จากชมพู่ถึงแตงโม/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

จากชมพู่ถึงแตงโม

 

คดีการเสียชีวิตของดาราสาว “แตงโม” ได้ยึดครองความสนใจของประชาชนคนไทยได้อย่างมากมายกว้างขวาง ไม่เพียงความเป็นดาราสาวที่มีผู้คนรู้จักกันดี แต่เพราะเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสียชีวิตนั้น มีลักษณะพิเศษ ด้วยผู้เสียชีวิตตกจากเรือสปีดโบ๊ต ขณะแล่นท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยาในกลุ่มคน 6 คน จึงกลายเป็นปริศนาว่า พลัดตกเรือไปเองจริงๆ หรือเกิดเหตุอะไรที่ทำให้ดาราคนดังตกลงไปจากเรือ

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในหมู่ดาราคนดังกับเพื่อนๆ และหนุ่มไฮโซบนเรือหรู เหมือนบทหนังสืบสวนสอบสวนลึกลับซับซ้อน จับพิรุธคำพูดคำให้การ หยั่งลึกลงไปในจิตใจของแต่ละคน

เชื่อว่าตำรวจต้องใช้เวลาพอสมควร ในการสอบปากคำคนบนเรือ 5 ชีวิตอย่างละเอียด หลายต่อหลายรอบ เพื่อจับพิรุธคำให้การ ว่าตรงตามที่กล่าวเอาไว้หรือไม่

ต้องมีการตรวจพยานหลักฐานอย่างละเอียด ต้องมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจพยานหลักฐาน เพื่อนำมาสู่การพิสูจน์คดีอย่างชัดเจนตรงไปตรงมาที่สุด

ระหว่างคำพูดคำให้การของ 5 คนบนเรือ จะเป็นความจริง หรือบิดเบนเพื่อปกปิดอะไร จะต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องตรวจสอบ!?

ข้ออ้างที่ว่าดาราสาวแตงโมผู้ตาย พลัดตกเรือ เพราะไปนั่งปัสสาวะที่ท้ายเรือ จนทำให้ร่วงหล่นลงไปในแม่น้ำ จะต้องมีการตรวจพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์มายืนยัน ทั้งจีพีเอสของเรือ เพื่อตรวจทิศทางการแล่นเรือ ความเร็วของเรือ ร่องรอยต่างๆ บนเรือ ใบพัดเรือกับบาดแผลที่ขาของผู้ตาย

แต่ในชั้นต้น ที่ยืนยันได้แน่นอนแล้วก็คือ สภาพศพของผู้เสียชีวิตนั้น ไม่มีร่องรอยบาดแผลจากการถูกทำร้ายใดๆ ยกเว้นแผลที่ขาซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะโดนใบพัดเรือ

เสื้อผ้าที่ดาราสาวแตงโมสวมใส่ก็ยังอยู่ครบเป็นปกติทุกชิ้น เมื่อกู้ร่างขึ้นมาจากน้ำได้

คดีนี้จึงไม่ใช่คดีที่เป็นการจงใจฆาตกรรม ไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือมีการกระทำที่จงใจให้ตกลงไปในน้ำอย่างชัดเจน การลวนลามหรือพยายามล่วงละเมิดทางเพศก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น

แต่เพราะกลุ่มคนบนเรือได้แสดงพิรุธให้ชวนสงสัย เมื่อไม่ยอมอยู่เพื่อร่วมช่วยค้นหาร่างในช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ หรือไม่ยอมนั่งรอดูเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ ที่ระดมกันค้นหาร่างแตงโมตลอดทั้งคืนแรก

แม้ในชั้นนี้จากการตรวจพิสูจน์ พอจะประมวลได้ว่า ไม่ใช่คดีจงใจฆาตกรรมแน่ๆ แต่มีอะไรที่คนบนเรือปกปิดกันอยู่หรือไม่!?

 

เมื่อมีความซับซ้อน และกระแสสังคมเริ่มรุนแรงมากขึ้น นักสืบโซเชียลเริ่มขุดคุ้ยจับพิรุธจับข้อสงสัยมากมาย จนทำให้กระแสของผู้คนในสังคมเริ่มมีความโน้มเอียง เริ่มจะตัดสินคดีกันไปล่วงหน้า เริ่มมีจำเลยที่โดนกระหน่ำหนัก

ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ต้องลงมาเรียกประชุมติดตามความคืบหน้าคดีด้วยตัวเอง และอาศัยประสบการณ์ในการทำคดีใหญ่ๆ และซับซ้อน นำมาแนะนำการสืบสวนสอบสวนของคดีนี้อย่างละเอียด

จุดสำคัญคือ ถ้าหากบทสรุปคดีไม่เป็นไปตามที่กระแสสังคมนึกคิด ย่อมจะนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ดังนั้น ข้อสรุปของคดีนี้ ตำรวจจะต้องมีพยานหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ มาอธิบายให้กระจ่างให้ได้ การสอบปากคำพยานทุกราย การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทุกชนิด ต้องทำให้ครบถ้วนรอบคอบ

ขณะเดียวกัน เมื่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ลงมาประชุมดูสำนวนคดีเอง ทำให้ผู้คนในสังคมต้องนึกถึงคดี “น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย 3 ขวบ แห่งหมู่บ้านกกกอก อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ที่หายตัวไปจากบ้านเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 จนกลายเป็นข่าวใหญ่ในสังคมไทยต่อเนื่องยาวนานข้ามปี

คดีน้องชมพู่ ก็มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ นี่แหละ เข้าไปคุมการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรอง ผบ.ตร. ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้ได้ดูคดีนี้

ปัญหาของคดีน้องชมพู่ จะเรียกว่าคล้ายกับคดีดาราสาวแตงโมก็ว่าได้ เพราะจุดที่เกิดเหตุไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยไขปริศนา

ขณะที่คดีแตงโม จุดเกิดเหตุบนเรือที่แล่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีกล้องวงจรปิดเห็นในนาทีมรณะ แต่ยังดีที่มีคน 5 คนที่เหลือบนเรือ ที่พอจะเป็นจุดที่ตำรวจสามารถสอบสวนเค้นหาความจริงได้

ความที่คดีน้องชมพู่ เกิดเหตุในหมู่บ้านเล็กๆ และอยู่ห่างไกล ไม่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย ไม่มีพยานบุคคลที่เห็นอะไรเลย ตั้งแต่ตอนออกไปจากบ้าน แล้วไปพบศพบนภูเหล็กไฟ ที่ห่างไปจากบ้านและหมู่บ้าน 2 กิโลเมตร ได้อย่างไร ไม่มีพยานเห็นเลย

ตำรวจจึงต้องใช้เวลายาวนานถึงกว่า 1 ปี สอบปากคำคนทั้งหมู่บ้านเกือบ 400 ปาก เพื่อสกรีนหาคนที่มีพิรุธ

รวมถึงใช้หลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ นั่นคือเส้นผมที่พบในจุดที่คนร้ายนำร่างของน้องชมพูไปวางที่ภูเขา แล้วไปพบบนรถของผู้ต้องหา

จนกระทั่งมิถุนายน 2564 จึงจับกุมนายไชย์พล วิภา หรือลุงพลคนดัง ญาติใกล้ชิด เป็นผู้ต้องหา

*ใช้เวลากว่าปี จึงได้บทสรุปคดีน้องชมพู่ที่คนสนใจกันทั้งบ้านทั้งเมือง!*

 

จุดที่น่าสนใจของคดีน้องชมพู่ก็คือ ตำรวจได้ข้อสรุปตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่ใช่คดีจงใจฆาตกรรม เพราะไม่มีมูลเหตุขัดแย้งใดๆ ไม่ใช่คดีลักพาตัวไปเพื่อเรียกค่าไถ่แล้วผิดพลาดจนเหยื่อตาย เพราะครอบครัวน้องชมพู่ ไม่ได้มีความร่ำรวย

ไม่มีสาเหตุใดๆ ที่จะมีคนร้ายจงใจมานำเด็กออกไปจากบ้าน

อีกทั้งการอุ้มเด็กคนนี้ออกไป โดยเด็กยินยอมไม่ร้องไห้งอแง ต้องเป็นคนใกล้ชิดไม่กี่คนเท่านั้น

ในที่สุดด้วยการสอบพยานบุคคลทั้งหมู่บ้าน ตำรวจสรุปว่าคนที่มีพิรุธในคำให้การคือลุงพล และลุงพลเป็นคนที่สามารถเข้าถึงตัวเด็กอุ้มออกไปจากบ้านเพื่อเที่ยวเล่น โดยเด็กยินยอมได้

จากการเคลื่อนไหวและแสดงออกของลุงพลเองหลายประการ ก็ทำให้ยิ่งสอดรับกับข้อสงสัยของตำรวจ

เหลือเพียงพยานหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์อันชัดเจนพอที่จะตั้งข้อหา เสนอศาลออกหมายจับ ส่งอัยการพิจารณาพยานหลักฐานจนเชื่อถือได้เพียงพอส่งฟ้องศาล

จนกระทั่งมาพบพยานหลักฐานอันเป็นวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สุด นั่นคือ บริเวณที่พบศพน้องชมพู่นั้น พบกระจุกเส้นผมของเด็กจำนวนหนึ่ง ที่ถูกตัดด้วยของมีคม วางอยู่ใกล้ๆศพ เชื่อว่าเป็นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของคนก่อเหตุ

ต่อมาพบเส้นผมแบบเดียวกันนี้ ที่ตรวจพิสูจน์แล้วว่า ถูกตัดด้วยของมีคม โดยมีความเอียงความเฉียงที่ตรวจองศาได้ตรงกันกับกระจุกที่พบข้างศพ ตกอยู่ในรถของลุงพล ทำให้ตำรวจสรุปได้ว่า ลุงพลต้องไปอยู่ในจุดที่นำร่างเด็กไปวางบนภูเขานั่นเอง

อีกทั้งคดีนี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการพาเด็กออกไปจากบ้านเพื่อไปขึ้นรถเที่ยวเล่น แล้วเกิดการโมโห อาจจะเพราะความงอแง จนเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวเอาเด็กไปปล่อยในป่า เพื่อหวังสั่งสอน เพราะรู้ว่าเด็กหวาดกลัวป่าทึบ พอย้อนกลับมาอีกครั้งก็หาตัวเด็กไม่พบ เพราะเด็กหวาดผวาและเดินหนีเตลิดจนกระทั่งหมดเรี่ยวแรง เพราะขาดอาหารและน้ำ ซึ่งผลพิสูจน์ศพรองรับข้อสันนิษฐานนี้ได้หมด

สุดท้ายเมื่อเด็กขาดน้ำและอาหารจนไม่รอด จึงนำร่างไปอำพราง ถอดเสื้อผ้าวางไว้บนภูเหล็กไฟ เป็นคดีที่ทำให้เด็กตายโดยประมาท และจงใจเคลื่อนย้ายอำพรางศพ

แต่ไม่ใช่คดีจงใจฆ่า

อาจจะทำให้ประชาชนที่สนใจติดตามข่าวดาราสาวแตงโม ได้นึกย้อนถึงคดีน้องชมพู่

เพราะมีลักษณะซับซ้อน ไม่ใช่คดีตั้งใจฆาตกรรมทำนองเดียวกัน!!