อย่าปล่อยให้ ‘สิ้นศรัทธา’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

อย่าปล่อยให้ ‘สิ้นศรัทธา’

 

ทั้งที่ “สภาล่ม” เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลไก “นิติบัญญัติ” เป็นง่อย หมดสภาพที่จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศ และดูแลทุกข์สุขประชาชน

เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เป็นระบบที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ในการมีส่วนร่วมใช้อำนาจแก้ไขปัญหา และเสนอการพัฒนา

การทำหน้าที่ไม่ได้ของ “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งเป็นเวทีของตัวแทนประชาชนจึงหมายถึงความล้มเหลวของระบบ

ซึ่งควรจะถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะทำให้ระบบตัวแทนทำหน้าที่ไม่ได้ เสียหายต่อกลไกประชาธิปไตยรุนแรง

ทว่า “สภาล่ม” ครั้งแล้วครั้งเล่า และชัดเจนว่าจะ “ล่มต่อไปอีก” อย่างไม่จบไม่สิ้น กลับไม่ได้รับการเหลียวแลที่จะแก้ไขจากผู้มีอำนาจบริหารประเทศ

พวกเขาเหล่านั้น ขอเพียงให้ตัวเองได้มีอำนาจเพื่อจัดการผลประโยชน์จากการควบคุมการบริหารประเทศ คิดแค่ให้ตัวเองยังมีอำนาจ โดยไม่ใส่ใจว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริงจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร

ไม่ใส่ใจกระทั่ง “ประชาชนคิดอย่างไร”

 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ “นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาสภาล่ม

ในคำถาม “ใครควรรับผิดชอบ” โดยให้ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ร้อยละ 43.44 บอก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล, ร้อยละ 42.37 ระบุว่า รัฐบาล, ร้อยละ 37.94 เห็นว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน, ร้อยละ 32.60 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 14.66 ชี้ไปที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย, ร้อยละ 12.60 โทษประธานวิปรัฐบาล นายนิโรธ สุนทรเลขา, ร้อยละ 11.83 โทษประธานวิปฝ่ายค้าน นายสุทิน คลังแสง, ร้อยละ 2.29 คิดว่า ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบ และร้อยละ 7.10 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามว่า “คิดว่าสาเหตุมาจากอะไร” ร้อยละ 49.85 บอกว่า เป็นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล, ร้อยละ 31.98 โทษว่า มี ส.ส.จำนวนหนึ่งไร้สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ภายในรัฐสภา, ร้อยละ 16.03 เห็นว่า วิปรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 11.91 บอกว่า มี ส.ส.จำนวนหนึ่งขี้เกียจสันหลังยาว, ร้อยละ 8.17 ชี้ว่า รัฐบาลต้องการเตะถ่วงกฎหมาย, ร้อยละ 4.89 เห็นว่า วาระการประชุมไม่ดึงดูดใจให้เข้าประชุม, ร้อยละ 4.35 ระบุว่า วิปฝ่ายค้านไม่มีประสิทธิภาพ, ร้อยละ 2.82 ชี้ว่า สภาล่มเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครอยากให้เกิด และร้อยละ 2.29 เข้าใจว่า ส.ส.จำนวนหนึ่งมีภาระหน้าที่อื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ

ในคำถาม “คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร” ร้อยละ 30.15 ให้ลงโทษตัดเงินเดือน สวัสดิการ ส.ส.ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น, ร้อยละ 22.82 เสนอลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น ร้อยละ 22.29 ขอให้ลงโทษไล่ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ในกรณีที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น, ร้อยละ 17.71 ระบุว่า ให้ปรับเงิน ส.ส.ทุกครั้งที่ไม่เข้าร่วมประชุม, ร้อยละ 16.03 ลงโทษประจานชื่อผู้ขาดประชุมสภาต่อสาธารณะ, ร้อยละ 14.20 ระบุว่า ลงโทษยุบพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ขาดประชุมสภา เกินกว่าที่กำหนด, ร้อยละ 12.60 ระบุว่า ไม่มีวิธีใดที่สามารถแก้ไขปัญหาได้

และร้อยละ 2.98 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

ฟังความเห็นของประชาชนที่สะท้อนจากผล “นิด้าโพล” แล้ว ย่อมเห็นได้ว่าประชาชนสามารถเข้าใจถึงแรงกดดันอันเป็นสาเหตุของการที่ ส.ส.ไม่ทำหน้าที่ และเข้าใจว่า ส.ส.ควรจะมีบทบาทอย่างไร

แต่อย่างไรก็เมื่อดูถึงการเสนอวิธีแก้ไข สะท้อนว่าประชาชนไม่พอใจบทบาทของ ส.ส.ที่ทำเช่นนี้นัก ถึงกับเสนอการลงโทษด้วยวิธีต่างๆ

ที่ผ่านมาการต่อสู้ระหว่างนักการเมืองฝ่ายนิยมประชาธิปไตย กับผู้ฝักใฝ่เผด็จการขับเคี่ยวกันเข้มข้นมาตลอด

เหตุใหญ่ที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยถอยร่นอย่างไม่เป็นท่ามายาวนาน เพราะถูกฝ่ายตรงกันข้ามสร้างกระแส ความไร้ประสิทธิภาพ ขาดจิตสำนึกที่ดีงาม ถูกทำลายคุณงามความดีที่เป็นแก่นแกนที่จะก่อให้เกิดความชอบธรรมมาตลอด

ทั้งที่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ได้เปรียบในการประกาศความชอบธรรมมากกว่า กลับไม่สามารถต้านทานการถูกกระทำที่ก่อกระแสทำลายได้

และความไม่แข็งแกร่งพอที่จะต้านกระแสที่มุ่งทำลายดังกล่าว เป็นสาเหตุสำคัญที่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ควรหาทางแก้ไข

เพราะเป็นหนทางรักษาคุณค่าของประชาธิปไตยให้อยู่ในความศรัทธาของประชาชน

ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น