จาก ‘มหานคร’ ถึง ‘อาคเนย์ฯ’ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

จาก ‘มหานคร’ ถึง ‘อาคเนย์ฯ’

 

กลุ่มทีซีซี กับบทเรียน “มหานคร-มหาธนกิจ” เมื่อกว่า 2 ทศวรรษ มีความเชื่อมโยงกับกรณี “อาคเนย์ฯ” บ้าง ไม่มากก็น้อย

มองอย่างกว้างๆ ว่าด้วยความสำคัญและสัมพันธ์กัน กรณีอาคเนย์ฯ ไม่อาจเทียบกับกรณีในอดีตได้

ด้วยเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในชีวิต เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี นั่นคือ กึ้งจู แซ่จิว ในฐานะบิดาของวรรณาและพ่อตาของเจริญ

กึ้งจู แซ่จิว ผู้เก็บตัวเงียบ และรวยเงียบๆ ย่านทรงวาด มีกิจการโชห่วยขายของ โดยมีโรงงานสุราแม่โขงเป็นลูกค้ารายใหญ่ เขาจึงรู้จักมีบทบาทสำคัญชักนำให้เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าสู่ธุรกิจสุราอย่างเต็มตัว

“ผมได้เริ่มรู้จักท่านผู้อำนวยการเมื่อปี 2505 จากการเข้าไปขายของให้แก่โรงงานสุราบางยี่ขัน” เจริญ สิริวัฒนภักดี (ขณะนั้น-เจริญ ศรีสมบูรณานนท์) เขียนคำไว้อาลัยในหนังสืองานศพ (มิถุนายน 2530) ของจุล กาญจนลักษณ์ (ผู้ควบคุมการผลิตและสูตรสุราแม่โขง) บอกเล่าถึงสายสัมพันธ์และประสบการณ์ธุรกิจซึ่งฝังลึกยาวนาน ตั้งแต่วัยไม่ถึง 27 ปี

ไม่นาน กึ้งจู แซ่จิว ก้าวข้ามสู่ธุรกิจสำคัญในยุคนั้น ร่วมก่อตั้ง ธนพัฒนาทรัสต์ (ปี 2515) โดยกึ้งจู แซ่จิว กับคำรณ เตชะไพบูลย์ (หรือที่ใครๆ เรียก โคโร่)

ในช่วงเดียวกันโคโร่กำลังจะเปลี่ยนฐานะจากผู้จัดการแบงก์ศรีนคร สาขาประตูน้ำ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารมหานคร เทียบเคียงบารมีพี่ชาย–อุเทน เตชะไพบูลย์ แห่งธนาคารศรีนคร

ต่อมาปี 2522 ธนพัฒนาทรัสต์ เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ในช่วงที่รัฐบาลแจกใบอนุญาต ธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ขนานใหญ่

ว่ากันว่ากิจการข้างต้นเป็นกลไกสำคัญ มีส่วนสนับสนุนและชักจูงเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าสู่วงการธุรกิจอิทธิพลอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะในการเข้าสู่ธุรกิจค้าสุราอย่างยิ่งใหญ่อย่างจริงจังในปี 2526 ในการเข้ายึดสัมปทานกิจการผลิตสุราในต่างจังหวัด

 

กึ้งจูซื้อกิจการมหาธนกิจมาจากโคโร่ ก่อนที่ธนาคารมหานครจะมีปัญหา และก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าควบคุมกิจการ จนทำให้โคโร่ต้องระเห็จไปต่างประเทศ

จากมหาธนกิจ เป็นจุดตั้งต้นสำคัญให้เจริญ สิริวัฒนภักดี ข้ามผ่านระบบสัมปทาน มาสู่ระบบธนาคาร กลายเป็นคนสุดท้ายแห่งยุคสมัย ขณะที่เวลานั้น ระบบธนาคารไทยปิดตายสำหรับคนนอกมาก่อนหน้าครึ่งศตวรรษ

ตำนานและเรื่องราวธนาคารมหานคร น่าสนใจไม่น้อย

เดิมชื่อธนาคารตันเปงชุน (ก่อตั้งปี 2477) โดยชาวจีนโพ้นทะเลยุคแรกๆ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร

ธนาคารเล็กๆ ดำเนินไปอย่างเงียบๆ จนถึงปี 2503 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนา

จากนั้นมีตำนานหลายครั้งหลายครา ปัญหาการบริหาร จนมีหนี้เสียมากมาย เป็นกรณีคลาสสิคอย่างที่รู้กันคือการปล่อยเงินกู้ให้พวกพรรคตนเอง

ครั้งหนึ่งในปี 2514 มีหนี้เสียถึง 400 ล้านบาท จนทางการและสมาคมธนาคารไทย (อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธานสมาคม) ร่วมมือกันลงขันเมื่อเข้ากอบกู้

คำรณ เตชะไพบูลย์ หรือโคโร่ น้องชายอุเทน จึงถูกส่งเข้ามาร่วมบริหารกิจการด้วย และแล้วไม่นาน โคโร่ก็สามารถเข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ เป็นผู้จัดการใหญ่ ในปี 2520 เขาเปลี่ยนชื่อจากธนาคารไทยพัฒนา เป็นธนาคารมหานคร

อีกเพียง 8 ปี ธนาคารมหานคร ภายใต้การบริหารของโคโร่ ก็มีปัญหาอันคลาสสิคเช่นเคย จนธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งลดทุน

ระหว่างนั้นเอง กลุ่มพันธมิตรเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มโคโร่ (ปี 2530) กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เข้าบริหารธนาคารมหานครเป็นกลุ่มสุดท้ายก็ว่าได้

 

เจริญ สิริวัฒนภักดี กับพ่อตา สองขาทางธุรกิจหนุนเนื่องกัน (ธุรกิจสุราและการเงิน) ผนึกเป็นพลังยิ่งใหญ่ในปี 2530 ขยายอาณาจักรธุรกิจ โหมโรงการขยายตัวอย่างเชี่ยวกรากในเวลาจากนั้นมา

เป็นทศวรรษแห่งอาณาจักรธุรกิจที่เติบโตอย่างโลดโผนอย่างมาก โดยเฉพาะมีบทเป็นนักล่าอสังหาริมทรัพย์แห่งยุค กลายเป็นตัวละครแสดงบทเร้าใจมีสีสันเสมอ

เมื่อมีความมั่นใจมากขึ้น จึงข้ามพรมแดนธุรกิจอย่างหลากหลาย จากการผูกขาดมาสู่ธุรกิจที่มีการแข่งขันมากขึ้น จากธุรกิจธนาคารและเงินทุน-หลักทรัพย์ สู่ธุรกิจเบียร์ และกิจการโรงแรม

ครั้นเผชิญปัญหาอันเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งเปิดฉากขึ้นในปี 2540 เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เปิดทางถอย เป็นไปตามกระแสอย่างไม่รีรอ ในที่สุดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ถูกทางการสั่งปิดกิจการไปอย่างถาวร (ต้นเดือนธันวาคม 2540) ตามมาด้วยธนาคารมหานครถูกทางการสั่งปิด โดยโอนกิจการไปรวมกับธนาคารกรุงไทย (ปลายปี 2541)

ในเวลานั้น ปรากฏการณ์ข้างต้น ถือเป็นความสูญเสีย เสียสูญครั้งใหญ่ เทียบไม่ได้เลยกับกรณีอาคเนย์ฯ

ธนาคารมหานครเวลานั้น (ตามข้อมูลข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2539) มีเครือข่ายสาขาประมาณ 70 แห่งทั่วประเทศ โครงสร้างกรรมการ สะท้อนสายสัมพันธ์สังคมไทย อาทิ มี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานกรรมการ พล.ท.นพ พิณสายแก้ว เป็นรองประธาน กรรมการคนอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ มารวย ผดุงสิทธิ์ สุชาติ เชาว์วิศิษฐ และ พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์ อมาตยกุล

ธนาคารมีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท ชำระแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท ราคาหุ้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2536-2539 อยู่ระดับ 15-25 บาท (จากราคาพาร์ 5 บาท)

ตามงบการเงินปี 2538 ธนาคารมหานครมีสินทรัพย์กว่า 2 แสนล้านบาท มียอดเงินฝากประมาณ 8,700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 3,500 ล้านบาท

 

ว่ากันว่า เวลานั้นให้ภาพสถานการณ์บีบคั้น ทว่ากลายเป็นผลพวงในเชิงบวกอย่างน่าทึ่ง

หลังผ่านช่วงเว้นวรรค หยุดชะงักระยะสั้นๆ กลุ่มทีซีซีภายใต้การนำโดยเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี ได้สถาปนาขึ้นอย่างเข้มแข็ง มั่นคง

ประหนึ่งเป็นไปตามแผนการจัดสรรทรัพยากรอย่างหลักแหลมอย่างที่ควรจะเป็นตั้งแต่ต้น มีฐานะใหม่ ผู้ยึดครองธุรกิจสุราในประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ เป็นฐานธุรกิจสำคัญในฐานะธุรกิจดั้งเดิม ด้วยประสบการณ์เชี่ยวกรำเกี่ยวข้องยาวนานราวๆ 4 ทศวรรษ และค่อยๆ กลับสู่โหมดคลาสสิคอีกครั้ง บทผู้ล่าซื้อทรัพย์สินตัวยง ขยายวงจากอสังหาริมทรัพย์ สู่กิจการอื่น สู่ธุรกิจที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังภาพเป็นฉากตอน ตื่นเต้นต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ประสบการณ์ และบทเรียน ก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว น่าจะมีความเชื่อมโยงกับมุมมองเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ COVID-19 อย่างน้อยในมิติหนึ่งในภาพใหญ่ ว่าด้วยการปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉงและทันกาล ยิ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่ มีเค้าหน้าตักมากเพียงใด ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ความพยายามขยับปรับตัวให้ทันกาล ก่อนสถานการณ์บีบบังคับ

เชื่อว่า กรณีอาคเนย์ฯ แตกต่างจากกรณี “มหานคร-มหาธนกิจ” ก็ตรงนี้

อีกมิติมาจากบทวิเคราะห์อย่างจริงจังที่เป็นไปได้ ในฐานะผู้เชี่ยวกรำกับธุรกิจซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจรัฐเป็นพิเศษมาช้านาน สายสัมพันธ์ซึ่งมีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นอีกกับบางธุรกิจซึ่งมีกฎกติกายุ่งยากเป็นพิเศษ

บทเรียนธนาคารมหานครและเงินทุนและหลักทรัพย์มหาธนกิจ ตอกย้ำภาพหนึ่ง ว่าด้วยลักษณะธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งกำกับและควบคุมอย่างเข้มงวดโดยรัฐ จะยิ่งเป็นไปอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เมื่อเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่เห็นเป็นมาเมื่อกว่า 2 ทศวรรษ โดยเฉพาะเมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ามามีบทบาทบริหารเศรษฐกิจไทยในช่วงหนึ่ง ได้นำมาตรฐานสากล ทั้งทางบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลที่เข้มงวดมากำกับระบบธนาคารไทย รวมทั้งแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างเข้มข้น

เชื่อว่ามีบางสิ่งบางอย่างคล้ายๆ กับธุรกิจประกันภัยในวิกฤตการณ์ COVID-19