กำเนิดศิลปะสุโขทัย ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (6)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดศิลปะสุโขทัย

ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (6)

 

รัชกาลที่ 6 ซึ่งได้รับการยอมรับในวงวิชาการ ว่าเป็นกษัตริย์ที่นำความคิดชาตินิยมเข้ามาริเริ่มใช้เป็นอุดมการณ์แห่งรัฐอย่างจริงจังพระองค์แรกในสังคมไทย เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนของชนชั้นนำไทยยุคแรกๆ ที่โยงศิลปะสุโขทัยเข้ากับแนวคิดชาตินิยมไทย

และสนับสนุนสิ่งที่กล่าวไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ศิลปะสุโขทัยในบริบทจารีตเป็นรูปแบบที่ไม่ได้เป็นที่นิยมและสำคัญอะไรมากนักในวงกว้าง จนเมื่อแนวคิดชาตินิยมได้แพร่เข้ามาในสังคมไทยแล้วต่างหาก ศิลปะสุโขทัยจึงถูกยกย่องอย่างมาก และกลายเป็นยุคทองทางศิลปะและความเป็นไทยมาจวบจนปัจจุบัน

แม้ว่าในทางวิชาการจะเป็นที่รับรู้ร่วมกันว่า “ชาติ” ในความหมายของพระองค์นั้นมิได้หมายถึง “ชาติ” ที่เป็นของคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากัน ตามความหมายที่ยอมรับในสากล แต่เป็น “ชาติ” ที่ผู้คนในชาติมีสถานภาพสูงต่ำไม่เท่ากัน โดยทั้งหมดอยู่รวมกันได้อย่างปกติสุขด้วยความสามัคคีและจงรักภักดีภายใต้การนำของกษัตริย์

แต่กระนั้นก็ต้องถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรก ที่อธิบายโบราณวัตถุและศิลปกรรมของสุโขทัย ในฐานะที่เป็นจิตวิญญาณของชาติไทยที่น่าสนใจและจะส่งผลสืบเนื่องต่อมาอย่างมีพลังจนปัจจุบัน

รัชกาลที่ 6 เมื่อดำรงพระยศมกุฎราชกุมาร ขณะทรงทำการขุดสำรวจโบราณสถานเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนิน “เที่ยวเมืองพระร่วง”

ความสนใจในสุโขทัยของพระองค์มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมาร โดยใน พ.ศ.2450 ได้เสด็จไปยังกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย และพิษณุโลก ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีคณะสำรวจเดินทางไปยังกลุ่มเมืองดังกล่าวเพื่อทำการศึกษาทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

ภายหลังจากที่เสด็จกลับมาพระนคร พระองค์ได้ทรงพิมพ์หนังสือที่เกิดจากการเดินทางสำรวจครั้งนั้นเผยแพร่สู่สาธารณะในชื่อ “เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง” ในปี พ.ศ.2451 ที่ต่อมาได้กลายมาเป็นงานเขียนชิ้นสำคัญในการกำหนดอายุสมัยโบราณสถานต่างๆ ในเมืองสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน

โดยหลักฐานสำคัญที่พระองค์ทรงใช้ในการกำหนดอายุสมัยก็คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 และพงศาวดารเหนือ ประกอบกับพงศาวดารและหลักฐานประเภทอื่นบ้างอีกบางส่วน

โดยในตอนต้นของหนังสือ พระองค์ทรงอธิบายเป้าหมายในการเสด็จไปสุโขทัยในครั้งนั้น และมูลเหตุของการตีพิมพ์หนังสือเอาไว้ว่า

“…หวังใจว่าหนังสือเล่มนี้จะมีผลอย่างอื่นบ้างคือ ประการหนึ่ง บางทีจะทำให้คนไทยรู้สึกขึ้นมาบ้างว่า ชาติไทยเราไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือที่เรียกตามภาษาอังกฤษ ‘อันศิวิไลซ์’ ชาติไทยเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว…ฝีมือช่างหรือความอุตสาหะของคนครั้งพระร่วงดีกว่าคนสมัยนี้ปานใด ถ้าอ่านหนังสือนี้แล้ว บางทีจะพอรู้สึกหรือเดาได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…”

ด้วยเหตุนี้ เนื้อหาข้อมูลทางศิลปะและโบราณคดีที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ จึงมิได้เป็นเพียงแค่ความรู้ที่ทำให้เรารู้จักโบราณสถานต่างๆ ในเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารเพียงเท่านั้น

แต่เป็นเนื้อหาว่าด้วย “การค้นพบอดีต” อันยิ่งใหญ่ของชาติไทยผ่านโบราณวัตถุสถานต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพของ “พระร่วง” กษัตริย์ในตำนานที่ได้ถูกนำมาทาบทับลงบน “พ่อขุนรามคำแหง” กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ปรากฎชื่ออยู่ในจารึกหลักที่ 1

เพราะเราต้องไม่ลืมนะครับว่า เนื้อหาที่รัชกาลที่ 6 ทรงบรรยายเกือบตลอดทั้งเล่มนั้น เป็นการเดินทางสำรวจโบราณสถานที่ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติและความเป็นมาแทบทั้งสิ้น โดยพระองค์ทรงใช้วิธีการนำข้อความในจารึกหลักที่ 1 เป็นตัวตั้ง จากนั้นก็นำข้อความวัดวาอารามและสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏในจารึกลงมาสวมทับลงในโบราณสถานทั้งหลายที่พระองค์ทรงพบเห็น (สนใจประเด็นนี้ ดูเพิ่มใน พิริยะ ไกรฤกษ์, “ประวัติศาสตร์ศิลปะสุโขทัยโครงสร้างที่ต้องเปลี่ยนแปลง”, สยามอารยะ ปี 19 ฉบับ 2 (2537) : 15-42.)

ด้วยระเบียบวิธีการศึกษาเช่นนี้ ซึ่งมีข้อด้อยในเชิงวิชาการ แต่ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญมากคือเป็นกระบวนการที่ทำให้เรื่องราวที่เคยเป็นเพียงตัวอักษรได้เผยตัวออกมาจริงต่อหน้าต่อตา สุโขทัยในอุดมคติได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโบราณวัตถุสถานต่างๆ เป็นครั้งแรก

 

ยิ่งไปกว่านั้น หากเมืองใดมิได้ถูกกล่าวถึงในจารึก เช่น เมืองสวรรคโลก พระองค์ก็ทรงเลือกใช้ข้อความใน “พงศาวดารเหนือ” ที่แม้ว่าจะทรงกล่าวว่าเป็นเอกสารที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่พระองค์ก็ทรงเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงแทรกอยู่บ้าง โดยทรงเขียนเอาไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ว่า

“…ข้าพเจ้าเห็นว่า ใครที่เริ่มจับเล่นในทางโบราณคดี ถ้ายึดพงศาวดารเหนือเป็นหลักแล้วจะไปไหนไม่รอด…แต่ที่จะทิ้งพงศาวดารเหนือเสียทีเดียวก็ไม่ควร เพราะบางทีก็มีข้อความที่ชักนำให้ความคิดแตกออกไปได้บ้าง คือเมื่ออ่านข้อความอะไรในหนังสือนั้น ที่เหลือเกินจะเชื่อได้ต่างๆ บางทีทำให้คิดไปว่าทำไมอยู่ดีๆ เขาจะคิดแต่งขึ้นเล่นเฉยๆ ได้อย่างนั้นจะไม่มีข้อมูลอะไรบ้างเลยหรือ เมื่อมีความคิดเช่นนี้ขึ้นแล้วก็ทำให้พยายามพิจารณา และตรวจค้นเพื่อจะหาสิ่งไรมายืนยันว่าข้อนั้นผิดอย่างนั้น หรืออาจจะเป็นช่นนั้นๆ บางทีไปถูกเหมาะเข้าก็ได้อะไรดีๆ บ้าง…”

แม้ผมเองจะเห็นพ้องกับข้อเสนอของพระองค์ว่า พงศาวดารเหนือเราสามารถที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ได้อย่างแน่นอน แต่วิธีการที่พระองค์ใช้นั้นก็ชวนให้ตั้งคำถาม

เพราะเมื่อใดก็ตามที่พระองค์ทรงเริ่มทำการวิเคราะห์ว่าเนื้อความส่วนใดจริงและส่วนใดน่าจะเป็นเรื่องแต่ง ที่อาจไม่น่าเชื่อถือนักนั้น น่าสนใจว่า พระองค์มิได้ทรงมีระเบียบวิธีการวิเคราะห์ที่เป็นระบบหรือน่าเชื่อถือทางวิชาการเท่าใดนัก หากอ่านดูเราจะพบว่า พระองค์ทรงเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อบนฐานอุดมการณ์ของพระองค์ทั้งหมดโดยอาจไม่มีหลักฐานที่แข็งแรงมากพอนัก

 

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วนะครับว่า “พงศาวดารเหนือ” เป็นหนังสือที่รวบรวมนิทานตำนานหลากหลายเรื่องหลากลายสำนวนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น “พระร่วง” ในพงศาวดารเหนือจึงมีหลายคนหลายบุคคลิกและหลายชาติกำเนิด

แต่รัชกาลที่ 6 ก็มีพระราชวินิจฉัยว่า เรื่องนี้จริงน่าเชื่อถือ และเรื่องนั้นปลอมไม่ควรเชื่อ

ตัวอย่างเช่น ประวัติของ “พระร่วง” ในพงศาวดารเหนือที่มีประวัติแตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก ทรงเลือกที่จะเชื่อเฉพาะสำนวนที่อธิบาย “พระร่วง” ว่ามีชาติกำเนิดเป็นกษัตริย์ มีพระนามว่า “อรุณราชกุมาร” และเป็นโอรสของ พระยาอภัยคามมณี กับนางนาค

โดย “พระร่วง” สำนวนที่รัชกาลที่ 6 ทรงเชื่อนี้ เป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมาก สามารถทำการ “ลบศักราช” ได้ มีพระราชอำนาจจนสามารถเดินทางไปเมืองจีนและได้พระราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนมาเป็นมเหสี

แต่ในเวลาเดียวกัน รัชกาลที่ 6 ก็ทรงตัด “พระร่วง” ในสำนวนที่เป็นกษัตริย์ที่มีความคะนองและชอบเล่นว่าว และไปทำชู้กับพระธิดาของพระเจ้าตองอู โดยทรงอธิบายให้เหตุผล (โดยไม่มีหลักฐานประกอบ) เพียงว่า กษัตริย์ที่มีบุญญาธิการมากเช่นนี้ไม่น่าจะทำเรื่องอะไรแบบนี้

และสำนวนที่พระองค์ปฏิเสธอย่างแข็งขันมากว่าเชื่อถืออะไรไม่ได้เลยก็คือ “พระร่วง” สำนวนที่มีชาติกำเนิดเป็นคนสามัญ บุตรของ “นายคงเครา” ลูกชาวบ้านธรรมดา (โดยไม่มีหลักฐานเช่นกัน)

ข้อสรุปเช่นนี้เป็นการสะท้อนให้เราเห็นถึงเป้าหมายของพระองค์ที่อาจทรงต้องการจะอธิบายความเก่าแก่และศิวิไลซ์ของชาติไทยในอดีตผ่านโบราณสถานอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มเมืองสุโขทัยภายใต้พระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์อันเป็นอุดมคติของไทยนั่นก็คือ “พระร่วง” หรือ “พ่อขุนรามคำแหง” นั่นเอง

ซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมผ่านพื้นที่ทางการเมืองวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์บทละคร หรือบทความตามหนังสือพิมพ์ ซึ่งทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปสู่การนำเสนอกษัตริย์ในฐานะที่เป็นหัวใจของชาติไทย