นิธิ เอียวศรีวงศ์ | บทเรียนจากยูเครน

นิธิ เอียวศรีวงศ์

อันที่จริงกรณียูเครนเพิ่งบรรลุถึงจุดเดือดไม่นานมานี้ และยังไม่ลงเอย จึงยากจะแสวงหาบทสรุปอะไรที่เป็นแก่นสารได้ แต่ผม “รู้สึก” (แปลว่าขาดทั้งข้อมูล, ความรู้, ความคิดความเข้าใจที่ลึกพอ) ว่า กรณีนี้ส่อความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ และน่าจะให้บทเรียนแก่ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยได้

ผมดีใจที่สติกลับคืนมาแก่ผู้วางนโยบายต่างประเทศของไทย เมื่อผู้แทนไทยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ ลงมติร่วมกับเสียงข้างมากประณามการรุกรานของยูเครน หลังจากนายกรัฐมนตรีไทยให้สัมภาษณ์แสดงท่าทีว่าเราไม่ควรเข้าไปยุ่งด้วย ซึ่งสอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของฝ่ายขวาว่าไม่ควร “ชักศึกเข้าบ้าน” ด้วยการสนับสนุนยูเครน

ผมไม่แน่ใจว่า การตัดสินใจของไทยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่เกิดขึ้นจากสติ หรือเกิดขึ้นจากการที่เพิ่ง “อ่าน” จีนออก เมื่อการพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนมีท่าทีรุนแรงขึ้นตลอดมา จีนได้แต่ต่อต้านมาตรการต่างๆ ที่ชาติตะวันตกใช้หรือขู่ว่าจะใช้เพื่อต่อต้านรัสเซีย แต่จีนไม่เคยแสดงการสนับสนุนรัสเซียในกรณีพิพาทกับยูเครน แม้ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ น่าสังเกตว่าจีนก็เลือกการงดออกเสียง ไม่ใช่การสนับสนุนรัสเซีย

บางคนอาจอธิบายว่า เพราะจีนมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีกับยูเครน อันนั้นก็อาจใช่ส่วนหนึ่ง แต่ผมคิดว่าจีนรู้ตัวดีว่าตนเป็นหนึ่งในอภิมหาอำนาจของโลก จีนจะมีความสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศของโลกต่อไปได้ ก็ต้องมีจุดยืนอิสระของตนเองที่ประเทศอื่นๆ อาจฝากความหวังไว้ได้ด้วย

ไม่ว่าการตัดสินใจของไทยในนาทีสุดท้ายจะเกิดขึ้นจากอะไร ก็เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อสิ้นสงครามเย็นแล้ว ความมั่นคงของประเทศเล็กๆ ทุกประเทศในโลก ไม่อาจฝากไว้กับแสนยานุภาพทางทหารของมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือการเกาะกลุ่มประกาศตัวเป็นกลางได้อีกแล้ว ตรงกันข้าม ทุกประเทศต้องเผชิญกับแรงกดดัน – อย่างเปิดเผยหรืออย่างลับๆ – ของมหาอำนาจด้วยตนเองทั้งสิ้น หนทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ก็คือ ทำให้กฎกติกาของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความศักดิ์สิทธิ์พอที่ผู้ละเมิดต้องจ่ายในราคาแพงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในอาเซียนด้วยกัน ประเทศเล็กสุดคือสิงคโปร์เข้าใจข้อนี้อย่างดี ดังคำแถลงของ รมต.ต่างประเทศต่อรัฐสภาซึ่งให้ความหมายต่อจุดยืนดังกล่าวได้อย่างชัดเจนว่า “นี่เป็นเรื่องความเป็นความตายสำหรับเราทีเดียว ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนหลัก ‘ธรรมคืออำนาจ’ หรือในโลกที่ ‘ผู้แข็งแรงทำสิ่งที่ทำได้และผู้อ่อนแอต้องทนยอมรับสิ่งที่ต้องรับ’ ระเบียบโลกเช่นนี้ย่อมเป็นภัยอย่างลึกซึ้งต่อความมั่นคงและการอยู่รอดของรัฐเล็กๆ” ในขณะเดียวกัน ท่าน รมต.ก็ยืนยันว่าสิงคโปร์ให้คุณค่าอย่างสูงแก่ความสัมพันธ์กับรัสเซียเสมอ เพียงแต่การที่ประเทศหนึ่งใช้กำลังรุกรานอีกประเทศหนึ่งนั้น สิงคโปร์รับไม่ได้

ต้องเข้าใจให้ชัดว่า เมื่อรัสเซียขัดแย้งกับยูเครน หลังจากประเมินผลได้ผลเสียทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจด้านเดียวแล้ว เราจะวางตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเป็นนโยบายที่ดีที่สุดแก่เรา แต่เมื่อรัสเซียยกกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน ความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่การละเมิดหลักการสันติภาพของโลก ซึ่งเป็นหลักการที่ปกป้องความปลอดภัยให้ประเทศเล็กๆ อย่างเราด้วย การผดุงหลักการนั้นไว้อย่างเข้มแข็งกลายเป็นผลประโยชน์ของชาติที่ต้องทำ ส่วนจะถึงขั้นร่วม “คว่ำบาตร” กับเขาด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องประเมินกันตามแต่ละกรณี

ไม่ว่าจะร่วม “คว่ำบาตร” หรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญกว่าก็คือความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อันนั้นคืออารยธรรมครับ และไทยต้องเป็นส่วนหนึ่งของโลกอารยะเท่านั้น จึงสมควรจะได้รับการปกป้องจากระเบียบโลกที่เอื้อต่อไทยเองด้วย ดังนั้น อีกประเทศหนึ่งที่ควรกล่าวถึงในแง่นี้คือฮังการี

 

ฮังการีมีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับรัสเซีย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลอำนาจนิยมสามารถเถลิงอำนาจอยู่ในลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่ฮังการีเปิดพรมแดนด้านที่ติดยูเครนอ้าแขนรับผู้ลี้ภัยอย่างอบอุ่น แม้ประกาศว่า ไม่อนุญาตให้มีการส่งอาวุธผ่านพรมแดนของตนเข้าไปในยูเครนก็ตาม ยิ่งกว่านี้ฮังการียังสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่ประณามรัสเซียด้วย

นี่คือโลกที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากยุคสงครามเย็น ไม่ใช่เพราะมีอียูและจีนโผล่ขึ้นมาเป็นอีก “ค่าย” หนึ่ง ถ้าเชื่อว่าสงครามเย็นเกิดขึ้นจากการแข่งขันทางอุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง บัดนี้ไม่มีการแข่งขันดังกล่าวอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมหรือประชาธิปไตยเสรีนิยม ความคิดว่าการสนับสนุนยูเครนคือการฝืนกระแสลม จึงเป็นความคิดที่พ้นสมัยไปแล้ว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบาย “ไผ่ลู่ลม” ที่ถูกอ้างถึงเชิงยกย่องในเมืองไทยมานานนั้น ควรถูกวิพากษ์อย่างจริงจังมากกว่าผลบั้นปลายว่า ท่ามกลางพายุจักรวรรดินิยมเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว ไทยยังสามารถรักษาเอกราชของตนไว้ได้

ในประการแรกที่ผมอยากชี้ให้เห็นก็คือ “ไผ่ลู่ลม” เป็นนโยบายที่ใช้กันทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ไทยเท่านั้น ซ้ำยังใช้กันมานานแล้วก่อนพายุจักรวรรดินิยมของศตวรรษที่ 19 ด้วย ที่เราเรียกว่าเมืองสองฝ่ายฟ้า ก็คือนโยบายไผ่ลู่ลมที่รัฐเล็กๆ จำเป็นต้องใช้เพื่อรักษาอิสรภาพของตนไว้สูงสุดเท่าที่จะเป็นได้

ในประการต่อมา สัมฤทธิผลของนโยบายไผ่ลู่ลมมีไม่สูงนัก ในหลายกรณีก็ไม่สามารถป้องกันประเทศจากการยึดครองของจักรวรรดินิยมตะวันตกได้ ดังกรณีพม่าเหนือ, หลายแคว้นของอินเดีย, หลายรัฐของแอฟริกา, เวียดนามกลางและเหนือ ฯลฯ แท้จริงแล้ว การตัดสินใจว่าประเทศใดควรจะถูกยึดครองหรือไม่ เป็นการตัดสินใจของฝ่ายจักรวรรดินิยมเป็นส่วนใหญ่ การกระทำของประเทศเล็กๆ ในเอเชียอาจมีส่วนในการตัดสินใจนั้นอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด

แม้แต่ที่ยังมีเอกราชพอจะชัก “ธงชาติ” ของตนเองได้ต่อไป ก็อาจไม่มีความหมายในทางปฏิบัติแตกต่างจากอาณานิคมมากนัก เช่น ผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศของสยามเกิน 90% อยู่ในมือของอังกฤษ มากกว่าการค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซียในมือของฮอลันดาอย่างเทียบไม่ได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสยามก็ต้องดำเนินนโยบายให้เกิดผลอย่างเดียวกับอาณานิคมอยู่นั่นเอง เช่น การรวมศูนย์อำนาจการปกครองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่ได้เป็นการขยายอำนาจของรัฐบาลบางกอกเท่านั้น แต่มีประโยชน์ต่อการหากำไรของทุนนิยมตะวันตกด้วย และจักรวรรดินิยมก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้วในอาณานิคมของตนทุกแห่ง

นั่นคือเหตุผลหลักที่อังกฤษเลือกจะสนับสนุนกษัตริย์หนุ่มในวิกฤตการณ์วังหน้า แทนที่จะสนับสนุนขุนนางเฒ่าซึ่งผูกพันผลประโยชน์ของตระกูลไว้กับการแบ่งประเทศเป็นส่วนๆ เพื่อเก็บ tithe (ชักสิบ) แบ่งกันในหมู่ตระกูลขุนนาง

ก่อนหน้าที่รัสเซียจะเผชิญกับการต้านทานอย่างหนักของรัฐบาลและประชาชนยูเครน รัสเซียก็ไม่ได้ต้องการจะผนวกยูเครนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิปูติน แต่ต้องการสถาปนารัฐบาลไผ่ลู่ลมขึ้นแทนรัฐบาลยูเครนปัจจุบันเท่านั้น

ประการต่อมาที่ควรเข้าใจด้วยก็คือ นโยบายต่างประเทศใดๆ ก็ตาม กระทำในประเทศใดก็ตาม ไม่ใช่นโยบายที่สัมพันธ์กับต่างประเทศล้วนๆ นโยบายต่างประเทศทุกอย่าง ผูกพันอย่างแยกไม่ออกกับผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำภายในด้วยเสมอ การเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศทุกครั้ง หมายถึงผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างซึ่งต้องเกิดกับการจัดสรรอำนาจ, ผลประโยชน์, เกียรติยศ และอภิสิทธิ์ บางอย่างที่วางไว้แล้วแก่คนกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศ

ถ้าสยามในสมัย ร.6 และ ร.7 ตัดสินใจเปลี่ยน “มหามิตร” ที่เคยฝากความมั่นคงไว้จากอังกฤษเป็นญี่ปุ่น (มหาอำนาจเดียวที่ยินดีแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับไทยโดยปราศจากข้อเรียกร้องใดๆ) ปัญหาที่ต้องคิดไม่ได้อยู่แต่เพียงความผูกพันทั้งหลายที่มีต่อกันระหว่างสยามและอังกฤษเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันหรือสำคัญกว่าก็คือ จะเอาเจ้านาย “สายอังกฤษ” ทั้งหมดไปไว้ที่ไหน, พ่อค้าส่งออกข้าวที่มีสายสัมพันธ์กับคนจีนในอาณานิคมอังกฤษจะสามารถวางใจกับกฎหมายของอาณานิคมเหล่านั้นได้ต่อไปมากน้อยเพียงไร, ลูกผู้ดีทั้งหลายที่ได้รับทุนไปเรียนต่อในอังกฤษขณะนั้น จะยังมีอนาคตที่สดใสดังมุ่งหวังหรือไม่ ฯลฯ

เช่นเดียวกับเมื่อสหรัฐมีท่าทีว่าไม่อาจจะทำสงครามในเวียดนามต่อไปได้ การปรับนโยบายรับรองจีนคอมมิวนิสต์ก็ไม่อาจบรรลุผลได้ นับตั้งแต่ปลายสมัยถนอม-ประภาสสืบมาจนถึงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะผู้นำไทยในช่วงนั้นดีหรือชั่ว ฉลาดหรือโง่ แต่นโยบายที่ผูกความมั่นคงของไทยไว้กับสหรัฐนั้น ผูกโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำไทยไว้อย่างสลับซับซ้อนด้วย จนกระทั่ง ปราศจากการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของชนชั้นนำ ก็ยากที่จะผลักดันให้ประสบผลสำเร็จได้ 14 ตุลาต่างหาก ที่ทำให้ไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาลคุณคึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาลจึงอาจมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอันแน่วแน่ได้เพียงพอ จะเปลี่ยนนโยบายต่อจีนสำเร็จ

นโยบายหันมาเอาอกเอาใจจีนของรัฐบาลนี้ก็เช่นกัน จะเข้าใจนโยบายนี้ได้ดี อาจไม่ใช่มองแต่ผลประโยชน์ของประเทศด้านเดียว แต่ต้องวิเคราะห์ด้วยว่า คนกลุ่มไหนได้อะไรจากนโยบายนี้บ้าง และคนกลุ่มนั้น “เข้าถึง” อำนาจทางการเมืองอย่างไร, ทางไหน, ได้เท่าไร, เสียเท่าไร ฯลฯ ด้วย จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของนโยบายต่างประเทศนี้ได้อย่างปรุโปร่งขึ้น

ขอออกนอกเรื่องตรงนี้ไว้นิดหนึ่งด้วยว่า ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่พลังของคนกลุ่มอื่นจะพอมีส่วนในการในการกำหนดนโยบายต่างประเทศบ้าง อย่าเข้าใจผิดอย่างที่มักเข้าใจผิดเช่นนั้นในเมืองไทยเสมอว่า นโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องเทคนีคล้วนๆ ที่ต้องรอให้ “ผู้ชำนัญการ” เป็นผู้กำหนดเท่านั้น การทำอะไรให้เหลือมิติเทคนีคล้วนๆ คือวิธีที่ชนชั้นนำจะสามารถผูกขาดนโยบายต่างประเทศไว้ในสังคมสมัยใหม่ได้ตลอดมา เมื่อไรที่ใครจะแยกบางส่วนในชีวิตของท่านออกเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะที่หลุดไปจากการกำหนดของตัวท่านเอง จงระวังกระเป๋าสตางค์ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทูต, เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, นิติศาสตร์, วรรณคดี หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์

“ไผ่ลู่ลม” ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของนโยบายต่างประเทศ ซ้ำไม่ใช่นโยบายที่ลึกซึ้งอะไรด้วย ให้ผลสัมฤทธิ์ไม่มาก และในหลายกรณีมักหนุนเสริมความไม่เป็นธรรมในสังคมให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนเสียซ้ำ

บทเรียน หรือข้อสังเกตที่น่าคิดเรื่องสุดท้ายที่ผมอยากเสนอไว้ก็คือ ความสามารถของยูเครนในการสะกัดแสนยานุภาพมหึมาของรัสเซียให้ชะงักงันอยู่ตามชายแดนได้นานวันเช่นนี้ ย่อมเปิดโอกาสให้ยูเครนได้รับสปอตไลต์ส่องสว่างอยู่กลางเวทีโลก ทั้งบีบบังคับทั้งยั่วยวนเชื้อเชิญให้มหาอำนาจและอำนาจอื่นๆ ไม่สามารถวางเฉย หรือสนับสนุนอิสรภาพของยูเครนเพียงคำแถลงหรูๆ เท่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ย่อมบีบทางเลือกของรัสเซียให้แคบลง เช่นจากที่เคยคิดจะตั้งรัฐบาลหุ่น ก็อาจต้องผนวกยูเครนไปเลย ซึ่งทำให้ยากขึ้นในการยึดครอง

ดูเหมือนความเข้มแข็งของยูเครนจะ “เปลี่ยนเกม” ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจกับประเทศเล็กๆ คล้ายกับว่าประเทศเล็กๆ มีอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจในความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธมากขึ้น

ข้อนี้ก็อาจจะจริงในกรณียูเครน แต่เป็นความสำเร็จเฉพาะกรณีที่ไม่อาจเกิดกับประเทศเล็กอื่นๆ ทั่วไป ไม่แต่เพียงกองทัพยูเครนมีความเข้มแข็งขึ้นเท่านั้น แต่ดูเหมือนได้เตรียมการสำหรับรับมือการบุกรุกของกองทัพขนาดใหญ่ของรัสเซียไว้แล้วด้วย เช่นถ้าวันหนึ่งยูเครนต้องยอมจำนน แต่กองทัพกลับหายตัวลงใต้ดินไปหมด ด้วยอาวุธและการสนับสนุนของโลกตะวันตก สงครามกองโจรในยูเครนย่อมทำให้ใครก็ตามที่เข้ามาถืออำนาจใหม่ในยูเครนประสบความเดือดร้อนอย่างยิ่ง จะใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างที่ทำในเชชเนียก็ไม่สะดวกนัก เพราะยูเครนคงจะอยู่ในการจับจ้องกลางเวทีโลกต่อไป

ไม่เฉพาะแต่กองทัพเท่านั้น ประชาชนชาวยูเครนซึ่งได้ต่อสู้เผด็จการมาอย่างโชกโชนจนประสบชัยชนะ ก็พร้อมจะเข้าร่วมการต่อต้านรัสเซียด้วยความกล้าหาญเช่นกัน แม้แต่ล้อมรถถังด้วยมือเปล่าจนสามารถยึดรถถังได้ก็มี ผู้ชายอีกมากที่ส่งลูกเมียออกนอกประเทศ ทั้งในยูเครนและในสถานีรับผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วกลับไปร่วมกับเพื่อนดำเนินการต่อต้านรัสเซียในยูเครนต่อไป

การเอาชนะในสงครามกับการยึดครองนั้นเป็นคนละเรื่อง กองทัพที่พร้อมสรรพด้วยกำลังคนและอาวุธอาจเอาชนะสงครามได้ในเร็ววัน แต่จะยึดครองประเทศอย่างยูเครนได้อย่างไร กองทัพที่พร้อมรบอย่างอังกฤษในไอร์แลนด์, ฝรั่งเศสในแอลจีเรีย, อเมริกันในเวียดนามและอิรัก, รัสเซียและอเมริกันในอัฟกานิสถาน ฯลฯ ให้คำตอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเหล่านี้ล้วนรู้อยู่แล้วทั้งสิ้นว่า สงครามเป็นแค่เครื่องมือ ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

ถ้ากองทัพของประเทศใดเป็นองค์กรที่อยู่พ้นออกไปจากประชาชนอย่างเด็ดขาด เช่น แม้แต่ทหารเกณฑ์ก็ถูกเอาเปรียบแรงงานดังไพร่เข้าเวร, ถูกรังแกจนถึงแก่ชีวิตอยู่บ่อยๆ, ถูกชิงเบี้ยเลี้ยง, ถูกโกง ฯลฯ กองทัพเช่นนั้นย่อมโดดเดี่ยว จะสู้รบกับมหาอำนาจได้ไม่กี่น้ำก็ต้องยอมจำนน ประเทศถูกยึดครองโดยตรงหรือโดยอ้อมอยู่ตลอดเวลา กรณียูเครนก็ไม่เป็นบทเรียนอะไรเลย

สมมุติว่าจีนเป็นนักเลงหัวไม้ พร้อมจะใช้กองทัพเพื่อบีบคั้นเอานโยบายที่ต้องการจากเพื่อนบ้าน ผมคิดว่าประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ที่จีนไม่อาจยึดครองหรือครอบงำได้คือเวียดนาม เพราะกองทัพของเขาไม่ใช่องค์กรที่แยกขาดจากประชาชนเหมือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ยังไม่พูดถึงประสบการณ์ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทหารและประชาชนในการต่อต้านมหาอำนาจ ทั้งฝรั่งเศส, อเมริกัน และอาจจะจีนเองในปี 1979 ด้วย