โอกาส ‘ประชาธิปไตย’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

โอกาส ‘ประชาธิปไตย’

 

ผลสำรวจชิ้นล่าสุดของ “นิด้าโพล” ในเรื่อง “โอกาสพรรคเล็ก หรือโอกาสแลนด์สไลด์ (Landslide)” มีความน่าสนใจไม่น้อยเลย

เป็นการสอบถามโดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ระหว่างการให้โอกาส “พรรคเล็กได้ ส.ส. กับโอกาสที่พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.เกินครึ่งสภา หรือที่เรียกว่าแลนด์สไลด์” นั้น ประชาชนส่วนใหญ่จะชอบแบบไหน

ที่เห็นว่าน่าสนใจเพราะผลการสำรวจที่ออกมาสรุปได้เลยว่าประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะให้โอกาสพรรคเล็กมากกว่าให้โอกาสแลนด์สไลด์

คำตอบในทุกคำถามออกมาในทางเดียวกัน

 

เมื่อถามถึงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ควรเปิดโอกาสให้พรรคเล็กมี ส.ส.ในสภาแบบเดียวกับการเลือกปี 2562 หรือไม่

ส่วนใหญ่คือร้อยละ 47.79 ตอบว่าเห็นด้วยมาก, ร้อยละ 30.97 ค่อนข้างเห็นด้วย

ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยเลยมีแค่ร้อยละ14.54 และร้อยละ 5.17 ไม่ค่อยเห็นด้วย ที่เฉยๆ มีร้อยละ 0.99

ขณะที่เมื่อถามถึงความเห็นต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าควรทำให้เกิดการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์เกิดขึ้นได้ยาก ร้อยละ 34.78 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 26.03 ค่อนข้างเห็นด้วย

ที่ตอบว่าไม่เห็นด้วยเลยมีแค่ร้อยละ 16.82 และร้อยละ 16.21 ไม่ค่อยเห็นด้วย ที่ไม่มีความเห็นร้อยละ 6.16

และเมื่อตั้งคำถามแบบเอาให้ชัดว่า หากต้องเลือกระหว่างการให้โอกาสพรรคเล็กได้มี ส.ส.ในสภา กับการเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองชนเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จะเลือกอะไร ร้อยละ 58.68 เลือกให้โอกาสพรรคเล็กมี ส.ส. มีร้อยละ 35.46 ที่ต้องการเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

มีร้อยละ 5.86 ที่ไม่มีความเห็น

 

ผลโพลชี้ชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ปรารถนาให้มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีเสียงเด็ดขาดในสภา

และนี่เองที่เห็นว่านจ่าสนใจ

โดยโครงสร้างสังคมที่ถูกครอบด้วยค่านิยมและวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศเรา

การต่อสู้ระหว่าง “อำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” กับ “อำนาจที่มาจากประชาชน” ขับเคี่ยวกันมายาวนาน

แต่ละฝ่ายพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีกว่าให้กับแนวคิดของตัวเอง และชี้ให้เห็นความเลวร้ายของความคิดความเชื่อที่เป็นปฏิปักษ์

มีความพยายามให้ความรู้กันตลอดว่า ที่ประชาธิปไตยไปไม่ได้ในประเทศไทยเรา เพราะ “นักการเมือง” และ “พรรคการเมือง” ไม่เข้มแข็งพอ

รัฐบาลผสม และความไม่เป็นเอกภาพในเชิงอุดมการณ์ในรัฐสภา ทำให้ “อำนาจของผู้แทนประชาชน” อ่อนแอ

การแก้ไขต้องทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง

การชนะเลือกตั้งแบบพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากคือจุดเริ่มของความเข้มแข็งนั้น เพราะอย่างน้อยเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากกว่ารัฐบาลผสม

แต่ไม่ว่าคราวใดก็ตาม เมื่อมีพรรคการเมืองที่สร้างเสถียรภาพได้จะต้องถูกทำลายจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากรักษาศรัทธาประชาชนต่อนักการเมือง และพรรคการเมืองไว้ได้ แม้จะถูกทำลายไปด้วยอำนาจนอกระบบ โอกาสที่จะพลิกกลับมายังพอเหลืออยู่

หากสูญเสียศรัทธาประชาชนต่อนักการเมือง และพรรคการเมืองไป จะทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศเป็นไปได้ยาก

ความน่าสนใจจึงคือ หากความคิดประชาชนส่วนใหญ่เป็นไปตามโพลนี้จริง และเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองการปกครองประเทศ