การเมืองไทย ‘ปลายยุคประยุทธ์’ ในสายตา ‘มายด์ ภัสราวลี’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

การเมืองไทย ‘ปลายยุคประยุทธ์’

ในสายตา ‘มายด์ ภัสราวลี’

 

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่หลายคนประเมินว่าเป็น “ขาลงอย่างหนัก” ของรัฐบาลพลังประชารัฐ และ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

มีนักการเมือง-นักวิเคราะห์หลายฝ่ายได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจอุบัติขึ้นในวันข้างหน้า

แต่ดูเหมือนจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่หายไปจาก “เวทีแห่งการแสดงทัศนะ” ดังกล่าว ทั้งๆ ที่พวกเขาและเธอได้แสดงความกระตือรือร้นทางการเมืองออกมาอย่างสูงตลอดช่วง 2-3 ปีหลัง

คนกลุ่มนั้นก็คือเหล่าเยาวชน ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ได้ว่า “คณะราษฎร 2563”

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ รายการ “เอื้อย talk” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งมีโอกาสไปสนทนากับ “มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หนึ่งในสมาชิกหลักของคณะราษฎรฯ พอดี

และ “มายด์ ภัสราวลี” ก็ได้พูดถึงสถานการณ์การเมืองไทยร่วมสมัยไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

แม้ในปัจจุบัน ความร้าวฉาน-ระหองระแหงภายในพรรคพลังประชารัฐ จะถูกตีความว่าเป็น “จุดเสื่อมสำคัญ” ของนายกรัฐมนตรี แต่ “มายด์ ภัสราวลี” กลับเอ่ยเตือนว่า ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศไป แต่ปัญหาจำนวนมากมายอาจมิได้หมดสิ้นหรือยุติลง

“คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็เป็นแค่หนึ่งบุคคลที่อยู่ในโครงสร้างใหญ่ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติมากมาย เวลาเราพูดถึงคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือผลงานของรัฐบาล เรามักจะพูดถึงเสมอว่าองคาพยพของประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นหมายความว่าไม่ได้มีแค่ประยุทธ์คนเดียว

“ถ้าหากประยุทธ์ผลัดเปลี่ยนหน้าไป เราต้องดูเกมนี้ดีๆ ว่าเป็นการแค่เปลี่ยนตัวแสดงหลักหรือเปล่า? แล้วข้างหลังนั้นคืออะไร? โครงสร้างที่เหลืออยู่นั้นคืออะไร?”

ว่าที่บัณฑิตสาขาวิศวกรรมศาสตร์ยังมองว่าการยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาอันยั่งยืน ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นการปลดล็อกอำนาจของ “250 ส.ว.”

“ถ้าสมมุติว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกหรือยุบสภา โดยที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีการแก้ไข ส.ว. 250 คน ยังมีอำนาจล้นมืออยู่เหมือนเดิม สุดท้ายแล้วการเมืองไทยก็จะวนลูปกลับไปที่ว่าใครที่จะขึ้นมาเปลี่ยนแทนประยุทธ์ก็ต้องได้รับความไว้วางใจจาก ส.ว. 250 คน

“ซึ่ง ส.ว. 250 คน หนูมั่นใจเลยว่าจุดประสงค์ตั้งต้นของเขาตั้งแต่แรก คือเขาไม่ได้มาทำงานเพื่อประชาชนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าหากเปลี่ยนนายกฯ คนใหม่ มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ ส.ว.ยังคงอยู่ที่เดิม รัฐธรรมนูญยังคงอยู่แบบเดิมในการเอื้อให้ ส.ว.ยกมือโหวตนายกฯ ได้เหมือนเดิม อันนี้มันก็ยังติดล็อกอยู่ดี

“สิ่งที่เราต้องกดดันไปควบคู่กันก็คือ ส.ว. 250 คนนี้ต้องหมดอำนาจไปด้วย”

 

แต่หากมีการเลือกตั้งใหม่ในเร็ววันนี้ ก็มีนโยบายสำคัญข้อหนึ่งที่ “มายด์ ภัสราวลี” อยากเรียกร้องไปถึงทุกพรรคการเมือง

“พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องฟังประชาชน ต้องมองเห็นความต้องการของประชาชนเป็นหลัก คือการเป็นผู้แทนราษฎรนั้นไม่ใช่การมียศถาบรรดาศักดิ์ขึ้นมา แต่คือการเข้าไปเป็นผู้แทนของราษฎร เข้าไปแก้ปัญหาให้กับราษฎร

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประชาชนฝั่งที่เรียกร้องประชาธิปไตยต้องการมากๆ เลย คือ ความชัดเจนในเรื่องของนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเพื่อร่างใหม่ เพื่อจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เรามั่นอกมั่นใจได้ หนูคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการมากๆ”

และแม้จะยังมีความหวังกับกระบวนการต่อสู้ในระบบรัฐสภา แต่นักเคลื่อนไหวจาก “คณะราษฎร 2563” ก็มีข้อคิดเตือนใจที่อยากฝากไปถึงนักการเมืองทุกพรรคทุกฝ่าย

“อย่างหนึ่งคือหนูยังเชื่อมั่นในกระบวนการของทางรัฐสภาอยู่ คือยังไงก็ยังเชื่อว่าการมีผู้แทนฯ เข้าไปทำหน้าที่ในสภาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ยังไงก็แล้วแต่ การที่มีคนจากฝั่งฟากประชาชนที่เห็นแก่ประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา นี่คือเรื่องที่ถูกต้อง

“แต่ส่วนหนึ่งเลยก็คือเราต้องย้ำเตือนอยู่เสมอ ว่าสภาไม่ใช่พื้นที่แห่งการแก่งแย่งอำนาจกัน แต่มันคือพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชน แก้ไขปัญหาปากท้อง แก้ไขปัญหาสวัสดิการ แก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ทุกอย่าง มันคือพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่สนามรบแห่งการแย่งชิงอำนาจ

“เพราะฉะนั้น หนูคิดว่าหนูก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่อยากจะย้ำเตือนว่าถ้าหากท่านทั้งหลายที่อยู่ในสภา กำลังรู้สึกว่าตอนนี้ช่วงฤดูเลือกตั้งใกล้จะมาถึงแล้ว และกำลังต้องเดินเกมการเมืองอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้ฝั่งเราได้อำนาจกลับขึ้นมา

“ก็อยากจะให้มองย้อนกลับไปใหม่นิดหนึ่งว่าจุดประสงค์หลักในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรของท่านคืออะไร? การเป็นผู้แทนราษฎรก็ควรเป็นผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เป็นผู้นำของราษฎรไปแก่งแย่งอำนาจเอาเข้าตัวเอง อันนั้นไม่ถูกต้อง

“นักการเมืองทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ตอนนี้ ควรจะต้องกลับมาทบทวนจุดยืนของตัวเอง ทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้รับมา ทบทวนสิ่งที่ตัวเองกำลังกระทำอยู่ ว่า ณ ตอนนี้ คุณได้ตอบแทนประชาชนมากน้อยแค่ไหน?

“หรือว่าคุณเพียงแค่วาดฝันให้ประชาชนช่วงก่อนเลือกตั้ง เพื่อให้คุณได้ตำแหน่งตรงนั้นมา แล้วคุณก็ขว้างความหวังของประชาชนทิ้ง แล้วค่อยมาสู้เอาใหม่ในดาบหน้า ซึ่งสุดท้ายแล้ว การกระทำแบบนั้นจะไม่ยั่งยืนในสนามของการเมือง”