‘สมคิด’ ปลุก ‘ญี่ปุ่น’ ลงทุน ชู 2 ชาติเป็น ‘หุ้นส่วนชีวิต’

หมายเหตุ – เมื่อวันที่ 12 กันยายน กระทรวงอุตสาหกรรมจัดสัมมนา “Symposium on Thailand 4.0 towords Connected Industries” ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท ควีนปาร์ค กรุงเทพ ในโอกาสครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์การทูตไทย-ญี่ปุ่น มีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงาน 570 ราย ภายในงานยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างนักลงทุนญี่ปุ่นและไทย เพื่อลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ปาฐกถาพิเศษ


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

รองนายกรัฐมนตรี

มองไปในห้องนี้ (ห้องประชุมและเสวนา) แล้ว รู้สึกดีใจ ปลื้มใจ ขณะเดียวกันรู้สึกว่าเป็นพันธกิจ ความรับผิดชอบของตนเอง และคณะที่เกี่ยวข้องทุกคนที่จะต้องดูแลคณะจากญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นอย่างดี คณะจากญี่ปุ่นทุกคนมีความจริงจัง ตั้งใจ ไว้ใจในประเทศไทย ในรัฐบาลไทย ฉะนั้น ผมและคณะจะไม่ให้คณะญี่ปุ่นทั้งหลายผิดหวังในครั้งนี้ มีคำถามแรกว่า ทำไมถึงต้องเป็นประเทศไทย โลกทุกวันนี้ผู้ประกอบการมีสิทธิไปลงทุนได้ทั่วโลก การดึงดูดให้มาลงทุนต้องมีจุดที่ดีพอ ดึงให้เขาเข้ามา ในช่วงสิบปีข้างหน้าเป็นช่วงเวลาของภูมิภาคเอเชีย เป็นศูนย์กลางความสนใจและการขับเคลื่อนค้ำจุนเศรษฐกิจโลกแน่นอน ในช่วงเวลาผ่านมาไม่ถึงปีโลกเปลี่ยนไปมาก การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง หลายประเทศในเอเชียเริ่มขยับเพื่อให้อยู่ในโลกนี้ได้ในภาวะมีความไม่แน่นอน เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย และเกาหลี ประเทศเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งยวด แต่หัวใจสำคัญจริงๆ ของเอเชียไม่ได้อยู่ที่นี่เลย แต่อยู่ที่ห่วงโซ่คุณค่าของอาเซียน อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) และบิมสเทคของกลุ่มเอเชียใต้ ในซีแอลเอ็มวีที ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นไทยศูนย์กลางโดยที่ตั้ง อีกทั้งวันเบลวันโรดทุกเส้นทางต้องผ่านไทย การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตก (อีสต์-เวสต์ คอริดอร์) ประเทศเพื่อนบ้านไทยก็พัฒนา สามารถเชื่อมกันได้ทางบก อินเดีย ศรีลังกาก็กำลังเชื่อมกับอาเซียนผ่านทางนี้ เมื่อลากตะวันออกสู่ตะวันตก ศูนย์กลางอยู่ไทยแน่นอน ไม่ได้บอกว่าเราดีกว่าประเทศอื่น แต่เรามีบางสิ่งประเทศอื่นไม่มี

การลงทุนประเทศใดต้องมีฮาร์ดแฟกเตอร์ อีอีซี ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่แล้ว 8,000 แห่ง มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมเพรียงที่ร่วมกันสร้าง มีปิโตรเคมีคอล มูลค่าล้านล้านดอลลาร์ จำเป็นมากในการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมระดับสูง

แค่นั้นไม่พอ มีโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่มีจากอดีต แต่ดิจิทัลคืออนาคต ดังนั้นได้เตรียมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไทยหยุดชะงักมานาน ทุกโครงการจะทำให้ได้ในเวลาเริ่มต้น 1-2 ปี รู้ว่าดิจิทัลเราเริ่มได้ยังไม่ดีพอ แต่ได้รับความร่วมมือจากมิตรสหาย เรารู้ว่าการพัฒนาบุคลากรของไทยอยู่เริ่มต้น บุคลาการไทยเรียนรู้เร็ว เชื่อว่าไม่เป็นอุปสรรค รัฐบาลเอาจริงในการพัฒนาบุคลากร ไม่ใช่แค่ไทย ญี่ปุนจะต้องใช้ไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาสู่ซีแอลเอ็มวี ในเรื่องฮาร์ดแฟกเตอร์เราพยายาม เรามีระดับการพัฒนาเหนือกว่าทุกประเทศในย่านนี้

ยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเติบโต ไทยจะยิ่งมีเสน่ห์ เพราะจะเป็นศูนย์กลางให้ผู้ลงทุนกระจายไปสู่ที่อื่นได้ เรายังมีซอฟต์แฟกเตอร์ สำคัญกว่าฮาร์ดแฟกเตอร์ นักลงทุนญี่ปุ่นบางคนอยู่เมืองไทย 40-50 ปี และอยู่เป็นบ้านที่สองที่สาม กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามาปักหลักในไทยอย่างเป็นสุข แม้ไทยไม่ได้เพียบพร้อม 100% แต่ทำไมอยู่กับไทย ก็เพราะเรามีวัฒนธรรมความเป็นมิตร ความสบายใจ เหมือนอยู่กับประเทศตัวเอง นี่คือซอฟต์แฟกเตอร์ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจอย่างยิ่ง ตรงไหนมีอุปสรรคก็พยายามขจัดอุปสรรค รอดูการจัดอันดับจากธนาคารโลกในเร็วๆ นี้ คาดหวังว่าจะดีขึ้น

การที่ผู้ประกอบการไทยเคลื่อนย้ายไปลงทุนประเทศอื่นๆ ก็เป็นปกติของธุรกิจ อาศัยแรงงานราคาถูก หากไม่ไปลงทุนต่างประเทศเลย ก็แปลว่าผู้ประกอบการไทยไร้ความสามารถ จึงมีการสนับสนุนไปลงทุนต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็สร้างอุตสาหกรรมใหม่ อิงจากภาคเกษตรซึ่งเป็นฐานที่มีอยู่ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นได้ ด้วยความร่วมมือต่างๆ เราทำได้

คำถามที่สอง คือ ผมเชื่อมั่นว่าเมืองไทยมีทิศทางชัดเจน ในอดีตแม้จีดีพีโต 10-12% พิสูจน์ว่าเป็นการเติบโตที่ขาดดุลยภาพ ไทยต้องการความสมดุล การเติบโตจากทั้งการส่งออกและเติบโตจากภายใน (โลคอล อีโคโนมี) จากการท่องเที่ยว ปฏิรูปกิจกรรมเศรษฐกิจภายในให้เกิดความสมดุล ขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างการผลิตด้วยการสร้างมูลค่าและนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้ไม่ง่าย จึงต้องการความร่วมมือจากพันธมิตร เราไม่ใช่แค่ต้องการผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ต้องการส่วนผสมทั้งรายกลางและรายเล็ก จึงต้องการสร้างสตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เราเรียนรู้จากญี่ปุ่นว่าไม่ได้มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่มีเอสเอ็มอีด้วย ทิศทางการเดินเราชัดเจนมาก เราต้องการเดินพร้อมไปกับมิตรสหาย พัฒนาเขามาด้วย เขาดีเท่าไหร่เราดีด้วย ถามว่าญี่ปุ่นสนใจในสิ่งเหล่านี้หรือไม่ อาเซียน และซีแอลเอ็มวีทีจะไม่มีความหมายหากแยกกันเดิน เราเข้าไปช่วยสร้างบุคลากรสนับสนุนตลาดเงินตลาดทุน ฯลฯ ดินแดนนี้จะสมบูรณ์และเปี่ยมศักยภาพ นี่คือทางเดินประเทศไทย

เรามีอะไรที่ญี่ปุ่นจะมาทำให้เราได้บ้าง ในโลกข้างหน้าไม่ใช่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียว รัฐบาลทุกรัฐบาล กระทรวงทุกกระทรวงต้องคิดถึงการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองและเศรษฐกิจ ที่เดินคู่ขนานกันตลอดเวลา กิจกรรมใดที่จะทำต้องเชื่อมความคิดภาครัฐและเอกชน นี่คือเหตุผลที่เชิญคณะญี่ปุ่นมาไทย ให้ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนทั้งสองฝ่ายสามารถมาหารือกันได้โดยตรง ต้องการให้คุยกันถึงภาพรวมว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีทางเดินและทำร่วมกันอย่างไรทั้งในระดับรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน และเอกชนจะเดินตามอย่างไร อยากให้รัฐและเอกชนเดินหน้าร่วมกันในภาวะที่โลกไม่แน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดคือจังหวะเวลา ขณะนี้มองญี่ปุ่น นายกฯชินโซ อาเบะ สามารถเรียกความมั่นใจกลับมาได้ ในเชิงเศรษฐกิจ ประชาชนเริ่มมีความหวังและมั่นใจมากขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทในเวทีต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในการก่อตั้งเสรีการค้าใหม่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาเซ็ป) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) และญี่ปุ่นกำลังสร้างสังคม 5.0 ที่เทคโนโลยีดิจิทัลให้ซึมซับอยู่ในทุกอณูของสังคม ทั้งหมดนี้ แม้บางประเทศจะถอยแต่ญี่ปุ่นยืนยันเดินหน้า เพื่อสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจของตัวเอง

สำหรับไทยที่ผ่านมาเป็นประเทศเกษตรกรรม เราได้รับการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนของญี่ปุ่น และไทยเองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการลงทุนครั้งใหญ่ ครั้งนี้เราจะดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับญี่ปุ่น ทั้งด้านการลงทุน ด้านบุคลากร ไทยจะใช้โอกาสนี้เดินหน้ายุทธศาสตร์ตามแผนที่กำหนด จะไม่มัวเสียเวลากับข้อติดขัดของโครงการเล็กๆ อยากให้ญี่ปุ่นร่วมเป็นพันธมิตรกับเรา

สุดท้ายอยากฝากถึงท่านรัฐมนตรีกระทรวงเมติ และนักธุรกิจญี่ปุ่นทุกท่านว่า สำหรับไทยที่มีต่อญี่ปุ่นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจ แต่ผมมองว่ามันคือหุ้นส่วนชีวิต เพราะไทยรับรู้มาตลอดว่าในอดีตที่ฟ้าสดใส ญี่ปุ่นก็อยู่กับไทยตลอด และในยามที่เมฆหมอกปกคลุมประเทศไทย เราก็พบว่าญี่ปุ่นยังอยู่กับไทยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นคือ พันธมิตร เป็นความสัมพันธ์ 2 ประเทศที่เหนือกาลเวลา ทั้งหมดนี้ผมพูดสด ไม่ได้ร่างไว้ เพราะมาจากความรู้สึกจริงๆ


ฮิโรชิเกะ เซโกะ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

ขณะนี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ญี่ปุ่นดำเนินการเช่นเดียวกับไทย เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ประสบความสำเร็จได้คือ คอนเนคเตด อินดัสทรี (Connected Industry) คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยระบบฐานข้อมูลหรือดาต้า แนวทางนี้ญี่ปุ่นจะนำมาใช้กับไทย ในรายละเอียดการเชื่อมโยงจะเน้นดูแลระบบบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ จะเน้นเชื่อมโยงกับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ใช้คอนเนคเตด อินดัสทรี ในการเชื่อมโยง

หากเอกชนญี่ปุ่นสามารถเชื่อมโยงกับเอกชนไทยได้อย่างมีศักยภาพ เป้าหมายของญี่ปุ่นในลำดับต่อไปคือการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางซัพพลายเชนของภูมิภาคอาเซียน ด้วยระบบฐานข้อมูล ยืนยันว่าระบบฐานข้อมูลคือเครื่องมือสำคัญ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากโรงงานมีอายุหลายปี มีเครื่องจักรที่ใช้งานหลายปี จะทำอย่างไรในการยืดอายุโรงงานนั้นๆ ให้ประกอบการได้นานขึ้น เครื่องมือที่จะยืดอายุโรงงาน คือ ฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบ ประเมิน ทำให้การซ่อมบำรุงมีความต่อเนื่องและตรงจุด

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 การอุตสาหกรรม 4.0 ก็เป็นเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนาฉบับนี้ ดังนั้นญี่ปุ่นขอร่วมสนับสนุนแนวทางนี้ เพื่อให้ญี่ปุ่นและไทยพัฒนาและเชื่อมโยงระหว่างกัน