ย้อนอ่าน ‘เกษียร’ เตือน ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ 2 พรรคยัง ‘need’ กันและกัน

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ช่วงที่สถานการณ์การเมืองที่ทวีอุณหภูมิร้อนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ในช่องยูทูบมติชนทีวี ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ “ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ” แห่งคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

อาจารย์เกษียรและทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ได้สนทนากันในหลากหลายประเด็นสำคัญ

หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหาความขัดแย้งเรื่องแนวทางการทำงาน-อุดมการณ์ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งถือเป็นสองพรรคการเมืองหลักของ “ปีกประชาธิปไตย-ฝ่ายค้าน”

ที่เริ่มแพร่กระจายออกไปกลายเป็นดราม่า-วิวาทะไม่รู้จบระหว่าง “ติ่งแดง” กับ “ติ่งส้ม” ในโลกออนไลน์

นักรัฐศาสตร์อาวุโสแสดงทัศนะต่อข้อขัดแย้งดังกล่าว โดยพยายามถอยออกไปมองสถานการณ์ใน “ภาพใหญ่”

“ผมอยากจะวางปัญหาที่เราเห็น คำถกเถียงที่เราเห็น หรือว่าติ่งอะไรทั้งหลายที่เราเห็นในโซเชียลมีเดีย ในกรอบที่ใหญ่เพื่อจะประเมินมันได้ถูกต้อง

“พรรคอย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคอย่างพรรคก้าวไกล เรากำลังพูดถึงอะไร? ผมว่าเรากำลังพูดถึงตัวแทนทางการเมืองของกลุ่มพลังทางสังคมใหญ่สองกลุ่ม

“พรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่เป็นพรรคโดยตัวมันเอง เขาอยู่ได้นาน โอเคส่วนหนึ่งเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากคุณทักษิณ ชินวัตร อะไรก็แล้วแต่ แต่เขาเป็นตัวแทนกลุ่มพลังทางสังคมที่แน่นอนด้วย ก็คือ ‘กลุ่มทุนใหญ่’ บวกกับ ‘รากหญ้า’

“ขณะที่พวกพรรคก้าวไกลหรือพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นตัวแทนกลุ่มพลังทางสังคมที่แน่นอน ก็คือ ‘คนชั้นกลางในเมือง’ ซึ่งมีความคิดแบบเสรีนิยมแบบประชาธิปไตย

“คนสองกลุ่มนี้อยู่ในสังคมไทย ดำรงอยู่จริง และดังนั้น พรรคการเมืองสองพรรคนี้ไม่ว่าคุณจะรักหรือจะชังมันก็ตาม มีโอกาส ประทานโทษทีในความเข้าใจของผมนะครับ มากกว่าพรรคพลังประชารัฐในการที่จะกลายเป็นสถาบันทางการเมืองในระยะยาว มากกว่าเยอะเลย เพราะมันมีกลุ่มพลังทางสังคมที่แท้จริงรองรับ

“นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่าถ้ามองในภาพรวมแบบนี้ว่านี่ไม่ใช่พรรคลอยๆ ที่ขึ้นมาเพราะว่าทักษิณกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นี่ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ แต่เป็นตัวแทนกลุ่มพลังทางสังคมที่แน่นอนหนึ่งๆ ที่มีอยู่จริง คนชั้นกลางในเมืองที่มีหัวเสรีนิยม หนุ่มสาวทั้งหลาย กับกลุ่มทุนบวกกับรากหญ้า ซึ่งก็เป็นเสียงข้างมากในสังคม

“แปลว่าอะไร? ทั้งสองพรรคเนี่ย need (ต้องการ) กันและกัน ทั้งสองพรรค need กันและกัน ถ้าคุณคิดอยากจะเปลี่ยนสังคมการเมืองไทยให้หลุดพ้นไปจากบ่วงที่ติดอยู่ในช่วง คสช. ที่ผ่านมา พรรคทั้งสองพรรคนี้ และกลุ่มพลังสังคมทั้งสองกลุ่มนี้ need กันและกัน”

ข้อเสนอเพิ่มเติมจากอาจารย์เกษียร ก็คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลควรสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันให้มากขึ้น

“แน่นอนว่าในกระบวนการที่คุณ need กันและกัน มันจะต้องมีการพูดคุย ปรับตัว ทะเลาะเบาะแว้ง เยอะแยะไปหมด แต่ผมคิดว่าต้องมองยาวและมองลึก ถ้าคุณอยากจะหลุดออกจากบ่วงนี้จริง คุณอยากจะไปข้างหน้าจริง เข้าใจเสียก่อนว่าคุณไปโดยกลุ่มพลังสังคมเดียวไม่ได้ คุณไปโดยพรรคเดียวไม่ได้ คุณ need กันและกัน

“คราวนี้ไอ้เรื่องความขัดแย้งอะไรต่างๆ มันก็มีน่ะ ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา วัฒนธรรมของการขัดแย้งกันในหมู่ประชาชน ในหมู่พันธมิตร ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องอยู่ใต้การนำเดียวกัน ผมคิดว่ามันก็ควรจะมี ก็คุยกัน

“ผมสงสัยจริงๆ ว่า มันได้คุยกันหรือเปล่า? หรือคุยกันถึงที่สุดหรือเปล่า? ในระหว่างแกนนำ ส.ส. ผู้ปฏิบัติงาน ว่าอะไรคือเป้ายุทธศาสตร์? ฝั่งหนึ่งบอกว่ายังไงก็ต้องยุบสภาลงไปก่อน อีกฝั่งหนึ่งบอก เฮ้ย! มันมีกฎหมายบางฉบับที่สำคัญสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เราต้องให้น้ำหนักตรงนั้น คือได้คุยยุทธศาสตร์กันไหม? คุยกันรู้เรื่องไหม? ได้คุยยุทธวิธีกันไหม?

“ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันนะ เห็นต่างกันก็ได้ แต่โอเคว่า ฉิบหาย! เราเห็นต่างกันเรื่องยุทธศาสตร์ตรงนื้ เราเห็นไม่ตรงกันเรื่องยุทธวิธีตรงนี้

“ดังนั้น คาดเดาพฤติกรรมได้ว่าพรรคนี้จะทำแบบนี้แหละ แล้วพรรคอีกพรรคจะทำแบบนี้ แล้วเข้าใจว่าทำไมถึงทำ อาจจะไม่เห็นด้วย แต่เข้าใจ

“คือผมรู้สึกมันดูเหมือนไม่ได้คุยกัน เหมือนลับๆ ล่อๆ”

สําหรับกรณีดราม่าระหว่างผู้สนับสนุนพรรคการเมืองสองพรรค นักวิชาการผู้นี้มองว่าปัจจัยกระตุ้นเร้าสำคัญนั้นอยู่ที่ธรรมชาติบางอย่างในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งท้ายสุด แต่ละพรรคควรหวนกลับไปทบทวนท่าทีของตนเอง

“ส่วนไอ้การโต้ตอบระหว่างผู้สนับสนุนของทั้งสองพรรค ผมคิดว่าพวกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมันมีลักษณะพิเศษบางอย่าง คือมันพูดได้ด้วยจำนวนคำจำกัด มันพูดยาวไม่ได้ เมื่อพูดยาวไม่ได้ก็ไม่สามารถพูดให้หมด ไม่สามารถพูดอย่างมีบริบทได้ มันก็เลยไม่ได้ถ่ายทอดความคิดความเข้าใจของแต่ละฝ่ายอย่างถึงที่สุด

“อีกอัน ผมคิดว่ามันมีแนวโน้มที่ว่า status คุณมันจะเป็นที่ประทับตาประทับใจคนในโซเชียลมีเดียด้วยถ้อยคำสั้นๆ คุณต้องด่าแสบ คุณต้องปากจัด คุณต้องปากร้าย ซึ่งมันยิ่งไปเสริมด้านที่แบบไม่สามารถที่จะสื่อสาร แล้วอดทนในการสื่อสารกันยาวๆ ได้

“ดังนั้น ผมรู้สึกว่าเรื่องที่ขาดก็คือ สงสัยแกนนำผู้ปฏิบัติงานและผู้สนับสนุนของแต่ละพรรคเอง น่าจะคุยกันมากๆ หน่อย พูดง่ายๆ ว่าหัวหน้าพรรค และ ส.ส.ของพรรค และกองเชียร์พรรค คุยกันมากหน่อย

“ว่าเฮ้ย! ท่าทีแบบไหนที่เหมาะ? ท่าทีแบบไหนที่ไม่เหมาะ? เราคิดว่าเราจะชนะเกมการเมืองที่ใหญ่แบบนี้ได้โดยไม่ต้องมีพรรคนี้เลยใช่ไหม? เราคิดว่าเป้าหมายของเราบรรลุได้โดยไม่ต้องมีพรรคนี้เลยใช่ไหม?

“คือคุยกันให้ดี ประสานงานข้างในกันของแต่ละพรรคให้ดี ไม่งั้นมันก็แบบวุ่นวายไปไม่รู้จักจบ บางทีไม่จำเป็นด้วยซ้ำไปในความรู้สึกผม เพราะว่าถ้าคุณมองภาพใหญ่แล้วคุณ need กันและกัน นั่นแปลว่าคุณ need ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกัน”