จรัญ มะลูลีม : จากเนห์รูถึงโมดี นโยบายต่างประเทศของอินเดียที่เปลี่ยนไป (1)

จรัญ มะลูลีม

เยาวหระลาล เนห์รู ผู้เป็นสถาปนิกของนโยบายต่างประเทศอินเดียหลังจากได้รับเอกราชได้เลือกเอานโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligment) และความเป็นปึกแผ่นกับประเทศที่กำลังพัฒนามาเป็นหลักนำในการวางนโยบายต่างประเทศของอินเดียมาจนถึงทศวรรษ 1980

ที่สำคัญก็คือปี 2017 ถือเป็นการครบรอบ 70 ปี ของการประชุมความสัมพันธ์เอเชีย (Asian Relations Conference) หรือ ARC ที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของอินเดียในเวทีโลก

การประชุมนี้จัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี (New Delhi) ในเดือนมีนาต่อกับเมษายน ปี 1947 อันเป็นช่วงที่อินเดียเกือบจะได้เอกราชโดยมีผู้นำจากประเทศเอเชียหลายประเทศเข้าร่วม

และเป็นเวลาเดียวกันที่ประเทศอาณานิคมยังคงมีความฝันว่าประเทศในเอเชียที่ตนเองเข้ายึดครองจะอยู่ใต้อิทธิพลของตนตลอดไป

เนห์รูได้ประกาศในที่ประชุมว่าอินเดียมิได้ออกแบบให้แก่ประเทศใดๆ แต่การ “ออกแบบอันยิ่งใหญ่” ของอินเดียนั้นอยู่ที่การส่งเสริมสันติภาพและความก้าวหน้าทั่วโลก

 

สําหรับประเด็นชาตินิยมที่ยังคงเต็มไปด้วยอารมณ์อยู่ในอินเดียในเวลานั้น เนห์รูกล่าวว่ามันมีบทบาทอยู่ในทุกๆ ประเทศ แต่ “ไม่ควรยอมให้เป็นความก้าวร้าวและควรมาจากแนวทางการพัฒนาระหว่างประเทศ” การประชุม ARC ตามมาด้วยการประชุมที่เมืองบันดุง (Bandung) ของอินโดนีเซียซึ่งเป็นการประชุมเอเชีย-แอฟริกา หรือแอฟโรเอเชียในปี 1955 โดยอินเดียมีบทบาทสำคัญในการจัดการประชุมครั้งนี้

การประชุมดังกล่าวเป็นต้นแบบของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) หรือ NAM

ทั้งนี้ มีผู้นำจาก 29 ประเทศ รวมทั้งจีน อียิปต์ อินโดนีเซียและอิรักเข้าร่วม

การประชุมดังกล่าวได้มีการย้ำถึงการต่อสู้อย่างเอาจริงเอาจังเพื่อขจัดความยากจน ความอยุติธรรม ลัทธิการล่าอาณานิคมและจักรวรรดินิยม

ประเทศเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าพวกเขาไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในสงครามเย็น (Cold War) ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต

 

การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดกลายมาเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายต่างประเทศของอินเดียมายาวนานต่อไปอีก 40 ปี

แม้ว่าในระยะเวลาที่อินเดียไม่ได้ปกครองโดยพรรคคองเกรส (Congress) ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ก็ตาม กระนั้นเส้นทางของนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

ในหมู่ประเทศที่มีความเท่าเทียมกันอินเดียถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ (primus inter pares) ที่ยังคงใช้หลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในช่วงสงครามเย็นต่อไป

ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 สหรัฐเรียกนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินเดียว่าเป็นนโยบายที่เป็นศัตรู John Foster Dulles รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดี Eisenhower ถึงกับเรียกนโยบายนี้ว่าเป็น “ความชั่วร้าย” เลยทีเดียว

ในช่วงเวลาดังกล่าวอินเดียมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอถึงความอยุติธรรมภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา

ขวัญและกำลังใจรวมทั้งการสนับสนุนทางการทูตที่อินเดียมอบให้ในการต่อสู้เพื่อให้มีการยกเลิกการปกครองแบบอาณานิคม (decolonization) ในแอฟริกาใต้มีส่วนอย่างสำคัญให้หลายประเทศในแถบนั้นได้รับการปลดปล่อย รวมถึงการสิ้นสุดลัทธิเหยียดผิว (apartheid) ไปในที่สุด

นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศแถวหน้าในความพยายามที่จะนำเอาเรื่องสิทธิของชาวปาเลสไตน์ (Palestinians) และประชาชนผู้ได้รับการกดขี่มากล่าวถึงอีกด้วย

จึงอาจกล่าวได้ว่าในเวลานั้นอินเดียได้รับไมตรีจิตอยู่ในหลายเมืองหลวงของโลก โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช

 

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้นโยบายต่างประเทศของอินเดียมีความแตกต่างอย่างสุดกู่จากที่เคยเป็นเมื่อ 40 ปีก่อน

การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอินเดียจากพรรคคองเกรส พีวี นารา สิมฮา ราว (P.V.Narasimha Rao) เมื่อต้นทศวรรษ 1990

นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของอินเดียให้เหตุผลว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปล้วนมีความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายของอินเดียเป็นอย่างมาก

เมื่อสงครามเย็นใกล้สิ้นสุดลงและกลุ่มประเทศที่สังกัดอยู่ในค่ายสังคมนิยมตกอยู่ในสภาพกระจัดกระจาย นโยบายต่างประเทศของอินเดียที่มีความมุ่งหมายอันสูงส่งจึงค่อยๆ ยกเลิก หลักการของเนห์รู (Nehruvian) ที่เนห์รูได้วางเอาไว้จนหมดสิ้น

 

จากแรงดันข้างต้นเป็นผลให้อินเดียผันตัวเองเข้าสู่มหาอำนาจใหญ่ และจากจุดหมายดังกล่าวที่มีอยู่ในจิตใจ อินเดียจึงค่อยๆ เริ่มปูทางไปสู่ตะวันตก

ผู้วางนโยบายของอินเดียมักจะชี้ให้เห็นว่าจีนมีความรุ่งเรืองและขยายความรุ่งเรืองไปกว้างไกลก็เนื่องมาจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตะวันตกหลังจาก เติ้ง เสี่ยว ผิง (Deng Xiaoping) เขามามีอำนาจ

เป็นเรื่องถูกต้องที่จะกล่าวว่าความใกล้ชิดกับสหรัฐช่วยให้จีนปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะประเทศที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ

ผู้วางนโยบายของจีนได้ใช้ความเป็นศัตรูระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐมาเป็นประโยชน์ของตน อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนที่มุ่งสู่ตลาดเสรีได้นำจีนไปสู่พื้นฐานการก่อตัวขึ้นสู่มหาอำนาจโลกด้วยความสงบ

แต่ก็จะต้องบันทึกไว้ด้วยว่าจีนไม่เคยยกเลิกเขตอำนาจทางยุทธศาสตร์ (strategre autonomy) ของตนลงเลย ทั้งนี้ จะพบว่ายังไม่มีการลงนามความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระยะยาวระหว่างจีนกับสหรัฐให้เห็นแต่อย่างใด

สำหรับอินเดียในเวลานี้จะพบว่าประเด็นอย่างเช่นการไม่ใฝ่ฝ่ายใด รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศยากจนค่อยๆ กลายเป็นอดีต แม้ว่ารัฐบาล ซึ่งนำโดย เทวี เกาดา (H.D.divi Gowda) และกุจรัล (IK Gujral) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้นำประเทศเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อกลางทศวรรษ 1990 มีความพยายามที่จะนำเอาอินเดียกลับไปสู่แนวทางของเนห์รูอีกครั้งก็ตาม

นับจากนั้นเป็นต้นมานโยบายต่างประเทศของอินเดียที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศและการป้องกันประเทศก็มุ่งสู่ตะวันตก

การทดลองนิวเคลียร์ของอินเดียในปี 1988 ได้รับการแซงก์ชั่นทางเทคโนโลยีจากประเทศตะวันตก

และเพื่อจะเอาตัวเองออกมาจากการแซงก์ชั่นอันหนักหน่วงนี้รัฐบาลพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratie Alliance) หรือ NDA ซึ่งนำโดย อตัล พิหารี วัชปายี จึงหันมาสู่การเข้าร่วมกับสหรัฐในที่สุด