ไม่มีเชื้อชาติในดีเอ็นเอของมนุษย์ : อ่านดีเอ็นเอปฏิวัติ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ไม่มีเชื้อชาติในดีเอ็นเอของมนุษย์

: อ่านดีเอ็นเอปฏิวัติ

 

ในงานสัปดาห์หนังสือคราวที่ผ่านมานี้ ผมได้หนังสือดีเล่มหนึ่งมาจากบูธมติชน โดยเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับอะไรที่เรียกกันว่า “จีโนม” (genome) ซึ่งถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางการศึกษาพันธุศาสตร์ (genetics) ที่กำลังจะถูกนำมาใช้ในการยกระดับการศึกษาความเป็นมาและวิวัฒนาการของมนุษย์

และก็แน่นอนด้วยว่า ข้อมูลในการศึกษาจีโนมนั้น สามารถนำมาใช้ในการศึกษาทางด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ได้ด้วย

หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “ดีเอ็นเอปฏิวัติ” แปลมาจากหนังสือที่ชื่อ “Who We Are and How We Got Here” เขียนโดยนักพันธุศาสตร์ (geneticist) ชื่อดังอย่าง เดวิด ไรช์ (David Reich) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา แปลเป็นภาษาไทยโดยบัณฑิต (เกียรตินิยมเหรียญทอง) จากคณะโบราณคดีรุ่นเดียวกับผมอย่างก้อง พาหุรักษ์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

แต่ไม่ใช่ว่าผมอยากจะเขียนถึงหนังสือเล่มนี้เพราะเพื่อนของผมเป็นผู้แปลหรอกนะครับ ที่ผมอยากจะเขียนถึงเป็นเพราะนี่น่าจะเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการใช้จีโนม ในการศึกษาความเป็นมาในการแพร่กระจายของมนุษย์ไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก ที่อ่านเข้าใจง่ายที่สุดในโลกภาษาไทยแล้วต่างหาก

และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือข้อมูลในหนังสือยังช่วยย้ำเตือนว่า ความเชื่อว่าเราสามารถสืบหา “เชื้อชาติ” ได้จาก “ดีเอ็นเอ” นั้น เป็นเรื่องคนทั่วไปที่มักจะเข้าใจผิดกันไปเอง

 

กล่าวโดยสรุป “จีโนม” คือชุดของดีเอ็นเอทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของทุกๆ เซลล์ โดยจีโนมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้นจะมีขนาดของจีโนมที่แตกต่างกัน ส่วนสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันนั้น จะมีลักษณะของจีโนมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงมีคำเปรียบเปรยที่ว่า จีโนมนั้นก็คือแบบพิมพ์เขียว (blueprint) ของสิ่งมีชีวิต

ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบหาความแตกต่างจากจีโนมในตัวอย่างของมนุษย์โบราณ จึงเปรียบได้กับการเปรียบเทียบดูพิมพ์เขียวของซากโครงกระดูกเหล่านั้น แต่ดีเอ็นเอจากโครงกระดูกมนุษย์โบราณไม่สามารถบอกเรื่องเชื้อชาติ แต่บอกได้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ซึ่งต้องมีตัวอย่างจำนวนหนึ่งในการเปรียบเทียบ

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ สมมุติว่าเจอโครงกระดูก 10 โครงที่แหล่งโบราณคดี ก. บนที่สูง แล้วตรวจดีเอ็นเอ อาจสามารถบอกว่าโครงกระดูก 10 โครงนี้มีความสัมพันธ์กันไหม และเกิดมีการขุดค้นในแหล่งโบราณคดี ข. ใกล้ชายฝั่งทะเล เจอโครงกระดูกแล้วไปตรวจดีเอ็นเอ ปรากฏว่าโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดี ข. มีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดี ก. นั่นหมายถึงอาจจะมีการเคลื่อนย้ายไปมา เป็นต้น

การศึกษาเรื่องจีโนมในปัจจุบัน จึงช่วยเปิดเผยเรื่องการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ต่างหาก แถมยังเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา การศึกษาจีโนม โดยเฉพาะในดีเอ็นเอโบราณ เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประชากรอย่างที่เราคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการผสมข้ามพันธุ์ขนานใหญ่ การเข้าแทนที่ประชากรกลุ่มเดิม การแพร่กระจายข้ามถิ่น รวมถึงการแบ่งกลุ่มประชากร ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากทุกวันนี้

นักพันธุศาสตร์เรียกความสืบเนื่องในรายละเอียดต่างๆ ทาง DNA ในจีโนมว่า “สายเลือด” (ancestry) ซึ่งไม่ได้มีความหมายเหมือนคำว่า “เชื้อชาติ” (race) ไรช์อธิบายว่า คำว่าเชื้อชาติไม่มีความหมายเที่ยงตรงพอ แถมยังพ่วงประเด็นปัญหาจนไม่สามารถใช้งานได้ เพราะรังแต่จะสร้างความขัดแย้งที่หาข้อสรุปไม่ได้ โดยไรช์ได้กล่าวไว้อย่างชัดๆ ในหนังสือเล่มนี้ (ตามสำนวนแปลของคุณก้อง) เลยว่า

“ทุกวันนี้หลายคนเชื่อว่าเราสามารถจัดกลุ่มทางชีววิทยาของมนุษย์ออกเป็นกลุ่ม ‘บรรพกาล’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ แนวคิดนี้มีที่มาจากกลุ่มประชากรที่เคยแยกสายกันเมื่อหลายหมื่นปีก่อน แต่แนวคิดเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ ซึ่งยึดถือมานานนมนี้ก็เพิ่งถูกพิสูจน์ว่าผิดไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง ข้อมูลใหม่ที่เรามีตอนนี้แตกต่างอย่างมากจากมุมมองแบบคลาสสลิกที่นักมานุษยวิทยาพัฒนาขึ้นในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา”

ที่มาภาพประกอบ : http://www.matichonbook.com

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ในหนังสือดีเอ็นเอปฏิวัตินี้ ไรช์ได้ยกตัวอย่างของปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความคิดเรื่อง “เชื้อชาติ” โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “เชื้อชาติบริสุทธิ์” เอาไว้หลายตัวอย่าง

เช่น พวกนาซีเคยโฆษณาชวนเชื่อว่าพวกตนสืบสายเลือดบริสุทธิ์จากชาวอารยันที่พูดภาษาฮินโด-ยูโรเปียน และตั้งรกรากอยู่ในเยอรมนีมาช้านานแล้ว แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับจีโนมทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีพบว่า แท้จริงแล้วพวกนาซีมีบรรพชนอยู่นอกเยอรมนี และที่สำคัญคือเป็นกลุ่มชนอพยพจากทุ่งหญ้าสเตปป์ในรัสเซียเข้าไปอยู่เยอรมนีสมัยหลัง ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับข้อความโฆษณาชวนเชื่อของพวกนาซี

แต่ตัวอย่างสำคัญที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ก็คือ ตัวอย่างของคตินิยมฮินดูทวา (Hindudva, แนวคิดชาตินิยมขวาจัดในอินเดีย) ที่บอกว่า วัฒนธรรมอินเดียไม่เคยได้รับอิทธิพลสำคัญจากผู้อพยพจากนอกเอเชียใต้ (ซึ่งก็มักจะอ้างว่าคือ ชาวอารยัน ไม่ต่างจากที่นาซีอ้าง) ที่ถูกผลวิจัยที่มีไรช์เป็นหัวหน้าทีมท้าทายอย่างจงหนัก

ผลวิจัยของไรช์สรุปว่า ในช่วง 65,000 ปีที่แล้ว ได้มีมนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางออกจากแอฟริกาแล้วเข้ามาอยู่ในอินเดีย จนกลายเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่สุด

จากนั้นในช่วงระหว่าง 9,000-6,000 ปีที่แล้วก็เกิดการอพยพครั้งใหญ่โดยผู้คนจากบริเวณซากรอส (Zagros) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ซึ่งเป็นชนกลุ่มแรกในโลกที่รู้จักการเลี้ยงแพะ เข้ามาในอินเดีย พร้อมกับนำเทคโนโลยีการปศุสัตว์เข้ามาด้วย

คนกลุ่มหลังนี้เข้ามาที่เข้ามาอยู่ในอินเดีย ที่บริเวณเมืองโธลาวีระ รัฐคุชราต ที่ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และการผสมผสานระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้เองที่สร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุขึ้นมา

หลังจากนั้น ชาวอารยันจึงค่อยอพยพเข้ามาเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว พร้อมกับที่นำกิ่งหนึ่งของภาษาอินโด-ยูโรเปียนคือ ภาษาสันสกฤตในยุคแรก และความรู้ในการควบคุมม้า และขนบธรรมเนียมใหม่ๆ เช่น พิธีกรรมบูชายัญ อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมพระเวท ที่จะสืบทอดและกลายรูปมาเป็นศาสนาฮินดูในภายหลังเข้ามาด้วย

(งานวิจัยของไรช์ยังพบอีกด้วยว่า นอกจากชนทั้งสามกลุ่มข้างต้นแล้ว ยังมีผู้อพยพอีกหลายกลุ่มที่เดินทางเข้ามาในอินเดีย รวมถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก ที่เดินทางมาจากภูมิภาคอุษาคเนย์ของเราด้วย)

และนั่นก็หมายความว่า สายเลือดประมาณครึ่งหนึ่งของคนอินเดียในปัจจุบัน ได้รับมาจากการอพยพครั้งใหญ่หลายระลอกจากอิหร่านและทุ่งหญ้าสเตปป์ในยูเรเซียภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น

ซึ่งนี่ก็หนักแน่นพอที่จะทำให้รัฐบาลอินเดียชุดปัจจุบัน ที่นำโดยนเรนทระ โมดิ (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรี ที่มาจากพรรค BJP อันเป็นพรรคชาตินิยมฮินดูขวาจัดอย่างที่เรียกว่า ฮินดูทวา ถึงกับเต้นผางเลยทีเดียวนะครับ

 

ไรช์ยังได้สรุปย้ำถึงประเด็นเกี่ยวกับการศึกษาจีโนมของตนเอง เอาไว้ในหนังสือดีเอ็นเอปฏิวัติเอาไว้ด้วยว่า

“ประชากรเกือบทุกกลุ่มในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการผสมครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดขึ้นมาหลายพันหลายหมื่นปีก่อน การผสมข้ามกลุ่มเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ และไม่มีใครที่เป็นหรือสามารถอ้างได้ว่าเป็นสายเลือดบริสุทธิ์”

ดังนั้น อะไรที่เรียกว่า “ดีเอ็นเอ” (ซึ่งต้องศึกษาเปรียบเทียบยกแผงคือทั้งจีโนม) จึงไม่มีดีเอ็นเอของ “เชื้อชาติ” ไหนอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารยันในเยอรมนี หรืออินเดีย และนั่นก็ย่อมหมายถึงเชื้อชาติไทยด้วย •