จากดราม่า #แม๊ สู่ความอินกับข่าว #คดีแตงโม หาวิธีมูฟออน ผ่านการคุยกับนักจิตวิทยา/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

จากดราม่า #แม๊

สู่ความอินกับข่าว #คดีแตงโม

หาวิธีมูฟออน ผ่านการคุยกับนักจิตวิทยา

ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปรากฏการณ์สังคมกับข่าวคดีแตงโมนั้นมีหลายหลายมิติมากที่เราจะพูดในเชิงจิตวิทยาได้

ถ้าถามว่าทำไมคนอินกับข่าวนี้มากจังเลย ทั้งที่ข่าวอื่นๆ มีตั้งเยอะ ติดตามจนอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิต

โดยธรรมชาติแล้วคนเราก็จะให้ความสนใจข่าวทางลบมากกว่าทางบวกอยู่แล้ว เพราะว่าข่าวทางลบมันเป็นอะไรที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นภัยคุกคามที่จะเข้ามาในชีวิตเราหรือเปล่า แล้วถ้าอิงตามทฤษฎีจิตวิทยาในเชิงวิวัฒนาการ ก็เป็นกลไกที่ถูกโปรแกรมมาในร่างกายจิตใจของมนุษย์อยู่แล้วว่าจะต้องสนใจข่าวทางลบเป็นพิเศษมากกว่าทางบวก เพราะฉะนั้น แน่นอนว่าคนจะให้ความสนใจมากกว่าเดิม

โดยเฉพาะข่าวการเสียชีวิตของคุณแตงโมมันเป็นข่าวที่รู้สึกว่าเหมือนเขาตกเป็นเหยื่อ ด้วยเซนส์ของการนำเสนอข่าวแล้วก็จะยิ่งรู้สึกว่าเราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นกับการใช้ชีวิต ซึ่งมันก็มีงานงานวิจัยทดลองศึกษาทั่วไป ที่เคยสำรวจ พบว่าลักษณะคดีแบบมีคนที่เป็นเหยื่อหรือเหตุการณ์ที่มีข่าวลักษณะแบบนี้ผู้หญิงจะให้ความสนใจมากกว่าผู้ชาย

เพราะผู้หญิงจะรู้สึกว่าตัวเองมีแนวโน้มที่อาจจะตกเป็นเหยื่อได้มากกว่าโดยเนเจอร์อยู่แล้ว

ถามว่าเหตุการณ์ของคุณแตงโมที่คนอินมาก จนบางคนมองว่าก็แค่ดาราแล้วไม่ได้เป็นเพื่อนเราซะหน่อย แล้วสนใจทำไม

ว่าจริงๆ มันมีแนวคิดจิตวิทยา ที่เรียกว่า Parasocial relationship มันเป็นเหมือนความสัมพันธ์ทางสังคมกึ่งจริง เป็นความสัมพันธ์ที่เราสร้างขึ้นกับคนที่อยู่ในจอ เช่น ดารา เซเลบ หรือแม้กระทั่งกับพวกตัวละครที่เราดูในหนังในละครหรือนิยายที่เราอ่าน

พอเราติดตามมามากๆ ก็จะรู้สึกว่าเราจะผูกพันกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เราได้ติดตามเขา เป็นความคุ้นเคยผูกพัน แล้วบางคนอาจจะใกล้ชิดจนคลั่งไคล้

เพราะฉะนั้น การที่บางคนเราก็จะรู้สึกอินมากเพราะเขารู้สึกเหมือนว่ารู้จักกันมานานเหมือนเขาเป็นเพื่อนเราคนหนึ่งแล้ว โตมากับเขาเลย เหมือนเสียเพื่อนหรือเสียคนในครอบครัวไป

เพราะฉะนั้น เมื่อผูกพันยิ่งค้นหาข้อมูลมากขึ้น จึงไม่แปลกว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงแบบอินจัดเป็นพิเศษ ติดตาม 24 ช.ม.

อีกมุมหนึ่งสำหรับกรณีของคุณแตงโม เป็นการเสียชีวิตที่เรารู้สึกว่าไม่กระจ่าง เกิดความเคลือบแคลงสงสัย แล้วธรรมชาติของมนุษย์ก็จะไม่ชอบอะไรที่ไม่แน่นอนกำกวม เพราะคนส่วนใหญ่จะชอบแบ่งประเภทให้เป็นระบบเพื่อให้ง่ายกับการ Process ข้อมูล ง่ายกับการใช้ชีวิตว่าอะไรคืออะไรกันแน่?

พอมันไม่มีความชัดเจนตรงนี้เราก็จะค้นหาข้อมูลมากๆ “เพื่อให้ได้คำตอบแบบที่เราต้องการ”

พอเรามีความเชื่อเดิมดั้งเดิมในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้วเราจะไปหาข่าวค้นหาข้อมูลที่มันสอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อเดิม หาข่าวมายืนยันความเชื่อของตัวเอง แล้วเหมือนกับว่าทางสื่อทั้งกระแสหลักทางโซเชียลมีเดียค่อนข้างจะคิดไปในทิศทางที่ว่าอาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุ ยิ่งนำเสนอมาก เรายิ่งปวารณาตัวเองเป็นนักสืบโคนัน

เราต้องการคำตอบชัดเจนและหาข้อมูลมาซัพพอร์ตตัวเองไปเรื่อยๆ

 

แน่นอนว่าไม่มีใครคิดเหมือนเรา 100% ยิ่งถ้ากลุ่มคนนั้นคือในครอบครัว เราจะรู้สึกว่าเป็นคนในที่เราใกล้ชิดด้วย สนิทคุ้นเคย มีความสนิทสนม เราก็มีความคาดหวังว่าคนในครอบครัวหรือเพื่อนที่แวดล้อมเราน่าจะคิดไปในทิศทางเดียวกัน ถึงอยู่ด้วยกันมาได้นาน

บางครั้งพอเจอเรื่องอะไรบางอย่าง ถ้าคนในครอบครัวหรือเพื่อนเราคิดต่าง อาจจะเป็นชนวนที่ทำให้เราแบบเกิดการทะเลาะเกิดความรู้สึกว่าทำไมคิดไม่เหมือนกัน จนโต้เถียงกัน ขณะเดียวกันอีกฝั่งหนึ่งก็พยายามโน้มน้าวให้คิดเหมือนเขา

ขณะเดียวกันการที่อินกับข่าวนี้มากเกินไปมันกระทบชีวิตในอีกแง่หนึ่งด้วย คือ เรื่องสุขภาพ จะเห็นว่ากรมสุขภาพจิตออกมารณรงค์ว่าไม่ควรติดตามข่าวสารมากจนเกินไป ซึ่งยุคนี้เป็นยุคแห่งข่าวสาร ที่มีข้อมูลแบบเยอะมาก คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ในอดีตยังไม่มีโซเชียลมีเดีย คนอาจจะรู้สึกว่าติดตามได้จากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ซึ่งเขาก็รายงานเป็นช่วงๆ มันก็จะมีจังหวะให้เราพักสมองนิดหนึ่งได้คิดเรื่องอื่นได้

แต่พอมีโซเชียลมีเดียมันตอบสนองสิ่งที่เราสนใจเราจึงอินกับมันมาก บางทีเราหลงไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียเป็นวันๆ บางอย่างแค่พิมพ์คีย์เวิร์ด แฮชแท็ก ตามไปก็สามารถค้นหาได้เต็มที่เลย

 

สภาวะที่เราไม่อยากตกกระแสสังคมนี้ ดร.หยกฟ้าบอกว่า มีงานจิตวิทยาอันหนึ่งที่เรียกคอนเซ็ปต์ดังกล่าวว่า Fear of Missing Out (FOMO) คือเวลาที่เขาพูดถึงเรื่องอะไรกันในสังคม แต่เราไม่รู้ก็จะรู้สึกว่าเดี๋ยวจะ Out หรือเปล่า? เราจะถูกดีดออกมานอกกลุ่ม จะเป็นแกะดำหรือไม่?

ยิ่งมีโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้รู้สึกว่ากระแสสังคมมันมีเยอะมากๆ แล้วก็ยิ่งไม่อยากตกกระแส

พอยิ่งติดตามไปเรื่อยๆ เราก็ไม่อยากตกข่าวนี้ อยากรู้เป็นคนแรก

เหมือนช่วงสัปดาห์แรกที่เขาเจอร่างคุณแตงโมตอนนั้นเป็นผู้คนแห่ติดตามดูทุกไลฟ์ เพราะอยากจะเสมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย อยากเป็นคนที่เห็นตอนที่กล้องกำลังถ่าย ประหนึ่งอยู่ในเหตุการณ์ จะได้รู้สึกว่าฉันไม่ตกกระแส

ซึ่งภาวะนี้มีรากเหง้าในจิตวิทยาแบบเป็นทฤษฎีเรื่อง need to belong เป็นความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่ง เหมือนกับว่าถ้าเรายิ่งรู้สึกว่าเราอิน เหมือนกับการที่เราได้รับการยอมรับจากกลุ่มมากขึ้น ถ้ากลุ่มไปไหน สังคมไปทางไหนเราต้องรู้เท่ากัน

เพื่อที่เราจะไม่รู้สึกว่าเราอยู่ชายขอบของสังคม

 

ส่วนกรณี #แม๊ นั้น ดร.หยกฟ้าบอกว่าเมื่อมองค่านิยมของคนไทย คือแม่ต้องปกป้องลูก ต้องรู้สึกเข้าข้างลูกตนเอง เราจะรู้สึกว่าเป็นลักษณะของคนที่เป็นแม่ จะต้องโกรธคนที่ทำให้ลูกตัวเองเสียชีวิตหรือมาทำร้ายทำให้ลูกบาดเจ็บ ในช่วงแรกที่คุณแม่ออกมาแล้วรู้สึกโกรธกับเพื่อนๆ ที่พาลูกเข้าไปบาดเจ็บเสียชีวิต สังคมรู้สึกว่านี่เป็นบทบาทคุณแม่ที่สังคมมองว่าควรจะเป็น เรายิ่งซัพพอร์ตเพราะรู้สึกว่าเขาทำหน้าที่ของความเป็นแม่ได้ดีตามที่คาดหวัง

แต่หลังจากที่คุณแม่เริ่มมีการให้สัมภาษณ์รายการต่างๆ มีการพูดถึง การให้อภัยคนนั้นคนนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้สังคมบางส่วนไม่พอใจจึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์

ยิ่งเมื่อเราเจอคุณแม่ที่อาจจะสื่อสารอะไรบางอย่างออกมาในแบบที่ไม่ตรงกับสิ่งที่สังคมพร่ำบอกเราหรือที่คุณครูสอนเรามา เราอาจจะไม่พอใจและเหมือนเป็นการแอนตี้ในการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านกลับ

แต่อยากให้มองว่าบางครั้งเวลาเราอยู่ในภาวะที่เสียใจหรือว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้น คนเรามักจะมีวิธีคิดแปลกไปเมื่ออะไรบางอย่างต้องสูญเสียคน เช่นกรณีอื่นๆ เราอาจจะเห็นว่ามีคนไม่ได้รู้สึกเศร้าอะไร แต่จริงๆ แล้วเก็บความรู้สึกอะไรบางอย่างภายใน ซึ่งเป็นเป็นวิธีการรับมือกับการสูญเสียของแต่ละคนที่ต่างกัน ใช้เวลาไม่เท่ากัน บางคน 3 วัน บางคน 7 วัน กว่าจะทำใจได้

การทำใจของแต่ละคนบางคนอาจจะร้องไห้บางคน แสดงอาการต่อต้าน หรืออาการเฉยชาไปเลยก็มี

เลยคิดว่าอย่าไปโฟกัสในส่วนนี้และอยากให้มองในประเด็นอื่นดีกว่า

 

สุดท้าย ดร.หยกฟ้ากล่าวว่า อยากให้คำแนะนำหากเราเสพสื่อ ถ้ารู้สึกว่าอินมากเกินไป รู้สึกว่าเราเครียด เริ่มรู้สึกไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเรียน นี่เป็นสัญญาณเบื้องต้นแล้วว่ามันมากเกินไปจนกระทบชีวิตและต้องหยุด หยุดช่องทางในการเข้าค้นหาข้อมูล อาจจะพักจากข่าวเหล่านี้ไปดูหนังหรือฟังเพลงหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้างเพื่อให้สมองได้พัก

แต่ถ้าเราอยากจะติดตามก็อาจจะลองลิมิตดูว่าเช้าครั้งหนึ่ง เย็นครั้งหนึ่ง ถ้าเรายังรู้สึกว่าฉันก็ยังไม่อยากตกกระแส แบบตื่นมาแล้วมานั่งดูโซเชียลมีเดียเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นไม่น่าจะปกติเท่าไหร่ และมันน่าจะส่งผลเสียกับเรามากเพราะเราคิดแต่เรื่องนี้อย่างเดียว

ดูสัญญาณเบื้องต้นว่าหากเราพูดเรื่องนี้เยอะมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าพูดเยอะอาจเตือนตนเองได้นะว่าเราเปลี่ยนเรื่องคุยกัน จะได้จะได้หันเหความสนใจไปยังจุดอื่น

อยากให้ติดตามข่าวสารแบบแบบมีสติ คือ ให้รู้ว่าตัวเราเองก็มีอคติในการรับข่าวสารเหมือนกันว่าเรามีใจเอนเอียงไปในทิศทางใดทางหนึ่งเหมือนกัน

กับอีกด้านหนึ่งก็คือสื่อมวลชนเอง อาจจะต้องช่วยกันดูแลจิตใจของประชาชนที่เสพสื่อด้วย อาจจะมองในมุมอื่น เสนอข่าวอื่นบ้าง ที่ทำให้คนไม่รู้สึกดาวน์หรือรู้สึกลบมากจนเกินไปก็อาจจะช่วยได้

เนื่องจากสื่อค่อนข้างมีผลในการชี้นำทางความคิดและความรู้สึกของคน

ชมคลิป