เปิดหู | ฮิมลา ฮิมลา ฮิมลา บทเพลงหาฟังยากจากอดีตกาล

อัษฎา อาทรไผท

วันก่อนผมได้ฟังเพลงใหม่ที่กำลังฮิตระดับไวรัลไปทั่วไทย ที่มีเนื้อร้องว่า “มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้” ก็ทำให้เห็นว่าเพลงนี้สำหรับคนที่อยู่ในกระแส pop culture ปัจจุบันของไทย ก็น่าจะรู้ดีว่าเขาพูดถึงชุดเอี๊ยมสีส้มบนเสื้อสีเหลือง ที่หุ่นยนต์สังหารในเรื่อง Squid Game สวมใส่จนโด่งดังไปทั่ว แต่ถ้าคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ หรือคนในอนาคตที่มีชีวิตไม่ทันกับยุคสมัยนี้ได้ยิน อาจจะมีความงุนงงกันไปใหญ่ ว่า “โกโกวา” นั้นคืออะไร

ส่วนผมเองถือว่าแย่หน่อย เพราะเป็นคนที่ดูซีรีย์เกาหลีดังเรื่องนี้เช่นกัน แต่ก็ยังไม่ทราบว่า “โกโกวา” คืออะไร จนมาอ่านพบตามบทความต่างๆ ที่เขียนถึงเพลงดังกล่าว จึงจะเข้าใจว่ามันมาจากไหน แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้นึกถึงอีกหนึ่งบทเพลง ที่เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่เคยได้ยิน เพราะเป็นบทเพลงที่เขาแต่งจีบสาวกันในสมัยก่อน สมัยก่อนที่ว่าคือสมัยที่คุณป้าของผมยังอายุสิบกว่าขวบ (ปัจจุบันท่านอายุได้ 90 ปีแล้ว)

เพลงๆ นั้นว่ากันว่าเป็นเพลงที่มีกลุ่มชายหนุ่มร้องให้คุณป้าผมในช่วงเวลาสำคัญอะไรสักอย่าง เป็นเพลงคัสตอมที่แต่งมาร้องแค่ครั้งเดียว และท่านได้จดจำเนื้อร้องนั้น มาร้องให้ลูกหลานฟังเรื่อยมา

ความสวยงามอย่างแรกของเพลงนี้คือเป็นเพลงที่เอาชื่อคุณป้าผม “สุมาลี” มาใส่ไว้ในเนื้อเพลง ทำให้รู้สึกพิเศษเมื่อได้ยิน และความงดงามอีกอย่างคือ มันเป็นการบันทึก pop culture เมื่อราวกว่า 75 ปีก่อนเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา ผ่านกาลเวลาโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ มาช้านาน

นับเป็นความโชคดีอย่างมากที่เมื่อราวสองปีก่อน เราได้ให้คุณป้าร้อง และจดบันทึกเนื้อร้องเอาไว้ เพื่อเตรียมเอามาใส่ดนตรี สำหรับเล่นในงานวันเกิดของท่าน ซึ่งผมได้ไปทำเดโมมาเรียบร้อย ด้วยดนตรีตามที่คุณป้าร้องมาให้ฟัง ผมตีความตามยุคสมัยว่าเป็นแนวรำวงแน่นอนตามยุคสมัย แต่ในที่สุดเพลงนี้ไม่ได้นำมาเล่น เพราะเกิดโควิดเสียก่อน งานที่จะจัดจึงได้ระงับไป

ทว่าความประทับใจในบทเพลงเก่าแก่ที่สาปสูญเพลงนี้ ผมจำเป็นที่ต้องนำมาบันทึกเอาไว้ให้ชาวเปิดหูได้ผ่านตากันด้วย เพราะเพลงนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้เพลง “โกโกวา” เช่นกัน จะเพราะอะไรน่ะหรือ ลองอ่านเนื้อเพลงดูครับ

“แขนอ่อนยิ่งฟ้อนยิ่งงาม
เชิญรำเถอะนะสุมาลี
สุมาลีศรีสง่า
นางฟ้าถนนปรีดา
ฮิมลา ฮิมลา ฮิมลา
นักกีฬาฟ้อนรำ”

ในบทเพลงสั้นๆ นี้ มีการบันทึกเอาไว้ถึงสถานที่ด้วย นั่นก็คือ “ถนนปรีดา” ที่ปัจจุบันคือ สุขุมวิท ซอย 8 หรือ ซอยปรีดา สถานที่ตั้งของบ้านของครอบครัวคุณป้าในสมัยนั้น และเป็นสถานที่ๆ เขาร้องเพลงนี้กันด้วย ส่วนสุมาลีนั้นคือชื่อคุณป้าของผม ที่สมัยนั้นท่านต้องมีสเน่ห์มากๆ จนมีหนุ่มๆ มาแต่งเพลงนี้ให้ การรำในสมัยนั้นน่าจะเป็นอะไรที่ pop มากๆ ไม่ได้เชยเหมือนที่เรารู้สึกในวันนี้ แถมยกย่องให้คุณป้าเป็นนักกีฬาฟ้อนรำด้วย ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นยุคนี้จะเทียบระดับไอดอลได้ไหม

ส่วนทีเด็ดของเพลงนี้คือ “ฮิมลา ฮิมลา ฮิมลา” คำปริศนาที่มาถึงสามครั้งด้วยกัน และสร้างความฉงนสงสัยให้ผมและอีกหลายๆ ท่าน ที่ได้ฟังนักหนา เพราะเราไม่ทราบว่ามันคืออะไรกัน

ครั้นไปสืบใน Google ที่ควรจะตอบได้ทุกเรื่อง มาเจอเข้ากับ “ฮิมลา” อากู๋ของเราก็ไปไม่ถูก เพราะไม่มีคำนี้อยู่ในคลังของเขา ใกล้เคียงสุดจะเป็น “อับดุลราฮิม” และ “ฮาลาล” ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกัน เมื่อลองค้นหาด้วยการใช้ภาษาอังกฤษเป็น Himla แทน ก็พบว่ามันคือชื่อบริษัทออกแบบภายในที่สวีเดน ที่ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1990 ซึ่งยิ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเข้าไปใหญ่

ความงุนงงใน”ฮิมลา” จากเพลงเมื่อกว่า 75 ปีก่อนนี้ เมื่อผมมาเจอกับ “โกโกวา” ในปัจจุบัน ก็พอจะเดาออกว่าคนในอีก 75 ปีข้างหน้า ก็น่าจะรู้สึกมึนไม่ต่างจากเรา เมื่อไปอ่านหรือได้ยินเพลงนี้ในอนาคต แต่ก็อาจมีความเป็นไปได้ว่าคลังข้อมูลใน Google สมัยนั้น น่าจะช่วยตอบคำถามให้ได้ ต่างจากพวกเราในวันนี้ ที่หากจะหาที่มาของ “ฮิมรา” อาจจะต้องไปควานหาชายหนุ่มท่านนั้น ที่เคยมาร้องเพลงให้คุณป้าผมได้จดจำมาจนวันนี้ให้เจอ

กลัวอย่างเดียวว่าหากหาเจอ ท่านจะยังจำได้อยู่ไหมหนอ….