วาเลนไทน์ เล่นจริง-เจ็บจริง ‘ท็อป วราวุธ’ เล่าสมรส (เตี่ย) ต้องห้าม

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 18/02/2022

ผ่านพ้นไปแล้วกับเทศกาลวันแห่งความรัก วันที่คู่รักจะได้ใช้โอกาสนี้ควงแขนกันไปจดทะเบียนสมรสอย่างชื่นมื่น หลังเว้นช่วงมา 1 ปีจากสถานการณ์โควิด-19

แต่ใช่ว่าคู่รักทุกคู่จะสมหวัง ได้ใช้วันแห่งความรักที่ 1 ปีมี 1 ครั้ง จดทะเบียนสมรสกันได้ โดยเฉพาะคู่รักที่เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเพศ หรือ LGBTQ ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มชายขอบในระบบโครงสร้างสังคมที่กดขี่ ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตในหลายๆ เรื่อง

แม้ล่าสุดจะมีการเรียกร้องและผลักดัน ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ให้กลุ่ม LGBTQ ที่เสนอโดย ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อทวงคืนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวที่ถูกพรากไปจากกลุ่ม LGBTQ รวมถึงสิทธิทางด้านมรดก ทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และอื่นๆ เช่นเดียวกับที่กฎหมายเก่า อนุญาตให้ทำได้เฉพาะในคู่สมรสชายและหญิงเท่านั้น

วาเลนไทน์ปีนี้ กลุ่ม LGBTQ ก็ยังคงถูกปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนสมรส อันเนื่องด้วยเหตุผลระบุว่า กฎหมายยังไม่รับรองสมรสเท่าเทียม จากกรณีของ ‘ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี’ แกนนำกลุ่มราษฎรมูเตลู ที่ได้เดินทางไปสำนักงานเขตบางรักพร้อมแฟนหนุ่ม เพื่อยื่นความจำนงจดทะเบียนสมรส และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยฟ้า พรหมศร ได้เปิดใจก่อนเข้ารับการขอจดทะเบียนสมรสว่า

“สิ่งที่เรากระทำวันนี้และเรียกร้องมาโดยตลอด ไม่ใช่เป็นการเรียกร้อง แต่เรากำลังทวงสิทธิอันชอบธรรมที่พึงได้รับในฐานะประชาชนคนไทย รัฐธรรมนูญระบุว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน”

“การจดทะเบียนสมรสของคู่รักไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม มันไม่ใช่เป็นการแสดงออกเพียงความรักในวันวาเลนไทน์เพียงอย่างเดียว แต่มันตามมาถึงสิทธิในการดูแลรักษา เราจะสามารถดูแลรักษาคนที่เรารักได้อย่างไร ถ้าในเมื่อถึงเวลาฉุกเฉินเราไม่สามารถดูแลเขาได้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด การจดทะเบียนสมรสนำพามาซึ่งการดูแลซึ่งกันและกัน เราจะร่วมกันในวันนี้เป็นก้าวแรกเพื่อแสดงให้ภาครัฐได้เห็นว่า ความรักมันไม่จำกัดเฉพาะใคร ความรักเป็นสิ่งที่งดงามที่สุดในโลก และความรักจะนำพามาซึ่งทุกอย่าง”

ก่อนที่ในที่สุด ฟ้าและแฟนหนุ่มจะถูกปฏิเสธการรับรองคำร้องขอจดทะเบียนสมรส โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของคู่สมรสแล้ว ทั้งสองฝ่ายเป็นเพศชาย จึงไม่มีคุณสมบัติที่จะจดทะเบียนสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดให้ชายและหญิงเท่านั้นที่จะทำการสมรสได้

 

ย้อนกลับไปที่การประชุมสภาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ลุกขึ้นมาอภิปรายถึงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

“สิ่งที่เรียบง่ายนี้เองกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิ์ ไม่มีศักดิ์ศรี และไม่มีสวัสดิการ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิ่งที่ไม่มี แต่เป็นกฎหมายที่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากไปตั้งแต่แรก”

“หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาอะไรบ้างเมื่อพวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และบางคนมองว่าดูเหมือนก็เหมือนมีเสรีภาพอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน จึงขอเป็นกระบอกเสียงของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ถูกบันทึกไว้ในสภา”

รวมถึง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า การที่ร่างกฎหมายนี้ได้เข้ามาในสภาถือเป็นนาทีประวัติศาสตร์ การลงมติของรัฐสภาจะเป็นการบอกกับสังคมว่า กลุ่ม LGBTQ สามารถใช้ชีวิตและสร้างอนาคตได้อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกคน และความหลากหลายเป็นจุดแข็งของประไทย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอภิปรายของ ส.ส.ธัญวัจน์จบลง ‘นายอนุชา นาคาศัย’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นขอสภารับร่างกฎหมายฉบับนี้ไปศึกษา ก่อนส่งกลับคืนให้สภาพิจารณารับหลักการภายใน 60 วัน

ขณะที่ในเว็บไซต์ www.support1448.org ที่เปิดให้มีการลงชื่อเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ล่าสุดมีคนร่วมลงชื่อเกือบ 300,000 ราย เห็นชัดว่ายังมีกลุ่มคนที่ต้องการสนับสนุนและผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ แม้ว่าร่างดังกล่าวจะกำลังถูกแช่แข็งอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติก็ตาม

 

อีกหนึ่งเรื่องราวในวันแห่งความรักที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ก็คือคลิปบอกเล่าเส้นทางความรักของ ‘นายวราวุธ ศิลปอาชา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับภรรยา ‘นางสุวรรณา ศิลปอาชา’ ผ่านทางเฟซบุ๊ก TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ชื่อคลิป “Valentine day เส้นทางรัก 28 ปีที่เกือบไม่ได้แต่งงานกัน พร้อมสนับสนุนสมรสเท่าเทียม” โดยระบุว่า ‘ปีนี้ขอฉลองวันแห่งความรักกับคุณภรรยา ด้วยการมาทบทวน ย้อนรำลึกความหลัง เส้นทางรัก 28 ปี ที่เกือบไม่ได้แต่งงานกัน เพราะพ่อไม่ปลื้ม’

ในคลิปนายวราวุธเล่าว่า เหตุที่ ‘คุณพ่อบรรหาร ศิลปอาชา’ ไม่เห็นด้วยเรื่องแต่งงาน เพราะอยากให้ตนทำงานการเมืองก่อน อยากให้มีอาชีพที่มั่นคง มีคู่ครองที่เป็นคนมีชื่อเสียง ด้านครอบครัวภรรยาก็อยากให้ลูกสาวช่วยธุรกิจที่บ้านก่อน ซึ่งช่วงนั้นประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้ง กระทบธุรกิจทางครอบครัวจนล้มละลาย ทำให้คนรอบข้างยิ่งไม่เห็นด้วย แต่ทั้งคู่ก็พยายามพิสูจน์ตัวเองมาโดยตลอด จนมาถึงด่านขออนุญาตคุณพ่อเพื่อจะแต่งงาน แต่คุณพ่อก็ยังไม่เห็นด้วย พร้อมประกาศไม่สนับสนุนค่าสินสอดใดๆ ถ้าจะแต่งก็แต่งเลย

นายวราวุธเล่าต่อว่า ตนก็ไม่ฟังคำคัดค้าน เหมือนยิ่งยุ ยิ่งไม่ฟัง เดินหน้าจัดงานแต่งภายใน 1 เดือน หลังโดนคัดค้านทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย แหวนเพชรที่ใช้หมั้นก็ยืมเขามา จบงานก็รีบเอาไปคืน มีเพียงเงินก้อนเดียวที่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในงาน โดยในงานมีทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาร่วมแสดงความยินดี มีอดีตนายกฯ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มาเป็นประธานพิธี มีคนร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 4,000 คน แต่กลับไร้เงาคุณพ่อ ซึ่งในช่วงนั้นเกิดเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ข่าวใหญ่ลงหนังสือพิมพ์หลายสำนัก ว่านายบรรหารไม่ปลื้มลูกสะใภ้ เมินงานแต่ง มีเพียงคุณหญิงแจ่มใสเท่านั้นที่เดินทางมาร่วมงาน

ทั้งนี้ หลังแต่งงาน ตนก็ใช้ชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานในตำแหน่งเลขาฯ นายกรัฐมนตรี เลี้ยงดูครอบครัวแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีพี่เลี้ยงลูก จนกระทั่ง 3 ปีผ่านไป ตนเข้าไปเจอคุณพ่ออีกครั้ง เริ่มสานสัมพันธ์กันใหม่ เข้าหาด้วยเรื่องงาน จนท้ายที่สุดก็ปรับความเข้าใจกันได้ ทางคุณพ่อก็รอให้ลูกมาง้อ จนในที่สุดคุณพ่อก็เห็นว่ารักกันจริง หลังอดทนฝ่าฟันพิสูจน์ตัวเองมาหลายบททดสอบ

นายวราวุธกล่าวว่า ตนโชคดีที่ได้แต่งงานกับคนที่ตนรัก กฎหมายประเทศไทยรองรับการแต่งงานระหว่างชายหญิง เหตุที่ตนมาแชร์เรื่องราวความรักในวันนี้เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก ซึ่งก็มีคู่รักหลายคู่ที่สุขสมหวังในการแต่งงาน แต่ก็มีพี่น้องคนไทยคู่รัก LGBTQ กว่า 3,600,000 กว่าชีวิต ที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตนและภรรยาพร้อมทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา ขอเป็นแรงสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม โดยการแก้ไขร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ปพพ. 1448 เพื่อให้คนทุกคนได้ใช้สิทธิที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

ท้ายที่สุด หากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดัน บวกกับการที่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลออกตัวว่าจะสนับสนุน เกิดผ่านและมีผลบังคับใช้ ประเทศไทยคงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เกิดความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง และที่สำคัญกลุ่ม LGBTQ จะไม่ถูกด้อยค่าว่าผิดปกติอีกต่อไป