สมหมาย ปาริจฉัตต์ : อาจารย์แม่ (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ขุมแห่งปัญญา ที่พึ่งพาของท้องถิ่น”

“เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในระดับภูมิภาคอาเซียน ที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาและพัฒนาวิชาการ โดยการบูรณาการศาสตร์สากลและภูมิปัญญาไทยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน”

ปรัชญาและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่ประกาศไว้ ทำให้สานสัมพันธ์ทางการศึกษาและวัฒนธรรมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ดำเนินควบคู่กันไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามและจีนมาแรงกว่าที่อื่นๆ

รูปแบบมีทั้งแลกเปลี่ยนบุคลากร ทุนวิจัย ทุนการศึกษา จัดอบรมภาษาและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น ตามลำดับ

กับมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยวิงห์ มหาวิทยาลัยดานัง มหาวิทยาลัยกวางบิงห์ มหาวิทยาลัยนาตรัง วิทยาลัยครูกวางตริ วิทยาลัยดนตรีเว้ และกำลังจะลงนามอีกแห่งที่คณะเราไปเยือนล่าสุดเที่ยวนี้

ส่วนเอกชน เช่น NGHE AN COLLEGE OF ECONOMICS และ BINH DINH PROVINCIAL PEOPLE S COMMITTEE


เมื่อปี 2553 มหาวิทยาลัยไปเปิดศูนย์ภาษาต่างประเทศเพื่อการศึกษาต่อในประเทศไทย สอนภาษาไทยในเวียดนามที่โรงเรียนการอาชีวะระดับกลาง ประจำจังหวัดเหง่อาน ช่วยผู้ปกครองและนักเรียนเวียดนามที่ต้องการมาเรียนต่อเมืองไทย

ขณะที่การจัดการเรียนการสอนภายในประเทศไทย เปิดหลักสูตรภาษาเวียดนามเพื่อการธุรกิจท่องเที่ยวในระดับปริญญาตรี หลักสูตรภาษาเวียดนามระยะสั้นสำหรับมัคคุเทศก์ จัดตั้งศูนย์เวียดนามศึกษาได้ผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมคนไทยเชื้อสายเวียดนามและคณะกรรมการแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ มาสนับสนุน

ล่าสุดร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ทำโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพงานภาษาต่างประเทศและล่ามแปล สาขาผู้สอนภาษาต่างประเทศ อาชีพผู้สอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาเวียดนาม) เป็นแห่งแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนวิชาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ

การจัดการเรียนการสอนจึงมีทั้งสอนภาษาเวียดนามให้กับคนไทยและนักศึกษาไทย กับการสอนภาษาไทยให้นักศึกษาเวียดนามและชาวต่างชาติอื่นที่สนใจ

“นักศึกษาไทยที่เรียนภาษาเวียดนาม 4 ชั้นปี ขณะนี้ มี 70 คน เป็นผู้หญิง 60 คน ชาย 5 คน รุ่นแรกจบปี 2559 มี 27 คน ชาย 2 หญิง 25 ผู้หญิงนิยมเรียนมากกว่าชาย” ดร.ทรงกลด ปานเชียงวงศ์ ปริญญาเอกจากเวียดนาม ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ภาษาเวียดนามเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว เล่า


ส่วนนักศึกษาเวียดนามและต่างชาติที่มาเรียน อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์อาเซียนศึกษา อาจารย์สัตยพันธ์ คชมิตร เป็น ผอ.ศูนย์ รุ่นแรกจบตั้งแต่ปี 2011 มี 30 คน จนถึงปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 8 นอกจากวิชาด้านการท่องเที่ยวแล้ว สาขาอื่นๆ ที่นักศึกษาเวียดนามนิยมคือการจัดการ วิทยาศาสตร์ สารสนเทศ และเทคโนโลยีอาหาร

“เด็กส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนชั้นกลาง คนรวยจริงๆ ไปสิงคโปร์ อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย คนเวียดนามอพยพไปตั้งเป็นชุมชน ที่เลือกมาเรียนเมืองไทยเพราะเทียบค่าใช้จ่ายต่อปีกันแล้วพอๆ กับที่บ้านเขา ค่าเล่าเรียนเทอมละ 10,000 กว่าบาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เดือนละ 4,000-5,000 บาท มาบ้านเราได้ชื่อว่าเรียนจบต่างประเทศ มีโอกาสมากกว่าเพราะธุรกิจไทยไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น ทำธุรกิจส่วนตัวก็มีโอกาสดีกว่า”

“เด็กเวียดนามมองว่าการศึกษาบ้านเราดีกว่าเขา แต่ทั้งสองประเทศก็มีปัญหาคล้ายๆ กันเรื่องมาตรฐาน จำนวนอาจารย์ผู้สอน และวุฒิที่ต้องการยังไม่เพียงพอ” ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษาหรืออาจารย์โจ้ของน้องๆ นักศึกษา เล่า และสะท้อนมุมมองว่า

เปรียบเทียบระหว่างนักศึกษาเวียดนามที่อยากมาเรียนเมืองไทยกับนักศึกษาไทยที่สนใจเรียนภาษาเวียดนามหรือไปเรียนต่อที่เวียดนาม ความสนใจเราต่ำกว่าเพราะนักศึกษาไทยมองว่าโอกาสการใช้ประโยชน์และมีงานทำน้อยกว่าภาษาอื่น เช่น อังกฤษ หรือจีน ถึงมหาวิทยาลัยจะเชิญคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีความเชี่ยวชาญมาสอนก็แล้ว


ขณะที่ ผศ.จินตนา ด้วงแพง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาไทย ปัจจุบันเกษียณอายุแล้วแต่ยังได้รับเชิญมาสอน เล่าว่า “นักศึกษาเวียดนามมีความตั้งใจเรียน เฉพาะภาษาไทยมหาวิทยาลัยมีข้อกำหนด เรียนทั้งหมด 8 วิชา หากเรียน 4 วิชาแรกไม่ผ่าน จะไม่ให้เรียนต่ออีก 4 วิชาหลัง ถ้าผ่านหมดไปเรียนต่อคณะต่างๆ ได้

“สอนภาษาไม่ได้สอนแต่พูด อ่าน เขียนอย่างเดียว เรื่องภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนๆ มีประโยชน์ทั้งสิ้น คนเรียนต้องขยันและมีความสุขกับมัน เราผู้สอนก็มีความสุขไปด้วย ทำให้เขาพูดได้ อ่านได้ เขียนได้ ใช้เป็นโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ดนตรีไทย อาหารไทย เข้าไปด้วย อย่างประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง เวลาสอนไปขอยืมชุดต่างๆ มาให้นักศึกษาสวมใส่ ร้องรำทำเพลงไปด้วย อย่างรำวงเพลงลอยกระทง คนเรียนก็สนุก ความเข้าใจ ความสนใจ ความผูกพันมีมากขึ้น เพราะมีความสุข” อาจารย์แม่แห่งราชภัฏอุดรฯ เล่าบรรยากาศการเรียนการสอน โดยไม่ต้องเน้นย้ำถึงหลักการทฤษฎีเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ ลงมือทำจริงๆ ทำให้เห็นภาพชัดเจน

ด้วยเทคนิควิธีการสอนสนุก ได้ทั้งความรู้และมีความสุข ทำให้นักศึกษาเคารพรัก เรียกครูว่า อาจารย์แม่ และอาจารย์เรียกนักศึกษา ลูก ทุกคน


เสียดาย เยือนเวียดนามเที่ยวนี้ อาจารย์แม่ไม่ได้ไปร่วมคณะเลยไม่ได้เห็นภาพสาธิตการสอนภาษาไทยให้อาจารย์เวียดนามดู เหมือนคราวปี 2553 แต่คณะอาจารย์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเวียดนามแห่งใหม่รับปากว่าจะยกทีมมาเยือนอุดรฯ เพื่อลงนามความตกลงกันในเร็ววัน

เลยได้ฟังแต่มุมมองของ รศ.สมชาย ชื่นวัฒนาประณิธิ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เล่าถึงชีวิตของนักศึกษาเวียดนามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ว่า “อยู่หอพัก ขยัน ตื่นแต่เช้า ประหยัด เดินไปตลาดซื้ออาหารมาทำกินเอง ต่อมามีจักรยานขี่ ถีบผ่านหน้าบ้านพักอาจารย์เห็นต้นไม้ครึ้ม ขนุนออกลูกเป็นพวง ส่งเสียงทักทาย “อาจารย์ไม่กินหรือครับ”

ความเป็นครู เลยอดเอ่ยไม่ได้ “เก็บเอาไปกินสิ” ให้เด็กตัดขนุนใส่ตะกร้าไปกินกัน “มาลงทะเบียนเรียนใหม่ๆ ไม่ค่อยมีสตางค์ ต่อมาหาเฟอร์นิเจอร์ไม้จากเวียดนามมาขายให้อาจารย์เป็นค่าเทอม” อาจารย์สมชายเล่า ขณะคณะเดินทางผ่าน เห็นกองไม้ขนุนขนาดใหญ่เท่าต้นซุงถูกเลื่อยเตรียมไว้ทำเฟอร์นิเจอร์

“นักศึกษาเวียดนามมองว่าการศึกษาเราคุณภาพดีกว่า แต่ทำไมทดสอบความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เด็กเวียดนามถึงทำได้ดี” ผมตั้งประเด็นถาม

“ผลจากระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนซึ่งปูพื้นฐานมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสวางไว้ สังเกตจากลูกชายผมได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่ฝรั่งเศส ไม่ได้เรียนในห้องอย่างเดียว แต่สอนให้ลงมือปฏิบัติ ไปถึงมอบหมายให้ไปวัดภาวะอากาศตามจุดต่างๆ แล้วนำผลมาบันทึกเป็นกราฟ ถึงเวลามานำเสนอ อาจารย์มีข้อมูลอยู่แล้วเอามาเทียบเคียงเพื่อดูว่านักศึกษาทำถูกต้องไหม เข้าใจไหม เรียนไม่กี่ปีได้ปริญญาเพราะเรียนจากของจริง เน้นทดลองปฏิบัติวิจัยในพื้นที่จริง”

อาจารย์ถ่ายทอดประสบการณ์จริงให้ฟัง ระหว่างที่รถซึ่งวิ่งออกมาจากหมู่บ้านโอท็อปปักเย็บเสื้อผ้า หยุดรอเจ้าของร้านบึ่งมอเตอร์ไซค์กว่า 5 กิโลเมตร เอาถุงเสื้อผ้าที่ลูกค้าลืมไว้มาส่งให้ ไม่เพียงเพราะความซื่อสัตย์ในการทำมาค้าขาย ที่สำคัญคือลูกเจ้าของร้านมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ