ชมวัดคูเต่า เล่าเรื่อง “ส้มคางคก” / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

ชมวัดคูเต่า

เล่าเรื่อง “ส้มคางคก”

 

เที่ยวกันเองในประเทศก็สนุกและได้ความรู้

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดคูเต่า จังหวัดสงขลา ยลแลความงามโบราณสถานที่สำคัญ ตั้งแต่อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีอายุหลายร้อยปี นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ลึกซึ้งมีคุณค่าต่อการศึกษาอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะ “ศาลา 100 ปี วัดคูเต่า” ได้รับ “รางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011” (พ.ศ.2554) จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ไม่ได้ถ่ายภาพศาลาเก่ามาให้ดู ได้ภาพชอบใจโบสถ์เก่าสวยๆ มาให้ดู

วัดแห่งนี้อยู่ติดกับคลองที่เรียกว่า คลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นชื่อของเฟิร์นชนิดหนึ่ง แต่จากการเดินสำรวจอย่างคร่าวๆ ยังไม่พบเฟิร์นอู่ตะเภาในบริเวณนี้เลย

ที่ประทับใจมากตรงบริเวณลานวัด ใครที่มาเที่ยวชวนให้มาชมต้นไม้ที่มีผลเหมือนกับต้นอัมพวา (Cynometra cauliflora L.) จำนวนมาก

สอบถามพระในวัดไม่มีรูปใดรู้จักเลยว่าไม้ชนิดนี้มีชื่อท้องถิ่นว่าอะไร

จึงกลับมาศึกษาค้นคว้าพบว่า ไม้ในสกุลนี้ (Cynometra) มีการกระจายตัวอยู่ในแถบศูนย์สูตรของโลก จากรายงานของ Plant of the World (https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:22178-1) พบว่าในโลกนี้มีการจัดจำแนกพืชในสกุลนี้ไว้แล้วจำนวน 113 ชนิด

แต่มีรายงานว่าพบในประเทศไทยจำนวน 5 ชนิดเท่านั้น คือ

 

1) อัมพวา (Cynometra cauliflora L.) มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่า นัมนัม (ภาคใต้) นางอาย (กรุงเทพฯ) บูรานัม (ภาคกลาง) หีหมา (ปัตตานี) อัมพวาเป็นไม้ต่างถิ่น (มีถิ่นกำเนิดในมาเลเซียและอินโดนีเซีย) ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ลักษณะที่สำคัญคือ ผลติดตามลำต้น

2) แหะ (Cynometra craibii Gagnep.) มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่า แหะ แห่น้อย (นครพนม) พบถิ่นกำเนิดในไทยและเวียดนาม จัดอยู่ในกลุ่มพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์

3) มังคะ (Cynometra iripa Kostel.) มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่า กาต๋ง แตดลิง (ภาคใต้) มีถิ่นกำเนิดใน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกินี ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ใบค่อนข้างเล็ก ผลเล็ก ผิวหยักมาก มีจำนวนประชากรมาก

4) มังคาก (Cynometra malaccensis Meeuwen) มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่า กลี กาตง (นราธิวาส) มังคาก (ภูเก็ต) ร้อยเด (ปัตตานี) มีถิ่นกำเนิดในอัสสัม ภาคใต้ของไทยและมาเลเซีย

5) มะคะ (Cynometra ramiflora L.) มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ ว่า พังคะ มังคะ (ภาคกลาง ภาคใต้) พังค่า (ตรัง) แมงคะ (ตราด) มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย นิวกินี ฟิลิปปินส์ และรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย

ไม้ในสกุลนี้ทั้ง 5 ชนิด มีลักษณะของผลที่คล้ายกัน แตกต่างกันที่ขนาดของลำต้น ลักษณะของใบ และตำแหน่งของการติดผล ซึ่งคนภาคใต้เรียกผลไม้ในสกุลนี้รวมกันว่า “ส้มคางคก” เนื่องจากมีผิวของผลขรุขระเหมือนหนังคางคกและรสเปรี้ยวจัด

แต่เมื่อผลส้มคางคกสุกความเปรี้ยวจะลดลงกลายเป็นหวานอมเปรี้ยว นิยมนำมาประกอบอาหาร เช่น แกงส้ม น้ำพริก สลัด หรือนำมาแช่อิ่ม กินเป็นของหวานหรือของว่าง ผลที่มีรสเปรี้ยวเมื่อประกอบอาหารจึงช่วยกระตุ้นให้อยากอาหารและมีการขายผลส้มคางคกในตลาดพื้นเมืองหลายแห่ง ส่วนของใบอ่อนยังนำมากินเป็นผักได้เช่นกัน น้ำมันจากเมล็ดใช้รักษาโรคผิวหนัง

แต่ส่วนเนื้อไม้ของส้มคางคก มีลักษณะแตกต่างกันมาก เช่น ไม้จากต้นอัมพวา (Cynometra cauliflora) จัดว่าเป็นไม้ที่ไม่มีราคา เหนียว เลื่อยยาก ไม่สามารถนำมาใช้ได้แม้กระทั่งทำฟืน

ไม้จากต้นมังคะ (Cynometra iripa ) มีเนื้อไม้ที่แข็ง นำมาใช้ในการก่อสร้างได้ดี โดยเฉพาะทำเป็นไม้พื้นกระดาน หมอนรางรถไฟ ในทางอายุรเวทของอินเดียกล่าวถึงสรรพคุณว่า ใช้รักษาแผล ต้านแบคทีเรีย ต้านจุลินทรีย์ โดยใช้ส่วนของ ใบ เมล็ดและลำต้น

ไม้จากมังคาก (Cynometra malaccensis) มีเนื้อไม้ที่เหมาะนำมาใช้งานมากกว่าชนิดอื่นๆ นิยมนำมาทำเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ ของเล่นเด็กหรือทำสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ และเนื้อไม้มีคุณภาพดีเหมาะที่จะนำมาทำเป็นถ่าน

ไม้จากมะคะ (Cynometra ramiflora) มีเนื้อไม้ที่แข็งและหนัก นิยมนำมาใช้ทำกรอบวงกบ ใช้ทำเครื่องมือ งานแกะสลัก ตกแต่งงานต่างๆ มีรายงานการใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ส่วนของใบใช้เป็นยารักษาเริม ส่วนของรากใช้เป็นยาระบาย ชนพื้นเมืองในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ในประเทศอินเดียนำใบมาต้มกับนม แล้วนำมาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้เป็นโลชั่นทาผิวหรือใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง หิดและแผลที่เกิดจากโรคเรื้อน หรือจะใช้น้ำมันที่ได้จากเมล็ดรักษาได้เช่นกัน ส่วนรากใช้เป็นยาถ่ายและยาระบาย

สำหรับ ไม้แหะหรือแห่น้อย (Cynometra craibii) ไม่ควรนำมาทำอะไรทั้งสิ้นเพราะเป็นเพียงชนิดเดียวในกลุ่มนี้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อไม้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในประเทศไทยพบไม้ชนิดนี้อยู่บ้างบริเวณป่าบุ่ง ป่าทามของภาคอีสาน

และไม่เพียงแต่ไม้แหะที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ในปัจจุบันป่าบุ่ง ป่าทาม หรือสภาพป่าทั้งป่าก็อยู่ในภาวะวิกฤตเพราะถูกคุกคามมากเช่นเดียวกัน

 

มังคะ มังคาก และ มะคะ เป็นไม้ที่ยังพบได้มากทางภาคใต้ ที่สงขลาเรียกไม้ในกลุ่มนี้ว่า “ต้นหน้าหนำ” เพราะนิยมปลูกไว้หน้าขนำ เป็นไม้ที่ให้ร่มเงาดี แต่น่าเสียดายที่ไม้ชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันน้อยมาก ทำให้การนำมาใช้ประโยชน์น้อยตามลงไปด้วย ในต่างประเทศนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ทำไม้ดัด บอนไซ

ไม่น่าจะมีอะไรช้าไปถ้ามาช่วยกันสืบค้นภูมิปัญญาดั้งเดิมและศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เหมือนศาลาเก่าร้อยปียังขึ้นมรดกยูเนสโกได้ ส้มคางคก ก็น่าจะกลับมาเพื่อประโยชน์ชุมชนได้เช่นกัน •