ขอแสดงความนับถือ ประจำวันที่ 4-10 มีนาคม 2565 ฉบับที่ 2168

 

ขอแสดงความนับถือ

 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข และอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พาไปพินิจ “สงคราม”

อาจารย์สุรชาติมองไปที่สงครามยุคปัจจุบัน “รัสเซีย-ยูเครน”

ขณะที่อาจารย์นิธิพาย้อนกลับไปสงครามในอดีต “รามเกียรติ์”

แม้รามเกียรติ์เป็นเรื่องแต่ง แต่ก็มีอิทธิพลต่อการเมืองการปกครองของชาติตะวันออกอย่างกว้างขวาง

จนเสมือนมีสงครามเกิดขึ้นจริงๆ

 

อาจารย์สุรชาติวางฉากทัศน์สงครามของปูตินไว้ 3 ฉากทัศน์

ฉากทัศน์ที่ 1 การทูตแบบใช้กำลังบังคับ

ฉากทัศน์ที่ 2 ปฏิบัติการเชิงรุกทางทหารอย่างจำกัด

ฉากทัศน์ที่ 3 ปฏิบัติการเชิงรุกทางทหารเต็มรูปแบบ

ปรากฏว่า ปูตินตัดสินใจเปิดปฏิบัติตามฉากทัศน์ที่ 3

ปฏิบัติการใหญ่ทางทหาร

โดยหวังรุกเข้ายึดเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ทำลายรัฐบาลเดิมลง

ซึ่งหากกองทัพรัสเซียประสบความสำเร็จก็ยังยากที่จะกล่าวได้ว่า “ชนะ”

เพราะที่สุดอาจขยายไปสู่ “สงครามกองโจร” ของชาวยูเครน เพื่อต่อต้านการยึดครองของรัสเซีย

สงครามที่อาจนำไปสู่การสูญเสียขนาดใหญ่ของรัสเซียด้วยเช่นกัน

ภาวะเช่นนี้อาจารย์สุรชาติประเมินว่า จะเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง…

เพราะสหรัฐและชาติยุโรปคงไม่ยินยอม และจะบอยคอตทางเศรษฐกิจ การเมืองจากเบาไปถึงหนัก

และต้องจับตาว่านาโตจะเข้าไปแทรกแซงทางการทหารมากเพียงใด

เหล่านี้ทำให้สถานการณ์การเมืองโลกปัจจุบันเปราะบาง และน่าเป็นห่วงยิ่ง

 

นั่นเป็นสงครามในปัจุบัน

ส่วนในอดีต อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ พาเราย้อนกลับไปที่วรรณคดีรามเกียรติ์

ที่มุ่งหลักการสำคัญ คือความแตกต่างระหว่างความดีและความชั่ว

พระราม ถือเป็นตัวแทนของความดี-ลูกที่ดี, ผัวที่ดี, แม่ทัพที่ดี, กษัตริย์ที่ดี

ในขณะที่ทศกัณฐ์เป็นตัวแทนของความชั่ว และชั่วไปเสียทุกสถานะ

เมื่ออำนาจของความดีและความชั่วมาปะทะกัน

อย่างไรเสียความดีก็ต้องได้ชัยชนะ

พระรามจึง “ศักดิ์สิทธิ์” อย่างยิ่งในทัศนะของแขกและไทยโบราณ

ไม่ใช่เพราะพระรามเป็นอวตารของพระเจ้าเพียงอย่างเดียว

แต่เพราะพระรามเป็นหลักการนิรันดรที่ครอบงำมนุษย์ด้วย นั่นคือความดีที่ต้องอยู่เหนือความชั่ว

และหลักการปกครองที่จะทำให้ความดีชนะความชั่วตลอดไป

 

เรื่องรามเกียรติ์เป็นประเด็นขึ้นอย่างที่ทุกคนทราบ

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างตัวเป็นพระราม อยากจะแผลงศรให้ศัตรูของตนราพณาสูรไปหมด

ส่วนนักการเมืองแวดล้อม บางคนคิดว่าตนเป็นพิเภก เพราะรู้อดีตและอนาคตดี

อีกคนคิดว่าตนเป็นสีดา คงเพราะเป็นที่แย่งชิงของทุกฝ่าย

“ผู้สูงอายุ” เหล่านี้ต่างแสดงให้เห็นว่าเขารู้เรื่องราวของ “เรื่องเล่า” รามเกียรติ์อย่างดี

และหยิบมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัว–ดีต้องชนะชั่ว

แต่อาจารย์นิธิกลับเสนอมุมกลับ

นั่นคือ คนรุ่นใหม่ยุคนี้ กลับสามารถวิพากษ์ และให้ความหมายใหม่แก่ “เรื่องเล่า” เดียวกันนี้อย่างแหลมคม

ดี-ชั่ว มิใช่ “กรอบ” อันตายตัว หากแต่มองได้อีกหลายแง่มุม

ความคิดในเชิงวิพากษ์นี้แหละ ที่อาจารย์นิธิสรุปว่า

“…คือสิบหน้ายี่สิบมือ ที่ทำให้ไพร่สามารถต่อสู้ได้หลายชั้นหลายเชิง

เกิดอำนาจในการจัดการกับเรื่องเล่าที่ชนชั้นสูงแต่งขึ้นได้หลากหลายวิธี

จนชนชั้นสูงตามไม่ทัน

และนี่คือเหตุผลที่พวกเขา (ชนชั้นสูง) จำเป็นต้องทำให้เรื่องเล่าของเขา

เหลือแต่เพียงเรื่องราวหรือนิทาน และศีลธรรมแบบของเขาที่แฝงอยู่ในนิทานเท่านั้น” •