นงนุช สิงหเดชะ : เมื่อ “เพื่อไทย” ดาหน้าประกาศไม่รับร่าง รธน.

ถือว่าเป็นซีกการเมืองที่เดือดร้อนออกนอกหน้ามากเป็นพิเศษสำหรับพรรคเพื่อไทยต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ทำให้ระยะหลังนี้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการเป็นระบบค่อนข้างถี่ในแบบสองขาพร้อมกันตามสูตรที่คุ้นตากันดี

ขาหนึ่งคนพรรคเพื่อไทยตัวเอ้ ตัวเล็กออกแถลงการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตย (เหมือนเดิม)

อีกขาหนึ่งมวลชนเจ้าเก่าคือ นปช. แหลมหน้าออกมาประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า”

แต่ว่าหลายคนเห็นหน้าทีมงานที่เป็นเจ้าภาพปราบโกงแล้ว ได้แต่ส่ายหน้าไปตามๆ กัน เพราะว่าคนแบบนี้หรือจะมาปราบโกง เพราะอดีตเจ้านายของคนเหล่านี้ยังมีปัญหาจากคดีทุจริตเพียบเลย

สำหรับคนทั่วไปก็มองเป็นเรื่องขำ ไม่ได้คิดว่าคนเหล่านี้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือในเรื่องปราบโกง เห็นเป็นเพียงเกมการเมืองมากกว่าในการที่จะบ่อนเซาะ ดิสเครดิต คสช. ทางอ้อม

แม้ปากจะอ้างว่าทำไปเพื่อให้การลงประชามติโปร่งใสไม่คิดล้มล้าง คสช. ก็ตาม

 

ในตอนแรก นปช. คงคิดว่าจะไปได้สวยเพราะถ้อยคำที่ใช้ ทั้งชื่อศูนย์และสโลแกนที่ว่า “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ไม่น่าจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประชามติ เพราะอุตส่าห์ทำเนียนสุดฤทธิ์แล้ว และอย่างน้อยก็ได้ส่งสารถึงมวลชนในลักษณะที่สงสัยว่าประชามติอาจมีการโกง (โดยภาครัฐ) เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน

การจุดประเด็นโกงประชามติขึ้นมา นัยยะทางอ้อมอาจต้องการปลุกระดมให้มวลชนเห็นความเลวร้ายของภาครัฐจะได้ออกไปลงประชามติ “ไม่รับ” กันอย่างหนาแน่น จากนั้นหากประชามติไม่ผ่านก็จะได้ใช้เป็นข้ออ้างชอบธรรมเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามที่ซีกการเมืองต้องการและเรียกร้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเสนอแนะให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้

ส่วนคำว่า “ประชามติต้องไม่ล้ม” ก็เพื่อจะดักคอรัฐบาลว่าต้องไม่ล้มการลงประชามติ หลังจากมีกระแสว่าถ้ายุ่งยากนักรัฐบาลอาจไม่จัดให้มีการลงประชามติ แต่ให้เลือกตั้งเลย หากเป็นอย่างนั้นพรรคการเมืองที่เดือดร้อนเรื่องนี้จะไม่มีโอกาสได้แก้รัฐธรรมนูญเลยก่อนเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หลังจากดูลาดเลาสักพัก รัฐบาลก็จัดการปิดศูนย์ปราบโกงนี้ เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยก็จะข้ามเส้นไปสู่การปลุกระดมการเมืองแบบกลายๆ ตีกินทางการเมือง ไม่ให้ตกกระแส และไม่ให้ตกเรดาร์โลก

การปิดศูนย์ก็เข้าทาง นปช. อีก เพราะเป็นโอกาสนำเรื่องไปฟ้ององค์กรระหว่างประเทศอย่างยูเอ็น (ตามเคย)

 

ฝ่ายรัฐบาลเอง หลังจากผ่อนปรนให้ นปช. แอ๊กชั่นไปพอสมควร ก็ได้ทีตลบหลังย้อนเกล็ดเปิดโปงเอาบ้างในทำนองว่า “พวกแกก็ไม่ได้โปร่งใสอะไรหรอกน่า” ด้วยปฏิบัติการเข้าควบคุมตัวกลุ่มคนที่โพสต์เฟซบุ๊กภาพ ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ จ.นครพนม ซึ่งในภาพปรากฏกลุ่มคน 30 คนยืนถ่ายรูปพร้อมข้อความด้านหลัง

หลังจากเจ้าหน้าที่สืบทราบ ก็ไปควบคุมตัวคนที่ปรากฏในภาพมาสอบสวนได้ 8 คน ทั้งหมดรับสารภาพว่าไม่ได้ตั้งใจจะตั้งศูนย์ปราบโกง และซัดทอดว่า นายดำรงศักดิ์ พุทธา อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านน้อยใต้ และอดีตแกนนำ นปช. ได้ว่าจ้างชาวบ้าน หมู่ 1 และหมู่ 11 ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ประมาณ 30 ราย ในราคาคนละ 200 บาท ให้ไปร่วมถ่ายภาพดังกล่าวที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3

เจ้าหน้าที่เตรียมล่าตัวนายดำรงศักดิ์ ผู้ถูกซัดทอด เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาขัดคำสั่ง คสช. ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

คนที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเพื่อไทยและ นปช. อาจกล่าวอ้างได้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการกลั่นแกล้งหรือเชือดไก่ให้ลิงดู และอาจอ้างว่ายัดเยียดข้อหา แต่สำหรับคนทั่วไปไม่แปลกใจและไม่ได้คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะพฤติกรรมดังกล่าว (ใช้เงินจูงใจชาวบ้านบางส่วน) เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการชุมนุมทางการเมืองยุคเผาเมืองก่อนหน้านี้ ที่มีคลิปแสดงให้เห็นการแจกเงินค่าชุมนุมกันจะจะ

ปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ เท่ากับเปิดโปงว่ากิจกรรมการเมืองทำนองนี้มี “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งลดทอนความน่าเชื่อถือของศูนย์ปราบโกงไปพอสมควร

 

ส่วนสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายสิบคน ที่พร้อมใจกันโพสต์เฟซบุ๊กไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่าไม่สามารถยอมรับได้เพราะไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น น่าตั้งคำถามว่าหากประชามติผ่านขึ้นมา คนเพื่อไทยจะลงเลือกตั้งหรือไม่

เหตุที่ถามอย่างนี้เพราะคนในพรรคนี้เคยทำแบบเดียวกันเมื่อปี 2550 (หลังรัฐประหาร 2549 โดย คมช. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน) คราวนั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง นำทีม ส.ส.กลุ่มไทยรักไทยกว่า 30 คน แถลงข่าว (เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2550) รณรงค์โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พร้อมกับเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้

แต่ปรากฏว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติฉลุย และมีการเลือกตั้ง ปรากฏว่าคนในพรรคนี้ก็ยังลงเลือกตั้ง ในนามพรรคพลังประชาชนและได้ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

อันที่จริงเมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้ ก่อนที่ พ.ร.บ.ประชามติจะมีผลบังคับใช้ สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวแบบเดียวกันคือเชิญชวนให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้

ในครั้งนี้หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และไปสู่การเลือกตั้ง เชื่อว่าคนพรรคเพื่อไทยที่ออกมาพูดวันละ 3 เวลาว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ก็คงจะลงเลือกตั้งอีก เสร็จแล้วก็จะหาเหตุผลสวยหรูมาอ้าง เช่น ถ้าไม่ลงเลือกตั้งก็เป็นการปิ้งปลาประชดแมว หมดโอกาสที่จะเข้าไปออกเสียงในสภา ถ้าได้ไปนั่งในสภายังมีโอกาสจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย บลา บลา บลา

สรุปให้ได้ใจความสั้นๆ ก็คือถ้าไม่ได้ลงเลือกตั้ง ก็คงอดอยากปากแห้ง หมดอาชีพ ในที่สุดก็ต้องลงเลือกตั้ง อุดมการณ์ (ไม่รับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย) ที่เคยประกาศไว้ก็อาจจะถูกเก็บเข้าลิ้นชักเหมือนเดิม

ดังนั้น ใครที่ฟังคนพรรคนี้บอกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็พึงระลึกไว้ว่าไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ลงเลือกตั้ง