บนหลุมโพรงประวัติศาสตร์-สหภาพอินโดจีน (1)/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

บนหลุมโพรงประวัติศาสตร์-สหภาพอินโดจีน (1)

 

สําหรับมุมมองเชิงปรัชญา

“ลัทธิคอมมิวนิสต์” นั้นช่างมีแง่งามไม่ต่างจาก “มโนคติแห่งมหามุทรา” ดังที่ท่านเชอเกียม ตรุงปะ คุรุธรรมาธรชาวทิเบตให้เป็นญาณทัสนะรวมไว้ อาจจะด้วยเวลานั้น หนุ่มสาวเสรีนิยมตะวันตกกำลังแสวงหาและไปสุดของคำตอบเชิงสังคมกับความสุขในส่วนตน

แนวคิด 2 ขั้ว เสรี-สังคมนิยมจึงเหมือนเงาสลัวที่ไม่เคยจมหาย แม้สงครามเย็นจะผ่านไปนานหลายทศวรรษ และเชอเกียม ตรุงปะ ก็เป็นผลพวงจากความทะเยอทะยานในลัทธิทั้งสองนี้ ตั้งแต่เมื่อจีนรุกรานทิเบต และนักบวชวชิรญาณชั้นริมโปเช-ตุลกูที่กลับชาติมาเกิด ก็เดินเท้าลี้ภัย จากอินเดียไปอังกฤษและจบที่อเมริกา ระหว่างทางเหล่านั้น สำหรับเชิงปัจเจกและยิ่งเมื่อท่านเป็นนักบวชด้วย จึงเต็มไปด้วยเรื่องพิสดาร

สำหรับศตวรรษ 20 ที่ท่านตรุงปะกล่าวว่า “เรื่องประชาธิปไตย ปัจเจกนิยม วีรชนเอกชนเป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยม” และสอดแทรกว่า “การรักษาสังคมที่ดีที่มนุษย์พึงมี คือการสร้างมรดกปัญญาญาณดั้งเดิม”

อย่างนั้นกระมัง เชอเกียม ตรุงปะ มรณกรรมไป 35 ปีแล้ว แต่ความทะเยอทะยานของจีนที่มีต่อทิเบตยังคงแน่วแน่มาจนบัดนี้ เหมือนกับที่รัสเซียแสดงความทะเยอยานต่อยูเครน

ถ้าคุรุตรุงปะยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะเห็นไหมว่า คติความทะเยอทะยานและการธำรงของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้ ช่างเป็นมหามุทราที่ไม่นิยมการปรับตัว

ต่างจากปัจเจกชนที่ถูกกระทำจากลัทธิดังกล่าว ที่พยายามค้นหาคำตอบแห่งความเหลือรอดชีวิตอย่างทแล้วกล้าให้ความหมายเชิงองค์รวมต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นเชอเกียม ตรุงปะ-นักบวชที่กลายเป็นคุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ ถึงผู้นำยูเครนคนนั้น นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อดีตนักแสดงตลก

เป็นความจริงที่ภาพลักษณ์ประวัติศาสตร์ของเชอเกียม ตรุงปะ ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ในอดีต และภาพลักษณ์ของเซเลนสกีก็ไม่ได้ดำรงอยู่แค่ปัจจุบัน มันยังเป็นประวัติศาสตร์ด้านอื่นของแง่มุมของรัสเซียหรือพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ติด “หล่มเงา” ความไม่สัมพันธ์

ไม่ต่างจาก “เวียดนาม-กัมพูชา” ที่เป็น “รนาสิล” ร่วมกันมาแต่ 3 ทศวรรษก่อนในนาม “สหภาพคอมมิวนิสต์อินโดจีน”

เครดิตภาพ : Cambodianess

ราวร่วมสมัยในคำนี้ที่มักปรากฏอย่างบ่อยครั้งในคอลัมน์ “อัญเจียแขมฺร์” แต่เราไม่อาจจะดึงความหมายนี้ออกมาได้ กระทั่ง “วิกฤตยูเครน” ที่รัสเซียก่อขึ้น พลันการล่มสลายของจักรวรรดินิยมโซเวียตที่เคยก่อเมล็ดพันธุ์ไว้บนฝั่งตะวันออกของไทย

โดยเฉพาะ “สหภาพอินโดจีน” ที่เวียดนามเคยมีบทบาทนำไม่ต่างจากที่อดีตสหภาพโซเวียตเคยประสบความสำเร็จ และโดยจริงแล้ว “สหภาพอินโดจีน” ก็ยังดำรงอยู่ได้ เว้นแต่กัมพูชาจากกรณี “7 มกรา 1979” ที่เวียดนามกรีธาทัพยึดกรุงพนมเปญ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลเฮง สัมริน-ฮุน เซน อาศัยเวทีนานาชาติจากการเจรจาเขมรสี่ฝ่าย เขมรจึงหลุดจาก “สหภาพอินโดจีน” ไปโดยปริยาย

แต่ “โพรงหลุมอันอ่อนไหว” นั้น ไม่เคยจะหายไป!

ไม่ว่าพรรคดาวทองจะประสบความสำเร็จในระบอบเสรีนิยมใหม่ที่ทำให้เวียดนามผงาดด้านการค้าและเศรษฐกิจ เทียบเท่าและนำหน้ากลุ่มประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ที่บ่งบอกว่าเวียดนามมีความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้นำ

ขณะเดียวกัน “สหภาพอินโดจีน” ก็ยังเป็นขนบเดิมที่ดาวทองไม่เคยจะลืมมัน สำหรับความสำเร็จแห่งอดีตในระบอบของจักรวรรดินิยมรัสเซีย

ที่แน่ล่ะ พวกเขาเคย “สหการ” กันมายาวนาน และผู้นำเขมรวันนี้ ก็คือคนกลุ่มนั้น ทำให้เข้าถึง “หลุมโพรงอ่อนไหว” แบบเดียวกับที่รัสเซียลืมยูเครนไม่ได้ แต่สำหรับกัมพูชาแล้ว วง “ภาคีกัมพูชา” ที่ดำเนินมา 6 ทศวรรษดูจะติดหล่มของความ “ว่างเปล่า”

กระนั้น ทั้งหมดดังกล่าวมันคือ “ความหนักอึ้งเหลือทน” ที่นักประวัติศาสตร์เขมรไม่เคยลืมได้ และเขามองมันอย่างหวาดระแวงเช่นใด?

เครดิตภาพ : Cambodia News English

จากจัมปาถึงอันนัม

ปลายสันดอนและที่ลุ่มแม่โขงหรือแม่น้ำแดงเคยเป็นอาณาจักรนครจัมปาอันยิ่งใหญ่ อย่างเหลือเชื่อเวียดนามได้พาย้อนไปอดีตนั้น และทำประหนึ่งว่าคือศูนย์กลางอำนาจแห่งตนเลสาบ ราวกับกระแสน้ำหมุนเวียนไหลกลับจากสันดอนแม่น้ำแดงถึงตนเลสาบ

และในอดีตนี่คือถิ่นฐานชนชาติมอย (mois), เมียว (meo), มอญ, ไท ฯลฯ อยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 เวียดนามเคยเรียกกันว่า “บักกี” หรือ”บักบู” ในชื่อแบบคอมมิวนิสต์

แต่เชื่อไหม แค่ต้องการสังเขปสหภาพอินโดจีน นักประวัติศาสตร์เขมรก็ย้อนไปถึงสมัยจัมปาหรือยุคจามเลยทีเดียวซึ่งมีราชธานีเดียวกับอาณาจักรวิชัยทางตอนใต้ของไทยคือ “วิชัย” (เขมรเรียก พิจัย/Vijaya) มีอาณาเขตครอบคลุม 2 แคว้นจากบินห์พันเทศถึงพันเทศ (Quang Phanthiet)

และว่า “ญวน” เพิ่งจะมีตัวตนขึ้นที่นี่!

กระทั่งราว ค.ศ.605-1470 เมื่อรุกรานจัมปาจนสำเร็จแล้ว แต่นั้น คำว่าญวนก็ถูกทดแทนด้วย “อันนัม” แต่ในภาษาที่ชาวญวนนิยมเรียกกันคือ “ตรวงคี” (troung ky) และมีราชธานีคือเว้

และจากบรรทัดนี้ไป ในแต่ละวรรคตอนที่นักวิทูเขมรเรียบเรียงจะเต็มไปด้วย “มรรควิธี” หรือกุศโลบายของฝ่ายอันนัมในการยึดครองจัมปาหรืออาณาจักรวิชัยในอิทธิพลของตนหรือขอมโดยทางวัฒนธรรมทั้งที่ก่อนหน้านั้น จัมปามักรุกรานอาณาจักรยุคกลางเหนือตนเลสาบเสมอ

ได้แต่ตั้งข้อสังเกต ในความหวาดระแวงที่มีต่อญวน, อันนัมหรือเวียดนามปัจจุบันของอาณาจักรกัมพูชา

ตัวอย่างในปี ค.ศ.1306 กษัตริย์ญวนได้ส่งนางเหงียน ตรัง (Huyen Tran) มาถวายกษัตริย์เขมร : พระบาทเฌมัน/Cheman และต่อมาได้สูญเสียดินแดนที่เรียกว่าแคว้นอูลีที่กว้างใหญ่ หรือ “ทู อัน หวา” (Thu An Hao) ที่ชาวเวียดนามเรียกกัน

และนี่จุดแรกที่ชาวเขมรที่ตั้งรกรากบนดินแดนแห่งนั้นพากันเรียกตัวเองว่า “กัมปูเจียกรอม” หรือชาวเขมรใต้ รวมทั้งเกาะ 22 เขต โดยเมื่อยึดครองสำเร็จแล้ว ชื่อเดิมเขมรทั้งหมดซึ่งปรากฏในสมัยอาณานิคม ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาเวียดนาม เมืองเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ทางเถรวาทและความเป็นเขมรใต้อดีตจัมปาที่น่าสนใจ

และเป็นเหมือน “สารตั้งต้น” ของความทะเยอทะยานใหม่ จากยุคอินโดจีนสู่ปัจจุบัน

อันนัมที่เคยพรักพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะแคว้นกัมพูชาใต้ที่มีวัฒนธรรมอันรุ่มรวยและภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการค้าและทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่ระดับ “พลวัต” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฝรั่งเศสอินโดจีน ตั้งแต่ยุคแรงงานทาสไปถึงยุคเครื่องจักร

และนั่นก็ผลักดันให้ฝรั่งเศสต้องผลิตภาษาเขียนเพื่อให้ชาวอันนัมได้เรียนรู้ และครั้งนั้นเองที่เวียดนามสามารถยกระดับตนเองทัดเทียมและเหนือกว่ากัมพูชาที่แม้จะมีภาษาเป็นของตัวเอง แต่ก็จำกัดเฉพาะนักบวช วรรณะอำมาตย์กษัตริย์ที่มักขัดแย้งผลประโยชน์กับนักปกครองฝ่ายอินโดจีน

เขมรจึงติดหล่มการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กว่าจะทะลุปัญหานี้ได้ก็เป็นช่วงปลายอาณานิคมไปแล้ว ขณะที่เวียดนามสามารถเรียนรู้และรับมือกับวิวัฒนาการใหม่ๆ ทางการเมือง

เครดิตภาพ : Cambodia News English

แต่นักวิทูชาวกัมพูชาไม่เคยมองเห็นข้อด้อยดังกล่าว พวกเขามุ่งไปที่จุดเริ่มต้นของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่เริ่มต้นโดยปัญญาชนเวียดนามไม่กี่คน และยกรื้อว่า ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปจนถึงขบวนการฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส (1921-1936) การมาถึงของเหงียน ซิญ กุง-โฮจิมินห์ ผู้ก่อให้เกิดขบวนการมีฟาม วันดุง ร่วมด้วยคือ “สมาคมยุวชนปฏิวัติเวียดนาม”

แต่เครื่องมืองที่ปลดแอกแท้จริงกลับเป็นวารสาร “thanh Nien” (ยุวชน) หลายปีต่อมาพนมเปญโดยคณะซึง ง็อกทันห์ ก็ก่อตั้ง “นครวัด” (Nagara Vatta : 1936) หนังสือพิมพ์ภาษาเขมรที่ก่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้กัมพูชา

หากวารสารยุวชนของเวียดนามคือฐานรากของลัทธิคอมมิวนิสต์ของปัญญาชนเวียดนามแล้ว เหตุใดหนังสือพิมพ์นครวัดที่ก่อตั้งโดยปัญญาชนกัมพูชากลับมุ่งไปอีกด้าน คือระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย?

นี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ! ในความต่างกันมากของสองชาตินี้ ทั้งที่โฮจิมินห์และซึง ง็อกทันห์ ต่างเติบโตและตกผลึกความคิดปฏิวัติจากการไปศึกษาต่อในยุโรปและกลับมาเคลื่อนไหวในเขตกัมพูชาใต้ เพียงแต่ซึง ง็อกทันห์ กลับมาทำงานให้เขมรและเถรวาท ส่วนโฮจิมินห์ซึ่งก่อตั้งพรรคปฏิวัติใหม่ที่ร่วมกับพรรคยุวชนปฏิวัติเวียดนาม

ทั้งนี้ ยังมีคณะกลุ่มต่างๆ ที่มีบทบาทสมัยเป็นนักโทษคุกเกาะตรอลาจ กระนั้น เมื่อจีนกับรัสเซียแตกกัน กลุ่มเหล่านี้ก็แตกร้าวเช่นกัน ตัวอย่าง พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่สมาชิกแตกมาจากพรรคปฏิวัติใหม่ และสมาคมอินโดจีน(1929), พรรคคอมมิวนิสต์อนามิต, สหภาพคอมมิวนิสต์อินโดจีน, พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน และลำดับสุดท้ายคือพรรคเอกเทศของตรัน วันเฮา มีธงแดงและวารสารคอมมิวนิสต์แปะป้ายเป็นสัญลักษณ์

ทั้งหมดมีสำนักงานลับๆ ที่เมืองไซ่ง่อน