับตรับฟังว่านักวิเคราะห์วิจารณ์เศรษฐกิจโลกผู้มีชื่อให้ความเห็นเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง

มาร์ติน วูล์ฟ หัวหน้านักวิจารณ์เศรษฐศาสตร์แห่ง น.ส.พ. Financial Times ของอังกฤษ & อาดัม ทูซ ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐ

คนแรกคือ Martin Wolf รองบรรณาธิการและหัวหน้านักวิจารณ์เศรษฐศาสตร์แห่ง น.ส.พ. Financial Times ของอังกฤษ ซึ่งให้สัมภาษณ์ Marc Filippino ในรายการ News Briefing ทาง podcast รายวันของ Financial Times เมื่อ 30 มีนาคมศกนี้ว่าสงครามของปูตินส่งผลกระทบปั่นป่วนเศรษฐกิจโลกอย่างไร

วูล์ฟอธิบายภาพรวมเศรษฐกิจโลกว่าตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามครั้งนี้ มันก็ถูกถล่มโจมตีจากโควิด-19 ระบาดอย่างหนักและต่อเนื่องอยู่แล้ว ถึงขั้นที่เศรษฐกิจโลกประสบภาวะถดถอยดิ่งลึกในปี ค.ศ.2020 ตามมาด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแรงมาก แต่ก็ไม่สม่ำเสมอยิ่งในนานาประเทศเช่นกัน

แล้วก็มาเจอกับช็อกใหม่ครั้งนี้อีก ซึ่งสร้างความยุ่งยากโกลาหลให้แก่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จริงๆ โดยเฉพาะตลาดพลังงานและอาหาร ส่งผลให้ระดับราคาเฟ้อสูงขึ้น นั่นแปลว่าสำหรับประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน กับอาหารสุทธิ ทั้งประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจนอีกมากหลาย ผลกระทบจะหนักหนายิ่ง ผู้คนจะยากไร้ขัดสนลง ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

ฉะนั้นก็คาดได้เลยว่าเงินจะเฟ้อเพิ่มขึ้นและผลผลิตจะลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจไม่ลดฮวบลงขนาดปี ค.ศ.2020 แต่น่าจะลากยาวนานกว่า นับเป็นอาการช็อกทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ทีเดียว

รัฐบาลและธนาคารกลางนานาชาติอาจช่วยรับมือผ่อนเบาภาวะช็อกครั้งนี้ได้อย่างไรบ้าง? วูลฟ์เกรงว่าธนาคารกลางนั่นแหละอาจเป็นตัวการให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะสิ่งที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญคือ ติดกับ stagflation (เศรษฐกิจชะงักงันแต่เงินเฟ้อ https://www.bangkokpost.com/business/2278727/is-stagflation-looming-) เหมือนในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 กล่าวคือ สงครามปูตินช็อกเศรษฐกิจโลกจนผลผลิตลดลง แต่ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าข้าวของกลับเฟ้อขึ้นในระดับที่ไม่เคยพบเจอนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา

ในสถานการณ์เยี่ยงนั้น ธนาคารกลางทั้งหลายจะถูกบีบให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เงินตึงเข้าไปอีก แทบจะแน่ใจได้เลยว่านั่นจะส่งผลกระทบเชิงลบพอควรต่อตลาดทุนและตลาดสินทรัพย์อย่างอื่นรวมทั้งที่อยู่อาศัย

สำหรับประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วนั้น เป็นโชคดีที่การคลังภาครัฐยังพอมีเงินจับจ่ายใช้สอยอยู่ แต่พวกเขาคงไม่อยากใช้จ่ายเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาได้ทุ่มเทงบประมาณรับมือโควิด-19 และบรรเทาผลกระทบไปมหาศาล และคงรู้สึกกันว่าใช้กระสุนงบฯ คลังสิ้นเปลืองไปมากแล้ว

วูล์ฟจึงเสนอแนะให้พุ่งเป้างบฯ คลังไปเกื้อหนุนคนยากไร้ที่สุดเป็นหลัก เพราะคนเหล่านี้นี่แหละจะโดนกระทบหนักหนาสาหัสที่สุดจากราคาพลังงานและอาหารที่แพงหูฉี่ขึ้น อย่างไรก็ตาม คงหลีกหนีความจริงไปไม่พ้นว่าในที่สุดจะมีคนมากหลายสูญเสียรายได้จริงไปในเศรษฐกิจช็อกจากสงครามรอบนี้ซึ่งเหลือวิสัยรัฐบาลจะชดเชยผลกระทบให้หมดได้

แต่เปรียบเทียบกันแล้ว วูล์ฟเห็นว่ายังมีช่องทางการคลังพอจะผ่อนเพลาผลร้ายทางเศรษฐกิจได้มากกว่าใช้ลู่ทางด้านนโยบายการเงิน

ส่วนอีกคนคือ Adam Tooze ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ยุโรปแห่งมหาวิทยาลัย Columbia มลรัฐนิวยอร์ก เจ้าของผลงานโดดเด่นที่เชื่อมโยงเหตุใหญ่ทางประวัติศาสตร์เข้ากับมิติเศรษฐกิจของมัน อาทิ The Wages of Destruction : The Making and Breaking of the Nazi Economy (ค.ศ.2006), The Deluge : The Great War, America and the Remaking of the Global Order, 1916-1931 (2014), Crashed : How a Decade of Financial Crises Changed the World (2018), และล่าสุด Shutdown : How Covid Shook the World’s Economy (2021)

เขาได้ให้สัมภาษณ์ Paul Solman ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกของสงครามในยูเครนในรายการ PBS Newshour ของอเมริกาเมื่อวันที่ 31 มีนาคมศกนี้ว่าสิ่งที่น่าวิตกในการณ์นี้คือเรื่องพลังงานอันได้แก่ ก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันและอาหาร ว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นและอาจขาดแคลนเพราะรัสเซียเป็นซัพพลายเออร์หลักของก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันให้หลายพื้นที่ของโลก ขณะที่รัสเซียกับยูเครนเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีจำนวนมากสู่ตลาดโลก

ทูซชี้ว่า 1) ภาวะช็อกจากสงคราม 2) ความไม่แน่นอนของบรรดาตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันซึ่งอุปทานค่อนข้างตึงตัวมากอยู่แล้ว 3) การที่ทะเลดำอันเป็นช่องทางขนส่งข้าวสาลีหลักจากรัสเซียกับยูเครนกลายเป็นสมรภูมิทางนาวีย่อมทำให้อุปทานสินค้าพลังงานและอาหารดังกล่าวสะดุดหยุดลง และ 4) สภาพการณ์ที่ว่านี้ย่อมยั่วใจฝูงนักเก็งกำไรทั้งหลายที่คาดว่าสินค้าเหล่านี้จะขาดแคลนในอนาคตให้เข้าตลาดมาซื้อเก็บกักตุนไว้ ดึงราคาสูงซ้ำเติมขึ้นไปอีก

ปัญหาเหล่านี้ย่อมเกิดไม่แต่กับประเทศร่ำรวยเท่านั้น แต่ที่ร้ายแรงกว่าคือจะเกิดกับประเทศรายได้ต่ำทั้งหลายด้วย โดยเฉพาะที่เสียเปรียบขาดแคลนต้องนำเข้าอาหาร/พลังงานขนานใหญ่อยู่ก่อนแล้ว อาทิ เอธิโอเปีย อียิปต์ แทนซาเนีย เคนยา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้จะตกอยู่ในฐานะสุ่มเสี่ยงอันตรายยิ่ง อาจถึงขั้นเกิดภาวะ stockout หรือสินค้าหมดเกลี้ยงสต๊อก อุปทานสินค้าสะดุดหยุดลง เช่นกรณีที่ทั้งประเทศขาดแคลนเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ซึ่งในประเทศรายได้ต่ำทั้งหลาย ดีเซลไม่เพียงใช้เติมรถยนต์เท่านั้น แต่ยังใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองไว้เติมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยในยามโครงข่ายไฟฟ้าเกิดขัดข้อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เปรียบกันไปแล้ว ทูซประเมินว่าผลกระทบต่อสถานการณ์อาหารของโลกจากสงครามในยูเครนน่ากลัวกว่าที่เกิดต่อสถานการณ์พลังงาน เพราะรัสเซียกับยูเครนร่วมกันส่งออกข้าวสาลีเกือบ 30% ของอุปทานข้าวสาลีทั่วโลก รวมทั้งส่งออกน้ำมันพืชเป็นสัดส่วนใหญ่มากอันจำเป็นสำหรับการประกอบอาหาร ในอินเดียเป็นต้น กล่าวเฉพาะน้ำมันเมล็ดทานตะวันนั้น 80% ที่ใช้กันในโลกมาจากเขตทะเลดำ

สรุปว่ามีเหตุอันหนักหน่วงจริงจังให้วิตกว่าประเทศรายได้ต่ำทั้งหลายโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออก-กลาง แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้ ทะเลทรายซาฮาราลงมา จะมีเงินพอจ่ายซื้อสินค้าอาหารเข้าประเทศตลอดรอดฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ไปจนจรดฤดูหนาวหรือไม่นั่นเทียว

 

อเมริกานั้นจะลำบากหน่อยก็แต่เรื่องตลาดน้ำมัน ส่วนเศรษฐกิจรัสเซียจะยากเข็ญกว่าเนื่องจากมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐกับพันธมิตร โดยเฉพาะที่โดนถล่มโจมตีหนักที่สุดคือการประกาศแซงก์ชั่นธนาคารกลาง/ธนาคารแห่งชาติรัสเซียนั่นเอง อันเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ในอดีตอเมริกาเคยแซงก์ชั่นธนาคารกลางบางประเทศอยู่เหมือนกัน อาทิ ธนาคารกลางของอิหร่าน และเวเนซุเอลา แต่ความแตกต่างสำคัญอยู่ที่ขนาดและเงินทุนที่เกี่ยวข้อง การแซงก์ชั่นธนาคารกลางรัสเซีย เป็นเรื่องใหญ่กว่ามากในฐานที่รัสเซียเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม G 20 ของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีฐานะบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก (What is the G20? https://www.global-solutions-initiative.org/the-g20-t20/) รัสเซียมีฐานะดีด้วยทุนสำรองเงินตราต่างประเทศถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นอย่างน้อย มาตรการแซงก์ชั่นดังกล่าวทำให้เงินทุนสำรองของรัสเซียถูกแช่แข็งแบบเหมารวมอยู่ในนิวยอร์กและศูนย์การเงินอื่นๆ ในยุโรป

นี่เท่ากับทุบเปรี้ยงลงไปตรงระบบการเงินและสกุลเงินรูเบิลของรัสเซีย คำถามร้อนลวกใจเฉพาะหน้า คือตกลงฝ่ายตะวันตกจะเดินหน้าแซงก์ชั่น ปิดกั้น บอยคอตการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในจังหวะก้าวถัดไปหรือไม่ ซึ่งยังไม่แน่ชัด

ส่วนการพุ่งเป้าแซงก์ชั่นแบบผ่าตัดใส่แก๊งคณาธิปัตย์รัสเซียวงในที่แวดล้อมประธานาธิบดีปูตินอยู่เพื่อกดดันให้ทางการเครมลินเปลี่ยนแนวนโยบายสงครามนั้น แม้จะเป็นมาตรการยอดนิยมฮือฮา แต่เอาเข้าจริงคงหวังผลอะไรได้ยาก เนื่องจากการเมืองเรื่องช่วงชิงอำนาจในรัสเซียนับแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา หลังปูตินเล่นงานไล่ล่าจับกุมนายทุนขุนโจรพลังงาน มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี แห่งบริษัทน้ำมันยูคอสเมื่อปี 2003 แล้ว (https://mgronline.com/around/detail/9580000140839) พวกคณาธิปัตย์ฝ่ายค้านปูตินก็ล่มสลายทางการเมืองไป

หากพวกนี้ยังมีอำนาจอยู่ ปูตินย่อมไม่อาจทำสงครามรุกรานยูเครนแน่นอน เพราะขัดผลประโยชน์คนเหล่านี้

 

ทูซตบท้ายด้วยการฉายภาพกว้างออกไปยังระบบเศรษฐกิจการค้าโลก เขาชี้ว่าเรากำลังประสบพบเห็นการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจโลกใหม่ สงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครนครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพลังต่างๆ เป็นชุดซึ่งกว้างขวางกว่าที่กำลังปรับรูปแปลงโฉมโลกาภิวัตน์เสียใหม่

ในกระบวนการดังกล่าว ปัจจัยที่มูลฐานกว่าสงครามครั้งนี้คือความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เรากำลังจะได้เห็นโลกาภิวัตน์ในแบบวิถีหรือคีย์ใหม่ ซึ่งดำเนินไปในแนวทางการเมืองใหม่โดยปราศจากความใฝ่ฝันทะยานอยากเชิงวัฒนธรรมที่จะนำไปสู่การบรรสานสอดคล้องหรือบรรจบเข้าด้วยกันดังที่เคยคาดหวังกันมา ซึ่งมาถึงตอนนี้ความใฝ่ฝันที่ว่าก็ฟังค่อนข้างกลวงเปล่าเหลวไหลเสียแล้ว

นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติ สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ชาวยุโรปซื้อหาบริโภคก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจะยังดำเนินอยู่อย่างยืดหยุ่นคงทนแม้ในยามที่รัสเซียกำลังยิงถล่มเมืองต่างๆ ของยูเครนอยู่ก็ตาม

ทว่า เรามิพึงเสแสร้งว่าสายสัมพันธ์นั้นจะดลบันดาลสันติภาพถาวรให้เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตกอีกแล้ว