สมศ. ปลื้มปี 65 สถาบันอุดมศึกษาสมัครใจรับประเมินฯ เกินเป้า เน้นตัวชี้วัดสะท้อนผล 5 ด้าน ย้ำ! การประเมินต้องทันสมัย ไม่สร้างภาระ มุ่งพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างยั่งยืน

Closeup of man hand filling income tax forms

กรุงเทพฯ 4 มีนาคม 2565 – สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เผย ปี 2565 มีสถาบันอุดมศึกษาสมัครใจเข้ารับการประเมินกว่า 50 แห่ง จากที่ตั้งเป้าไว้ 30 แห่ง ทั้งนี้ สมศ. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพภาพภายนอกสถาบันอุดมศึกษาในปี 2565 ไว้ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) การสร้างความเข้าใจด้านการประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถาบันอุดมศึกษา 2) การสรรหาผู้ประเมินภายนอกระดับอุดมศึกษาที่มีความเหมาะสม 3) การเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อลดภาระของสถาบันอุดมศึกษา พร้อมกำหนดเกณฑ์การประเมินทั้ง 5 ด้าน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการอุดมศึกษา เน้นย้ำว่าการประเมินไม่ได้เป็นภาระให้กับสถาบันอุดมศึกษา แต่จะเป็นตัวช่วยให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ทราบปัญหาในภาพรวมของสถาบันอุดมศึกษาไทย ว่ามีจุดแข็ง และข้อควรปรับปรุงในด้านใด เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาในอนาคตได้

                ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  กล่าวว่า ในปี 2565 มีสถาบันอุดมศึกษาที่ขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกกับ สมศ. ตามความสมัครใจรวมจำนวน 50 แห่ง เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 30 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทาง โดย สมศ. จะประเมินให้ได้ทั้งหมดภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และเตรียมความพร้อมการประเมินคุณภาพภายนอก 3 ด้าน ดังนี้

1) การสร้างความเข้าใจด้านการประเมินคุณภาพภายนอกให้กับสถาบันอุดมศึกษา โดยดำเนินการผ่านการประชุมออนไลน์เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา ให้กับสถาบันอุดมศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 274 แห่ง  

2) การสรรหาผู้ประเมินภายนอกระดับอุดมศึกษาที่มีความเหมาะสม ในตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ 1) ประธานคณะผู้ประเมินภายนอก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กร และมีประสบการณ์ หรือเคยเป็นผู้ประเมินด้านการพัฒนาคุณภาพ 2) ตำแหน่งกรรมการผู้ประเมินภายนอก ประกอบด้วย 2.1 กรรมการผู้ประเมินภายนอก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ และเป็นผู้มีประสบการณ์ในระบบประกันคุณภาพ 2.2 กรรมการผู้ประเมินภายนอก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือสภาวิชาชีพ และเป็นผู้มีประสบการณ์ในระบบประกันคุณภาพ และ 3) กรรมการและเลขานุการผู้ประเมินภายนอก เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติกรรมการผู้ประเมินภายนอกบุคคลตามข้อที่ 2.1 หรือ 2.2

ทั้งนี้ ภายหลังการประเมินเสร็จสิ้น  สมศ. จะมีการติดตามผลการปฏิบัติงานผู้ประเมินภายนอกโดยใช้ระบบ QC100 เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษา ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ สมศ. ในการนำไปใช้เพื่อวางแผนพัฒนาคุณภาพผู้ประเมินภายนอกต่อไป

3) การเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อลดภาระของสถาบันอุดมศึกษา สมศ. ได้กำหนดรูปแบบการประเมินไว้ทั้งหมด 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1 เป็นการประเมินแบบวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง (Pre-analysis) และขั้นตอนที่ 2 เป็นการประเมินแบบออนไลน์ ร่วมกับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site-visit) จริงเพื่อยืนยันหลักฐานเชิงประจักษ์ของสถาบันอุดมศึกษา ใช้ระยะเวลา 1-2 วัน เพื่อยืนยันผลการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาได้ชัดเจน ตรงตามสภาพจริงมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รุนแรงและขยายวงกว้าง การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม สมศ. จึงปรับการดำเนินการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site-visit) เป็นรูปแบบออนไลน์ ทั้งหมด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย นอกจากนี้ สมศ. ได้พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกของสถาบันอุดมศึกษา (Assessment System for Higher Education Institution) หรือ Higher QA เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และลดภาระด้านเอกสารให้สถาบันอุดมศึกษาในการส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) รวมถึงข้อมูลเบื้องต้น (CDS) เข้าสู่ระบบ Higher QA เพื่อให้ผู้ประเมินได้ศึกษาก่อนที่จะดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอก

                ด้าน รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน รักษาการประธานกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า การประเมินภายนอกของสถาบันอุดมศึกษา เป็นไปตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 เมื่อสถาบันอุดมศึกษาประกันคุณภาพภายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องให้หน่วยงานจากภายนอกเข้าไปประเมินอย่างน้อยทุก 5 ปี และปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในยุคที่มีการแข่งขันสูง การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. จึงเป็นการสะท้อนมุมมองจากผู้ประเมินที่มีประสบการณ์ เป็นกระจกบานนอกที่สะท้อนให้กับสถาบันอุดมศึกษา ว่าผลการดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือไม่ โดยเมื่อเข้ารับการประเมิน สถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านเกณฑ์มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ จะได้เป็นต้นแบบให้กับสถาบันอุดมศึกษาอื่น หรือหากมีข้อที่ควรปรับปรุง ผู้ประเมินภายนอก สมศ. จะให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ หากสถาบันอุดมศึกษานำไปพิจารณาและปรับปรุงตามคำแนะนำ จะเป็นผลดีแก่สถาบันอุดมศึกษา นอกจากนั้นสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารับการประเมินเป็นที่เรียบร้อยต้องรายงานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้ทราบ จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะได้ทราบผลการประเมินในภาพรวม จุดแข็ง และจุดอ่อนของสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต ซึ่งเกณฑ์การประเมินแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่   

   ด้านที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการตามพันธกิจที่ตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

                ด้านที่ 2 คุณภาพบัณฑิต (ตรี โท เอก) ผลผลิตที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา เมื่อจบออกไปมีงานทำ ได้ใช้ความรู้ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ  รวมไปถึงงานวิจัยและผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ

                ด้านที่ 3 คุณภาพงานวิจัย ผลการพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นไปตามทิศทางที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด

                ด้านที่ 4 ผลของการบริการวิชาการ ที่องค์ความรู้ของสถาบันอุดมศึกษาสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร หรือเข้าไปทำประโยชน์ให้กับชุมชน

 ด้านที่ 5 ผลของการประกันคุณภาพภายใน คือระบบการประกันคุณภาพภายในที่แต่ละสถาบันอุดมศึกษาเลือกใช้ ที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า แผนมีการนำไปใช้ปรับปรุงในเรื่องของระบบประกันคุณภาพ และผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรทั้งหมดของสถาบัน โดยทั้ง 5 ด้านนี้เป็นไปตามแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2561

                “อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของผู้ประเมินจะไม่ได้เป็นการลงไปตรวจสอบ ว่ามีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กำหนดหรือไม่ แต่จะเป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประเมินและสถาบันอุดมศึกษา หากมีจุดเด่น ผู้ประเมินจะแนะนำส่งเสริมเพิ่อให้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ถ้ามีข้อที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด ผู้ประเมินก็จะให้ข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุงอย่างไร โดยหลังจากเข้ารับการประเมิน ทาง สมศ. ยังคงติดตามผลการดำเนินงาน ให้คำแนะนำสถาบันอุดมศึกษา และพร้อมที่จะพัฒนาระบบการประเมินภายนอกที่จะส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษายกระดับคุณภาพทัดเทียมระดับสากลเท่าทันกับสถานการณ์โลก ตลอดจนมีหลักสูตรตอบสนองความต้องการของประเทศอยู่เสมอ” รศ.ดร.รัฐชาติ กล่าวสรุป

                ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมของ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ได้ที่ www.onesqa.or.th หรือ Facebook : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา