กระแสชาตินิยม บริโภคโปรตีนและสร้างพลเมืองใหม่ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

กระแสชาตินิยม

บริโภคโปรตีน และสร้างพลเมืองใหม่

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2480 รัฐบาลจัดงานฉลองเป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 8-12 ธันวาคม

มีกิจกรรมแข่งขันกีฬาหลากหลายที่ท้องสนามหลวง

รวมทั้งมหรสพที่ท้องสนามหลวงและสวนสราญรมย์

ละครเรื่องเลือดสุพรรณ

ศึกถลางในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

นางงามประจำภาคเหนือ 2480 จากเชียงรายกับถั่วเหลือง และหนังสือถั่วเหลืองรำข้าว (2479)

ในสมุดกิจกรรมงานฉลองปีนั้น ที่สวนสราญรมย์มีการแสดงนาฏศิลป์ ละคร บนเวทีประกวดนางสาวไทย เป็นเรื่องสงครามและความรักชาติ ทั้งโขน ตอนสามทัพ และละครสมัยใหม่ที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ

ในวันที่ 8 ธันวาคม แสดงเรื่องเลือดสุพรรรณ อันเป็นผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ โดยบทละครนี้เคยถูกแสดงครั้งแรกในปี 2479 และถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้งในงานฉลองนี้

เลือดสุพรรณเป็นละครรำผสมผสานการร้องเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสมัยใหม่ ที่ได้รับความสำเร็จอย่างมากในการแสดงครั้งแรก และต่อมามีการสร้างเป็นภาพยนตร์ในปีเดียวกัน ท้องเรื่องละครดังกล่าวเป็นเรื่องสงครามกับความรัก เริ่มจากกองทัพพม่าได้บุกเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยในอดีต ได้จับตัวชาวบ้านที่อยู่ในเขตสุพรรณบุรีมาเป็นเชลย

ด้วยเหตุที่เลือดสุพรรณวางตัวเอกตัวเอกที่สุดของเรื่อง คือ ดวงจันทร์ สตรีไทยผู้เป็นเชลยศึกของพม่า ที่กล้าหาญนำชาวบ้านไทยสู้พม่า ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เห็นว่า หลวงวิจิตรฯ สร้างคติใหม่ว่า สตรีคือทหาร ทุกคนคือทหาร ในละครจึงให้ดวงจันทร์คับแค้นใจที่เห็นคนไทยถูกรังแก แต่ตนเป็นผู้หญิงที่ไม่อาจออกไปสู้รบได้ เธอตั้งใจว่า ชาติหน้าขอเกิดเป็นชาย แต่ในฉากสุดท้าย ดวงจันทร์และชาวบ้านสุพรรณทุกเพศทุกวัย ได้เป็นทหารสู้รบกับพม่าเช่นกัน

ร้านกรมไปรษณีย์และร้านกรมวิทยาศาสตร์ 2480

ด้วยเหตุที่ตัวเอกของละครเลือดสุพรรณ คือชาวบ้านธรรมดา มิใช่ชนชั้นนำ หลวงวิจิตรฯ จึงไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ในละคร เนื่องจากเป้าหมายละคร คือปลุกใจคนไทยให้มีความรักชาติอันเป็นสิ่งเดียวกับประกาศคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร… บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสสรภาพพ้นมือจากข้าศึก…”

ดังนั้น เลือดสุพรรณคือการเผยแพร่อุดมการณ์ของคณะราษฎรผ่านละครว่า ประชาชนคือเจ้าของ และปกป้องประเทศชาติ (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2559, 82-97)

สำหรับละครปลุกใจของกรมศิลปากร ที่แสดงในวันที่ 14 ธันวาคม คือเรื่องศึกถลาง บทละครดังกล่าว หลวงวิจิตรฯ ปรับมาจากบทละครเรื่องลูกรัฐธรรมนูญที่เขาแต่งขึ้นเมื่อ 2477 ให้นักเรียนกรมศิลปกรเล่นเป็นเรื่องแรกเมื่อครั้งตั้งโรงเรียน แต่เขาไม่พอใจ เพราะ “ข้าพเจ้าเอาเรื่องที่ควรเป็นเรื่องใหญ่มาย่อลงเป็นเรื่องเล็ก แสดงจบในชั่วเวลา 45 นาที ทำให้การแสดงรีบรุดเกินไป ไม่มีโอกาสได้เห็นความงดงามของเนื้อเรื่องได้เต็มที่ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงได้เอาเรื่องลูกรัฐธรรมนูญมารื้อทำใหม่ให้ชื่อว่า ศึกถลาง…” (วิจิตรวาทการ, 2480, 117) โดยศึกถลางเป็นเรื่องการปกป้องประเทศชาติโดยสตรีในอดีต

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากบทละครโดยรวมของหลวงวิจิตรฯ กล่าวได้ว่า เขาให้ความสำคัญกับตัวเอกที่เป็นสตรีในหลายบทละคร เช่น เลือดสุพรรณ ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี ซึ่งให้ความสำคัญกับสตรี ซึ่งมีความเท่าเทียมกับบุรุษในสมัยประชาธิปไตย (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2559)

ไทยภายหลังการปฏิวัติไม่นานเกิดกระแสชาตินิยมขึ้นพร้อมกับแนวคิดการสร้างพลเมืองให้เพิ่มจำนวนและมีสุขภาพอนามัยดีในการทำงานเพื่อการสร้างชาติ (ทวีศักดิ์ เผือกสม, 2550, 176-177) อันเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2480

โปสเตอร์ภาพยนตร์ เลือดสุพรรณ 2479 และสมุดเผยแพร่คุณค่าและเมนูอาหารจากถั่วเหลือง 2480

บริโภคถั่วเหลือง

แก้ “พลเมืองบกพร่องโปรตีน”

ความมุ่งมั่นสร้างพลเมืองใหม่ให้ระบอบประชาธิปไตยมีสุขภาพอนามัยแข็งแรงด้วยโภชนาศาสตร์ใหม่ปรากฏขึ้นในความคิดของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม สมาชิกคณะราษฎร และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ผู้ต้องการใช้วิทยาศาสตร์ในการปฏิวัติด้วยการส่งเสริมให้พลเมืองมีสุขภาพแข็งแรง เขาและกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จึงร่วมยกระดับการบริโภคใหม่ให้สังคมไทยด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคโปรตีนราคาถูกอย่างถั่วเหลืองเพื่อแก้ทุขโภชนาการของคนไทยที่สืบเนื่องมา

เมื่อครั้งที่ ดร.ตั้วเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาตร์ เขาพยายามใช้วิทยาศาสตร์ส่งเสริมพืชผลการเกษตรและการอาหาร เขาริเริ่มการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในไทย ในปี 2480 รัฐบาลแต่งตั้งเขาเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจ ต่อมาได้กลายเป็นนโยบายส่งเสริมการบริโภคถั่วเหลืองแก่ประชาชน

ดังนั้น หากท่านเข้าชมงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีนั้น นอกจากงานฉลองจะเป็นพื้นที่แห่งความรื่นเริง สนุกสนานแล้ว งานฉลองรัฐธรรมนูญปีนั้นยังเป็นพื้นที่ของความพยายามปฏิวัติจิตสำนึก ค่านิยม เพื่อการยกระดับสุขภาพอนามัยให้กับพลเมืองใหม่อีกด้วย

ในงานครั้งนั้น กรมวิทยาศาสตร์ได้แจกจ่ายหนังสือเรื่อง คุณค่าของถั่วเหลือง และวิธีประกอบอาหารจากถั่วเหลือง โดยคณะนักเรียนโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ เป็นเมนูประกอบอาหารคาวหวาน ทั้งไทยและฝรั่ง

นอกจากที่ท้องสนามหลวงมีปรัมประดิษฐานรัฐธรรมนูญให้เด่นสง่าแล้ว ที่สวนสราญรมย์ยังมีกิจกรรมรื่นเริง และงานออกร้านจากหน่วยราชการและเอกชนมากมายด้วย

การแต่งกาย แต่งหน้าทำผมของสตรีเข้าสู่สมัยใหม่อย่างมั่นใจ

เที่ยวชมงานปี 2480

ด้วยรอบๆ งานฉลองรัฐธรรมนูญมีการออกร้านของหน่วยราชการและเอกชนอย่างสวยงาม รัฐบาลจึงจัดการประกวดแต่งร้านขึ้นมาหลายปีแล้ว มีการประกวดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทแรก เผยแพร่รัฐธรรมนูญ เป็นการจัดแต่งร้านให้ชักจูงใจประชาชนเกิดความเสื่อมใสศรัธทาต่อรัฐธรรมนูญ

ประเภทที่สอง เน้นความสวยงาม เป็นการจัดแต่งร้านให้สวยงดงามตามหลักศิลปกรรม

และประเภทสุดท้าย คือ ตลกขบขัน เป็นการแต่งร้านให้เกิดความสะดุดตาสะดุดใจเมื่อเห็นแล้วเกิดความขบขัน

นักเรียนมัธยมคนหนึ่งเห็นว่า ประกวดการตกแต่งร้านค้าเป็นการฝึกฝนให้พลเมืองมีทักษะในทางศิลปกรรมของชาติให้รุ่งเรืองขึ้น (สงวน โภโต, 2480)

หลังจากเดินเที่ยวชมร้านค้าต่างๆ จนพอใจแล้ว หากท่านเดินปลีกมาทางอาคารสโมสรคณะราษฎร์จะพบการแข่งขันเต้นลีลาศหลายแบบ เช่น เต้นควิกสเต็ป แทงโก วอลซ์ สโลว์ และมีการแสดงเต้นโชว์ที่สร้างความครึกครื้นให้กับท่านจนอาจจะตีตั๋วเข้าไปเต้นได้ด้วย

ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา งานฉลองรัฐธรรมนูญมีร้านค้าเอกชนมาออกร้านขายสินค้ามากมาย อีกทั้งในปีนี้ รัฐบาลจัดให้มีการแสดงสินค้าและอุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้ประกอบการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยทำเข้าประกวด ด้วยเหตุนี้ กรมพาณิชย์เล็งเห็นว่า การโฆษณาขายสินค้ามีความสำคัญมากขึ้นในการค้าขาย จึงมีการประกาศเชิญชวนให้ผู้ผลิตและนักโฆษณาจัดทำเอกสารโฆษณาขายสินค้าของตนมาเผยแพร่ผ่านร้านของกรมได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ช่างเขียน ช่างพิมพ์ โรงพิมพ์ หนังสือพิมพ์ต่างๆ สามารถประชาสัมพันธ์ความสามารถของตนเองผ่านร้านของกรมไปยังบริษัทห้างร้านและประชาชนด้วยได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ในสมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2480 ประกาศว่า ด้วยเหตุที่มีประชาชนมาชมงานมากขึ้น ในปีนี้ กองอำนวยการของงานฉลองรัฐธรรมนูญรับจ้างประกาศโฆษณาร้านค้าและสินค้าให้กับร้านค้าต่างๆ ด้วย

สุดท้ายนี้ นักเรียนมัธยมคนหนึ่งได้บันทึกถึงสิ่งที่เขาเข้าใจความหมายจากการชมงานฉลองรัฐธรรมนูญได้ว่า “ย่อมเป็นที่รับรองกันอย่างแน่นอนแล้วว่า ประเทศชาติจะเจริญได้นั้นก็ต้องอาศัยกำลังพลเมือง” (สงวน โภโต, 2480)

บทความในวารสารวิทยาศาสตร์ ปี 2 ฉบับ 3 2480