แพทย์ พิจิตร : พระราชอำนาจในการยุบสภาตามประเพณีการปกครองของสหราชอาณาจักร (8) – การเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษ

ในช่วงระหว่าง ค.ศ.1976-ต้นทศวรรษ 1980 ได้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแบบแผนประเพณีการยุบสภาของอังกฤษที่ให้สิทธิอำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการถวายคำแนะนำในการยุบสภาต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นการปฏิบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกและได้กลายเป็นแบบแผนประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงทศวรรษ 1980

ซึ่งก่อนหน้านั้น สิทธิอำนาจในการถวายคำแนะนำการยุบสภาอยู่ภายใต้การตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ

ข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้มาจากทั้งทางฝั่งอนุรักษนิยม นั่นคือ Lord Hailsham (ค.ศ.1907-2001) และปีกซ้ายจัดของฝั่งพรรคแรงงาน นั่นคือ Tony Benn (ค.ศ.1925-2014)

 

Robert Blackburn ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์แห่ง King”s College London ได้วิเคราะห์มูลเหตุที่มาของข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการยุบสภาผู้แทนราษฎรของ Tony Benn ว่า เนื่องจากมีผู้วิจารณ์เป็นจำนวนมากที่แสดงความกังวลต่อแบบแผนการยุบสภาที่ให้เสรีภาพแก่นายกรัฐมนตรีในการตัดสินใจยุบสภาในช่วงเวลาใดก็ได้ตามแต่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีต้องการ

โดยเฉพาะคำวิจารณ์ของ Benn ที่มีแง่มุมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะ Benn เห็นว่า การให้เสรีภาพแก่นายกรัฐมนตรีในการยุบสภาได้ตามต้องการนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้นายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองของเขาได้เปรียบพรรคคู่แข่งเท่านั้น

แต่สิทธิอำนาจในการกำหนดช่วงเวลาการเลือกตั้งทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหนือพรรคและบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของเขาเองด้วย

Benn ได้อธิบายความเป็นมาของสิทธิอำนาจดังกล่าวของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ต่างจากที่ผู้เขียนได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

นั่นคือ สิทธิอำนาจดังกล่าวเป็นผลที่เกิดขึ้นจากคุณสมบัติสำคัญและลักษณะที่โดดเด่นของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสงครามโลกที่บุคลิกภาพส่วนตัวของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีอิทธิพลยิ่ง ส่งผลต่อสถานะตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมาแม้จะพ้นช่วงสงครามไปแล้วก็ตาม

ข้อเสนอในการปฏิรูปแบบแผนการยุบสภาอีกประการหนึ่งของ Benn คือ ความพยายามที่จะลดอำนาจอิทธิพลของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อคณะรัฐมนตรี โดยเน้นให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้น

โดย Benn เสนอว่า ในอนาคต หากพรรคแรงงานเป็นรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจะต้องมาจากการลงคะแนนเลือกโดยคณะผู้แทนของพรรค (electoral college) และต้องมีการลงคะแนนใหม่ทุกปี

โดยยกเลิกการให้สิทธิอำนาจที่นายกรัฐมนตรีจะเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรีตามความเห็นชอบของตัวนายกรัฐมนตรีเองแต่ผู้เดียว

และจากการที่อำนาจในการยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรี ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถมีอำนาจอิทธิพลเหนือคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะใช้การยุบสภาเป็นเครื่องมือบีบให้คณะรัฐมนตรีต้องสนับสนุนเขาต่อไป

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอของ Benn ที่ต้องการให้พรรคลงคะแนนเลือกหรือรับรองผู้ที่จะได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น จะช่วยลดอิทธิพลของนายกรัฐมนตรีหรือลดอำนาจของเอกบุคคล (the One) ที่มีต่อคณะรัฐมนตรีและพรรค (the Few) ลงไปได้

 

ต่อประเด็นที่สิทธิอำนาจเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในการยุบสภา Blackburn มีความเห็นไม่ต่างจาก Markesinis และ Bogdanor ที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ แล้ว นั่นคือ ประเพณีแบบแผน (convention) การยุบสภาของอังกฤษที่ให้เป็นสิทธิอำนาจเฉพาะของตัวนายกรัฐมนตรีนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกที่สอง

เพราะก่อนหน้านี้ ประเพณีแบบแผนการยุบสภาของอังกฤษถือว่าจะต้องมาจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี

นอกจากข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการให้อำนาจการยุบสภาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว Blackburn ยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่ Benn และผู้วิจารณ์คนอื่นๆ มีความกังวล นั่นคือ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์!

ด้วยภายใต้แบบแผนการยุบสภาที่เป็นอยู่ขณะนั้น สามารถเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวในปัญหาความยุ่งยากหรือความขัดแย้งทางการเมือง

เพราะในหมู่นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญของอังกฤษในปัจจุบันยังคงเห็นพ้องอย่างกว้างขวางทั่วไปในแนวคิดทฤษฎีที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ (a residual personal discretion) ในการที่จะปฏิเสธหรือยืนยันการยุบสภาได้

 

ซึ่งต่อประเด็นดังกล่าวนี้ Blackburn มีความเห็นไม่ต่างจาก Markesinis และ Bogdanor ที่ผู้เขียนได้อ้างถึงไปแล้วเช่นกัน

โดย Blackburn ได้กล่าวถึงพระราชอำนาจดังกล่าวนี้ไว้ว่า ในทางปฏิบัติ ในช่วงเวลา 150 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ของอังกฤษไม่ได้ทรงเข้าไปแทรกแซงโดยการปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาจากรัฐมนตรี แต่พระราชอำนาจนั้นก็ยังคงอยู่

อีกทั้ง Blackburn ก็ชี้ให้เห็นว่า ตัว Tony Benn เองก็ตระหนักและยอมรับในพระราชอำนาจดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน และ Benn เห็นว่า พระราชอำนาจดังกล่าวนี้ได้รับการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เพราะพรรคการเมืองที่อยู่ตรงกลาง (centre parties) ระหว่างพรรคใหญ่สองพรรค—-พรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยม—-เริ่มได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้ง

ส่งผลให้การเมืองอังกฤษมีแนวโน้มที่จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “hung parliament” ได้มากกว่าที่ผ่านมา

สภาวะดังกล่าวนี้คือ สภาวะที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งนี้จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็อ่อนแอ

และ Benn เห็นว่า สภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นในการเมืองอังกฤษในสมัยของเขาได้มากกว่าในช่วงทศวรรษ 1950 และในสถานการณ์เช่นนี้ มีผู้ให้ความเห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์จะทรงมีบทบาทในการใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างการกล่าวอ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ต่างไม่ได้เสียงข้างมากในสภา

ผู้เขียนขอขยายความประเด็นนี้ว่า พระมหากษัตริย์อาจจะทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

และในทรรศนะของ Benn เขาวิตกกังวลว่า หากองค์พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ไปในทางใดก็ตามที่เป็นการปฏิเสธคำแนะนำของรัฐบาล ที่ไม่ได้ผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร การใช้พระราชอำนาจดังกล่าวนี้อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านจากพรรคที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น และนำพาให้อนาคตของตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เองไปสู่ใจกลางของปัญหาข้อถกเถียงทางการเมืองได้

ผู้เขียนตีความในสิ่งที่ Benn กังวลว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการปฏิเสธคำแนะนำของรัฐบาล จะมีนัยที่พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับพรรคที่เป็นรัฐบาล

แต่ถ้าคำแนะนำนั้นมาจากเสียงข้างมากในสภา ก็จะทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยได้ง่ายกว่าและไม่ทำให้การใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ไปเข้าข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสภา

ดังนั้น Benn จึงเสนอและสนับสนุนให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยตามเจตจำนงของสภาเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว