รายงาน ‘ไอพีซีซี’ กับทางรอดจากภาวะโลกร้อน/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: The coal-fired Boxberg Power Station, operated by Lausitz Energie Bergbau AG (LEAG) company, is pictured in Boxberg, March 22, 2022. REUTERS/Matthias Rietschel/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

รายงาน ‘ไอพีซีซี’

กับทางรอดจากภาวะโลกร้อน

 

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change-ไอพีซีซี) ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพิ่งเผยแพร่รายงาน “ส่วนที่ 3” ในการการประเมินครั้งที่ 6 ของไอพีซีซี ว่าด้วย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2021 : ข้อมูลพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม” (Climate Change 2021 : The Physical Science Basis) หลังจากมีการเปิดเผยรายงาน 2 ส่วนแรกไปเมื่อเดือน สิงหาคม ปี 2021 และเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ที่ผ่านมา

ไอพีซีซีเป็นองค์กรที่มีนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนจากทั่วโลกร่วมกันประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเตือนมนุษยชาติเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในอนาคต

รายงานใน “ส่วนแรก” ไอพีซีซีออกมาเตือนว่าเวลานี้โลกมี “สัญญาณอันตราย” ที่โลกจะร้อนเกินกว่าที่จะควบคุมได้

ก่อนที่ “ส่วนที่ 2” จะชี้ให้เห็นว่าโลกที่ร้อนขึ้นอาจส่งผลให้อารยธรรมมนุษย์ล่มสลายแบบไม่อาจหวนคืนกลับ

และรายงาน “ส่วนที่ 3” รายงานจำนวน 2,800 หน้า ซึ่งไอพีซีซีเผยแพร่ออกมาล่าสุดนี้ เป็นการบอกวิธีการว่ามนุษย์จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้โลกใบนี้ “สามารถอยู่อาศัยได้” ในอนาคต

 

ปัจจุบันพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมหรือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (มิดเซนจูรี) มาแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส และโลกก็ตั้งเป้าที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกไม่สูงเกินกว่า 2 องศา หรือหากเป็นไปได้ไม่เกิน 1.5 องศา ภายใต้ข้อตกลงปารีส ในปี 2015 ที่ผ่านมา

และแน่นอนว่า รายงาน “ส่วนที่ 3” ของไอพีซีซีก็ได้ประเมินสถานะของโลกใบนี้ในปัจจุบันเอาไว้ และบอกวิธีที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ไอพีซีซีระบุว่า เวลานี้หากโลกไม่สามารถจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าที่แต่ละประเทศประกาศเอาไว้ภายในปี 2030

นั่นหมายความว่าเป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาเหนือยุคมิดเซนจูรี นั้นจะไม่สามารถเป็นไปได้แล้ว

นโยบายตัดลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศในปัจจุบันจะสามารถลดการปล่อยก๊าซได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นภายในปี 2050 และโลกจะร้อนขึ้นถึงระดับ 3.2 องศาเหนือยุคมิสเซนจูรี ในปี 2100

แม้แต่เป้าหมายไม่เกิน 2 องศาเองยังคงมีความยากลำบาก เนื่องจากโลกจำเป็นต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละปีลงถึง 1,500 ล้านตันทุกๆ ปีตั้งแต่ปี 2030 ถึง 2050

หรือเท่าๆ กับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงในปี 2020 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์และส่งผลให้เศรษฐกิจชะงักงัน แบบนั้นทุกๆ ปี

 

ไอพีซีซีแนะแนวทางในการไปสู่เป้าหมายเอาไว้ด้วย ก็คือการหาพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลมาใช้ โดยไอพีซีซีระบุว่า หากโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินไม่มีการดักจับก๊าซเรือนกระจก การควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศา จะเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากนี้ ยังระบุว่าหากจะจำกัดไม่ให้โลกอุณหภูมิสูงกว่าช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เกิน 2 องศาแล้วละก็ โลกจะต้องไม่ใช้น้ำมันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ก๊าซสำรอง 50 เปอร์เซ็นต์ และถ่านหินสำรอง 80 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วก็ตาม

และระบุด้วยว่าการยุติการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลของรัฐบาลทั่วโลกจะสามารถลดการปล่อยก๊าซได้มากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030

ไอพีซีซีระบุอีกแนวทางเอาไว้ด้วย นั่นก็คือการ “เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด” โดยระบุว่า โลกจะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” หรือ “เน็ตซีโร่” ให้ได้ภายในปี 2050

โดยจะต้องหันไปใช้พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไร้มลพิษอื่นๆ เพื่อให้เป้าหมายตามข้อตกลงปารีสยังมีความหวัง

 

แม้ปัจจุบันโลกจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นเช่นพลังงานลมที่เพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานแสดงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้น 170 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2015-2019

แต่พลังงานทั้งสองส่วนก็คิดเป็นเพียง 8 เปอร์เซ็นต์จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2019 เท่านั้น

ขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตจากเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์หรืออยู่ในระดับต่ำ อย่างเช่น พลังงานน้ำ หรือนิวเคลียร์นั้น ผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราว 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิลทั้งหมด

อีกวิธีเพื่อลดการปล่อยก๊าซก็คือการลดความต้องการพลังงานลง เช่น การกินอาหารจากพืชเป็นหลัก การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การคมนาคมโดยไม่ใช้รถยนต์ การสื่อสารทางไกล การสร้างอาคารที่ทนต่อสภาพอากาศ ลดเที่ยวบินระยะไกล รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ 40-70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2050

นอกจากนั้น ไอพีซีซียังระบุถึงการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย 20 เปอร์เซ็นต์ โดยก๊าซมีเทนเกิดจากการรั่วไหลจากการผลิตพลังงานฟอสซิล, การทำปศุสัตว์ และบ่อขยะ นอกเหนือไปจากแหล่งก๊าซมีเทนตามธรรมชาติ

รวมไปถึงวิธีการแบบกำปั้นทุบดิน แต่เป็นไปได้จริงก็คือ การดูดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า หรือการใช้เครื่องมือทางเคมีในการแยกคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย “เน็ตซีโร่” และ “ลดอุณหภูมิโลก” ลงได้

 

แน่นอนว่าการจะไปถึงเป้าหมายด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ย่อมต้องใช้งบประมาณสูง โดยไอพีซีซีระบุว่า การจะหยุดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาตามเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 76 ล้านล้านบาทต่อปี ระหว่างปี 2023-2052 แต่หากเป้าหมายอยู่ที่ 2 องศา งบประมาณจะลดลงมาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 56.9 ล้านล้านบาทต่อปี

เทียบกับงบประมาณที่โลกลงทุนกับพลังงานสะอาดในปี 2021 ที่ผ่านมา ที่ 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วยังคงห่างเป้าหมายอีกไกลมากๆ เลยทีเดียว

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมที่ไอพีซีซีบอกให้โลกได้รู้เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

แนวทางเหล่านี้นอกจากจะไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อให้อย่างน้อยๆ ก็ทำให้โลกเป็นโลกที่สามารถ “อยู่อาศัยได้” สำหรับลูกหลานในอนาคต