วิกฤตเศรษฐกิจ ‘ศรีลังกา’ สู่การประท้วงครั้งใหญ่/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ AFP

บทความต่างประเทศ

 

วิกฤตเศรษฐกิจ ‘ศรีลังกา’

สู่การประท้วงครั้งใหญ่

 

กลายเป็นเรื่องลุกลามบานปลาย สำหรับสถานการณ์ในประเทศศรีลังกา หลังจากเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2491

ทั้งนี้ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการขาดแคลนเงินสกุลต่างประเทศ ในการจ่ายเงินนำเข้าพลังงาน จนทำให้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ “ขาดแคลน” จนทำให้ถึงกับต้องตัดการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน เพื่อประหยัดพลังงาน เนื่องจากไม่มีน้ำมันมาใช้สำหรับให้กำเนิดไฟฟ้า จากวันละ 7 ชั่วโมงเมื่อตอนต้นเดือนมีนาคม ก็เพิ่มเป็นตัดไฟวันละ 10 ชั่วโมง ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 13 ชั่วโมงแล้ว

โดยกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในศรีลังกา แม้ว่ากว่า 40 เปอร์เซ็นต์จะมาจากพลังงานน้ำ แต่แหล่งน้ำส่วนใหญ่กำลังเหือดแห้งอยู่ระดับอันตราย เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมา

ในขณะที่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของศรีลังกามาจากพลังงานถ่านหินและน้ำมันที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

แต่ตอนนี้ก็ขาดแคลน เพราะไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะจ่ายค่าเชื้อเพลิงดังกล่าว

นอกจากนี้ ก็ยังส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร ยา และพลังงาน รวมไปถึงการขาดแคลนข้าวของต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลสั่งห้ามการนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อเก็บรักษาเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นเอาไว้ ส่งผลให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน เมื่อขาดแคลน สินค้าก็ราคาพุ่งสูงขึ้น

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้การท่องเที่ยวของประเทศลดน้อยลง ยิ่งกระทบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

 

กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยส่งผลให้เศรษฐกิจของศรีลังกาแย่ลง หากแต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายคนกลับเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายครั้งนี้ เป็นผลมาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาล และการกู้เงินที่สะสมมานานหลายปี จนทำให้เกิดภาวะขาดดุลซ้ำซ้อน คืองบประมาณขาดดุล ควบคู่กับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

นอกจากนี้ ยังมีการลดหย่อนภาษี ตามที่ประธานาธิบดีโคฐานภยะ ราชปักษะ ของศรีลังกา ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นการประกาศก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาทรุดลงไปอีก

ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทำให้ประชาชนไม่พอใจ จนต้องออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลกันอย่างต่อเนื่อง ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิว เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโคฐานภยะ ราชปักษะ ลาออกจากตำแหน่ง

นอกเหนือจากการขับไล่ประธานาธิบดีแล้ว ก็ยังมีการเรียกร้องให้สมาชิกในครอบครัวราชปักษะทุกคนที่อยู่ในอำนาจ “ลาออกไป”

ไม่ว่าจะเป็นนายมหินทะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นพี่ชายของประธานาธิบดีโคฐานภยะ

ขณะที่นายบาซิล น้องชายคนสุดท้อง เป็นรัฐมนตรีคลัง นายชามัล พี่ชายคนโต เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร และนายนามัล หลานชาย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกีฬา

 

การประท้วงลุกลามรุนแรงมากขึ้น มีการเผารถทหาร รถตำรวจ และทำลายข้าวของ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ จนเมื่อการประท้วงลุกลามบานปลาย กองกำลังความมั่นคงของศรีลังกาจึงต้องออกมาปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อหาทางควบคุมสถานการณ์เอาไว้

สถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของศรีลังกา ได้ลาออกยกชุด 26 คน ยกเว้นประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ และนายกรัฐมนตรีมหินทะ ราชปักษะ

ส่วนนายนามัล รัฐมนตรีกระทรวงกีฬา ซึ่งเป็นลูกชายของนายมหินทะ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ยื่นหนังสือลาออกด้วย พร้อมกับทวีตข้อความว่า เขาหวังว่า การกระทำของเขาจะช่วยให้ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตัดสินใจสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนและรัฐบาล

หลังจากการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้งชุดแล้ว วันต่อมา ประธานาธิบดีโคฐานภยะ ราชปักษะ ก็ได้ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ หลังจากได้ออกคำเชิญกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มในสภา รวมทั้งฝ่ายค้าน ให้ตอบรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันแก้วิกฤตของชาติ

 

ล่าสุด นายอาจิธ นิวาร์ด คาบราอัล ผู้ว่าการธนาคารกลางของศรีลังกา ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว เมื่อวันที่ 4 เมษายน ก่อนหน้าที่ธนาคารกลางศรีลังกาจะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพื่อหาทางรักษาเสถียรภาพให้กับเงินรูปีของศรีลังกา

โดยได้มีการแต่งตั้งนายนันดาลัล วีระสิงห์ รองผู้ว่การธนาคารกลางศรีลังกา ขึ้นเป็นผู้ว่าการคนใหม่ ในช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาปรับตัวขึ้นเร็วที่สุดในเอเชียตอนนี้

ดูเหมือนวิกฤตการณ์ความวุ่นวายในศรีลังกาตอนนี้ จะยังไม่มีทีท่าจบลงง่ายๆ ตราบที่รัฐบาลจะเดินหน้าปกครองประเทศต่อ โดยหาทางแก้ไขอะไรไม่ได้!!