E-DUANG : ในความนิ่ง ในความเงียบ มีพลานุภาพ

นับวัน “ความเงียบ” อันมาจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยิ่งสำแดงบทบาท

เหมือนกับดำรงอยู่ตามความจำเป็น

ความจำเป็น 1 จากคดีความ ความจำเป็น 1 เพราะมีการไล่ล่า ติดตามตัว

ความเงียบจึงเป็น “กลยุทธ์” สำคัญ

เพราะเมื่อดำรงอยู่ในลักษณะ “กบดาน” ก็ยากอย่างยิ่งที่จะสามารถค้นพบได้อย่างง่ายดาย

เพียงคำถามว่า ไปจากบ้านซอยโยธินพัฒนา 3 ก็ปวดหัวแล้ว

หากยิ่งเสาะหาว่า เส้นทางจากประเทศไทยออกไปได้อย่างไร ยิ่งมากด้วยปริศนา

ไม่มีคำตอบจากกัมพูชา สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

แท้จริงแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียนรู้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2554 มาแล้ว

รู้ว่า “ความเงียบ” มากด้วย “พลานุภาพ”

เพราะรู้จึงเมื่อประสบกับการโจมตี ใส่ร้าย สาดใส่สารพัดเรื่อง เธอจึง “นิ่ง” ไม่ตอบโต้

ดำเนินตามแนวทางแห่ง “พุทธธรรม”

นั่นก็คือ เมื่อมีผู้ถ่มน้ำลาย หรือนำสิ่งสกปรก โสโครก มาให้ก็ไม่รับ ขณะเดียวกัน ที่ทำได้อย่างมากก็คือ ตักน้ำมาชำระล้างเพื่อยังความสะอาดให้เกิดขึ้น

ความสกปรก โสโครก ก็หวนกลับ “เจ้าของ”

มิใช่เพราะความนิ่ง มิใช่เพราะความเงียบหรอกหรือ การหายตัวไปก่อนวันที่ 25 สิงหาคม จึงไร้เบาะแส ไร้ร่องรอย

บรรดาคนตามล่าจึงตกอยู่ในความงุนงง สงกา

 

เนื่องจากการหายตัวไปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สะท้อนความสัมพันธ์กับ “การเมือง”

“ความเงียบ” จึงมีลักษณะในทาง “สังคม”

ไม่เพียงแต่ “จำเลย” จะแปรเปลี่ยนเป็น “โจทก์” หากกระทั่งคนที่เคยเล่นบทเป็น “โจทก์” ก็กำลังจะถูกมองในสภาพอันตกเป็น “จำเลย”

นี่คือ พลานุภาพของ “ความเงียบ” นี่คือ พลานุภาพของ “ความนิ่ง”

ความนิ่ง ความเงียบ จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หากอยู่ในเงื่อนไขอันเหมาะสมก็จะก่อให้เกิด “พลัง”