ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ให้ “สูตรสำเร็จในชีวิต” ไว้ข้อหนึ่ง

“อโสกํ” แปลว่าจิตไม่เศร้าโศก

โดยอรรถาธิบายความไว้ว่า

 

“…ความจริงจิตไม่เศร้าโศก จิตบริสุทธิ์ จิตเกษมปลอดภัย เป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น

สำหรับปุถุชน ยังไงๆ ก็ยังต้องเศร้าโศกอยู่

เพราะฉะนั้น พระบาลีบางครั้งจึงเรียกปุถุชนว่า ‘โสกี ปชา’ (เหล่าสัตว์ผู้ยังต้องโศกเศร้าอยู่)…

แต่ก็มิได้หมายความว่า จะต้องร้องห่มร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่าตลอด 24 ชั่วโมง

ยังมีเวลาที่จิตใจผ่องใสเบิกบาน ไม่โศกไม่เศร้าเป็นครั้งคราว หรือหลายครั้งหลายคราว

ผู้รู้ท่านว่ามีวิธีปฏิบัติมิให้จิตเศร้าโศกเมื่อคราวเผชิญกับความผันผวนของชีวิตอยู่ 2 วิธี

คือ ให้เจริญมรณัสสติ คือพิจารณาถึงความตายไว้เสมอๆ ว่า ชีวิตเราไม่ยั่งยืน เกิดมาแล้วไม่กี่ปีก็จะตาย ความตายต่างหากที่ยั่งยืน เมื่อนึกถึงความตายบ่อยๆ จะเข้าใจความจริงของชีวิต ไม่ประมาทในชีวิต โลภโมโทสันก็จะลดลง

ความอยากได้อยากเอาก็จะเบาบางลง

วิธีที่สองคือ ให้เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน

ถึงขั้นนี้แล้วรับรองไม่เศร้าไม่โศก”

 

อาจารย์เสฐียรพงษ์ยังเล่าเรื่องคน 5 คนเจริญมรณัสสติจนเข้าถึงความจริงของชีวิตไว้ว่า

วันหนึ่งพ่อกับลูกชายคนโตของครอบครัวไปนา

ขณะที่พ่อไถนาอยู่ ลูกชายถูกงูกัดตาย

พ่อวางคันไถ อุ้มศพลูกชายวางไว้ที่คันนา สั่งคนไปบอกภรรยาว่า วันนี้ให้นำอาหารไปให้พอสำหรับคนเดียว

ภรรยารู้ว่าคงเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย

จึงชวนลูกสะใภ้ ลูกสาวคนเล็กและคนใช้ไปด้วย

ไปถึงต่างคนต่างก็ช่วยกันหาไม้มาก่อเป็นเชิงตะกอนยกศพขึ้นเผาด้วยใบหน้าอันสงบ

ไม่มีใครเศร้าโศกเสียใจเลย

ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ปลอมเป็นพราหมณ์เฒ่า เข้ามาถามว่า ทำไมไม่มีใครร้องไห้เสียใจสักคน คนที่ตนรักตายไปทั้งคน

ผู้เป็นพ่อกล่าวตอบว่า ลูกชายฉันตายไปก็เหมือนกับงูลอกคราบเก่าทิ้งไป

เขาไปตามทางของเขาแล้ว ไม่รับรู้ว่าญาติพี่น้องเขาคร่ำครวญหวนไห้ถึงหรือไม่

เราคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้

ผู้เป็นแม่กล่าวว่า เวลาเขามา เราก็มิได้เชิญเขามา

เวลาเขาไป เขาก็มิได้บอกเรา

เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ถึงเราร้องไห้ถึงเขา เขาก็ไม่รู้

ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้

ภรรยาเขากล่าวว่า คนที่ร้องไห้ถึงคนตายไม่ต่างอะไรกับเด็กร้องไห้อยากได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ (คือโง่พอกัน)

ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้

น้องสาวเขากล่าวว่า ถ้าฉันมัวแต่ร้องไห้ถึงเขาก็จะผ่ายผอมไปเปล่าๆ

เขาไม่รู้เห็นดอกว่าญาติมิตรเศร้าโศกถึงเขา

ฉันคิดดังนี้ จึงไม่ร้องไห้

คนใช้พูดว่า หม้อที่แตกแล้วประสานใหม่ไม่ได้ นายฉันตายแล้วกลับคืนไม่ได้

ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้

อาจารย์เสฐียรพงษ์สรุปไว้ว่า คนที่เข้าใจชีวิตเขาจะไม่โศกเศร้าฟูมฟายเกินเหตุเมื่อถึงคราวพลัดพราก

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักวิชาการด้านศาสนาพุทธ ภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความ เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและข่าวสด ได้จากไป สิริอายุ 83 ปี

ในฐานะ “โสกี ปชา”—เหล่าสัตว์ผู้ยังต้องโศกเศร้าอยู่

เราก็ย่อมต้องเศร้าเสียใจเป็นธรรมดา

แต่สิ่งที่อาจารย์เสฐียรพงษ์ชี้แนะไว้ข้างต้น

คงทำให้เราตั้งรับการ “พลัดพราก” ได้ตามสมควร

มีสติ ไม่ฟูมฟายจนเกินไป

 

ส่วนผู้ที่ยังอยู่นั้น

ขอให้ใช้วาระ วัน “ผู้สูงอายุแห่งชาติ” และวัน “ครอบครัว”

ดูแลกันและกันให้ดี

ชุ่มชื่น ชุ่มฉ่ำ วันสงกรานต์ •