April Fools’ Day วันแห่งการโกหก/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

April Fools’ Day

วันแห่งการโกหก

 

วันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน April Fools’ Day หรือ วันแห่งการโกหก

เป็นวันที่คนแกล้งกัน อำกัน ด้วยเรื่องโกหก

เช่นปล่อยข่าวลือว่าคนนั้นตาย คนนี้ท้อง แล้วเมื่อคนโกหกเฉลยภายหลังว่าเรื่องที่เล่าให้ฟังนั้นเป็นเรื่องโกหก คนที่ถูกโกหกห้ามโกรธ เพราะเป็นวัน April Fools’ Day

มนุษย์เราเคยโกหกด้วยกันทั้งนั้น เริ่มโกหกเมื่ออายุ 4-5 ขวบ เพราะภาษาเริ่มแข็งแรงแล้ว

ผู้ชายโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดีบ่อยกว่าผู้หญิง ส่วนผู้หญิงโกหกเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกดีบ่อยกว่าผู้ชาย

แม้การโกหกเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยทำ แต่ยิ่งทำน้อยเท่าไหร่จะยิ่งมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจ

 

คณะนักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนอเทรอ ดาม (University of Notre Dame) รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานผลการศึกษาชื่อ Science of Honesty หรือศาสตร์แห่งความซื่อสัตย์ พบว่าโดยเฉลี่ยคนอเมริกันโกหกสัปดาห์ละ 11 ครั้ง และการลดจำนวนการโกหกมีผลดีต่อสุขภาพกายและใจ

คณะผู้ศึกษาได้ทำการศึกษาคน 110 คน (66% เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย 34% เป็นคนในชุมชน) อายุระหว่าง 18-71 ปี (อายุเฉลี่ย 31 ปี)

จำนวนครึ่งหนึ่งของกลุ่มสำรวจ คณะผู้ศึกษาได้ขอให้พยายามไม่พูดโกหกเป็นเวลา 10 สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นโกหกเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่

ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง คณะผู้ศึกษาไม่ได้ขอให้ไม่โกหก

จากนั้นทุกสัปดาห์ คณะผู้ศึกษาจะทำการตรวจกลุ่มผู้ถูกสำรวจทั้ง 110 คน ด้วยเครื่องจับเท็จหรือโพลีกราฟ (Polygraph) เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าสัปดาห์นั้นๆ โกหกไปกี่หน จากนั้นก็ตรวจสุขภาพ

พบว่ากลุ่มผู้ถูกศึกษาที่ได้รับการขอร้องให้โกหกน้อยลง ยิ่งลดการโกหกลงเท่าไหร่ สุขภาพก็ดีขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น การลดโกหกแบบไวท์ ไล (White Lie) หรือการโกหกด้วยความหวังดีเจตนาดี ช่วยลดอาการปวดหัว เจ็บคอ และสภาพจิตใจดีขึ้น ลดความรู้สึกเครียด ลดความรู้สึกหดหู่

คณะผู้ศึกษาวิเคราะห์การโกหกน้อยลงทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น เพราะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนซื่อสัตย์ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็ดีขึ้น

แม้การโกหกจะเป็นเรื่องไม่ดี แต่คนก็ยังอดใจที่จะไม่โกหกไม่ได้

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาหลายสถาบัน เหตุผลที่คนโกหกสรุปได้ดังนี้

1. โกหกเพื่อรักษาหน้าตัวเอง เช่น มาทำงานสายเพราะตื่นสาย แต่บอกเพื่อนร่วมงานว่ามีรถชนกันทำให้รถติดจึงมาสาย

สาเหตุที่คนโกหกเพื่อรักษาหน้า เพราะกลัวว่าคนอื่นจะดูถูก เย้ยหยัย ขบขัน เมื่อทำบ่อยๆ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น

วิธีแก้คือรู้จักกล่าวคำขอโทษ และไม่จำเป็นต้องหาข้อแก้ตัวมาอ้าง เพราะคำขอโทษเพียงสั้นๆ ในหลายเรื่องก็เพียงพอและได้ผลแล้ว

2. โกหกเพื่อปัดความรับผิดชอบ เช่น เราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ คนอื่นตัดสินใจ สาเหตุที่โกหกเพราะไม่ต้องการรับผิด

วิธีแก้คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา หากคนอื่นโกหกเพื่อปัดความรับผิดชอบมาให้เรา เราก็คงไม่พอใจคนคนนั้น

3. โกหกเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น อยากลาหยุดพักผ่อน แต่กลัวหัวหน้าไม่อนุมัติจึงโกหกว่าป่วย เพื่อจะได้หยุดงาน

สาเหตุคือคนที่เห็นแก่ตัว เอาความต้องการของตัวเป็นใหญ่ ยอมโกหกเพื่อที่จะได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยไม่คำนึงว่าจะทำให้คนอื่นเสียความรู้สึก หรือตัวเองหมดความน่าเชื่อถือ หากถูกจับได้ว่าโกหก

วิธีแก้คือหมั่นบอกกับตัวเองว่าความซื่อสัตย์นำมาซึ่งผลดี หากอยากลาหยุดพัก ก็บอกกับหัวหน้าตรงๆ ว่า เหนื่อยกับงาน ทำงานไม่หยุดเลย ซึ่งหัวหน้าที่ดีมักจะเข้าใจ เห็นใจ และอนุญาตให้เราลาพัก

4. โกหกเพราะต้องการให้อีกฝ่ายรู้สึกดี เช่น ชมว่าอาหารที่คนทำให้กินอร่อยที่สุดตั้งแต่เคยกินมา หรือชมว่าชุดที่สวมนั้นสวยมาก

สาเหตุที่โกหกเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดี หลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง แต่หากทำบ่อยเกินไปจะทำให้เราถูกมองว่าเป็นคนปากหวาน ไม่จริงใจ เสแสร้ง

วิธีแก้คือหากต้องการพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกดี ภูมิใจ ไม่จำเป็นต้องชมเกินเลยจนกลายเป็นการโกหกไม่จริงใจ

เช่น หากเห็นคนสวมเสื้อสวย ก็ไม่จำเป็นต้องพูดว่าเป็นเสื้อสวยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา แต่ชมด้วยความจริงใจว่า เสื้อตัวนี้สวมแล้วดูดี

สรุปแล้วทุกอย่างในชีวิตของคนเราต้องเดินสายกลาง แม้กระทั่งการจะเอ่ยปากชมใครสักคนหนึ่ง ก็ต้องชมแต่พอเหมาะพอควร