‘ทวารวดี’ คนไม่เท่ากัน ต้นแบบอำนาจรวมศูนย์ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘ทวารวดี’ คนไม่เท่ากัน

ต้นแบบอำนาจรวมศูนย์

 

“ทวารวดี” เป็นรัฐอำนาจรวมศูนย์ที่คนไม่เท่ากัน ซึ่งมีต้นแบบจากพระกฤษณะปกครองเมืองทวารวดีอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากนั้นส่งต่อรัฐอยุธยาสืบทอดอำนาจรวมศูนย์จากทวารวดี เป็นต้นแบบการปกครองของรัฐราชการสยามก่อนเปลี่ยนเป็นรัฐสมัยใหม่แบบประชาธิปไตย

 

หัวหน้าเผ่าพันธุ์

รัฐทวารวดีในไทยมีพื้นฐานสำคัญจากชุมชนบ้านเมืองมีการค้าระยะไกลสมัยเริ่มแรกที่ถูกเรียก “สุวรรณภูมิ”

ชุมชนหมู่บ้านอยู่บนชุมทางการค้าแร่ธาตุกับอินเดียและการค้ากับจีน ได้รับประโยชน์โดยตรงจนมั่งคั่งจากการค้าระยะไกลสมัยเริ่มแรก ทำให้ชุมชนหมู่บ้านขยายตัวเติบโตเป็นชุมชนเมืองใหญ่ระดับรัฐ ยกย่องหญิง “หมอมด” เป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) มีคนหลากหลายชาติพันธุ์จากหลายทิศทางพากันโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนเพื่อแสวงหาความมั่งคั่งนั้น มีการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ.1000

ในการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร บรรดานักเสี่ยงโชคทางการค้าจากอินเดียใต้ต้องเข้าหาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ต่อมาหัวหน้าเผ่าพันธุ์ว่าจ้างนักเสี่ยงโชคบางคนบางกลุ่มเป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างๆ ทั้งด้านการค้า, การเมือง, การศาสนา ตลอดจนข้อมูลความรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ โดยไม่มีอำนาจครอบงำและสั่งการใดๆ ดังพบว่าหัวหน้าเผ่าพันธุ์เลือกรับวัฒนธรรมอินเดีย หมายถึง ไม่รับทุกอย่างจากอินเดีย เช่น ไม่รับระบบวรรณะ เป็นต้น ปรับใช้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน แล้วยังพบว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่รับเข้ามาเน้นพิธีกรรมเป็นสำคัญ แต่ไม่เน้นปรัชญาขั้นสูง และไม่เน้นวรรณกรรมสำคัญซึ่งมีมาก

การปกครองของหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมมีลักษณะความสัมพันธ์แบบที่เรียกสมัยหลังๆ ว่า เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อกับลูกน้อง หากมีการแข็งข้อต้องกําราบปราบปรามจนถึงขั้นกวาดล้างเทครัวไปเป็นข้าไพร่ ครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียได้รับยกย่องเป็นราชาหรือกษัตริย์ แต่ลักษณะความสัมพันธ์แบบเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อกับลูกน้องยังสืบเนื่องต่อมาอีกนาน

 

คนไม่เท่ากัน

ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธจากอินเดีย ทำให้ผู้ชายมีสถานภาพเหนือผู้หญิง และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ส่วนผู้หญิงถูกริบอำนาจแต่ยังคงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผีโดยมีสภาพด้อยกว่าผู้ชาย

ภาษาบาลี-สันสกฤต ได้รับยกย่องเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ ใช้เรียกหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตามวัฒนธรรมอินเดียว่าราชา หรือ กษัตริย์ หลังจากนั้นจึงสร้างเครื่องหมายสัญลักษณ์ของราชา, กษัตริย์เป็นรูปต่างๆ ด้วยวัตถุมีค่าเพื่อใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางการเมืองการปกครอง ทำให้สถานภาพของราชาหรือกษัตริย์สูงสุด ส่วนคนอื่นๆ มีสถานะลดหลั่นลงไปอย่างคนไม่เท่ากัน

กษัตริย์มีลักษณะแบบเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อผู้มีอำนาจรวมศูนย์เป็นที่สุดที่ให้การอุปถัมภ์ลูกน้องนักเลงหรือบรรดาเจ้าเมือง ตามหัวเมือง ที่ตราบใดยังคงค้อมหัวเก็บส่วยส่งหัวคิวให้ เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ศูนย์กลางก็จะยังให้การอุปถัมภ์อยู่ต่อไป ในทางกลับกันบรรดาเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อตามหัวเมืองก็จะยอมรับส่งส่วยให้ศูนย์อยู่ตราบใดที่เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ศูนย์กลางยังให้การยอมรับเกียรติยศและคุ้มกะลาหัวจากการรังแกของเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อจากรัฐใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม หากเมื่อใดเกิดคิดแข็งข้อตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ส่งส่วยอีกแล้ว หรือคิดจะไปยอมรับเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่อยู่ในศูนย์อํานาจอีกแห่งหนึ่ง เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อหรือรัฐส่วนกลางก็จะหาทางกําจัดกวาดล้างไป หรือถ้ากวาดล้างก็ไม่ได้ แย่งเอามาก็ไม่ได้ อีกฝ่ายก็แย่งไปอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ก็จะเกิดลักษณะความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่บรรดาเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อหรือนักเลงเล็กๆ ตามหัวเมืองต้องอยู่ในภาวะยอมสยบให้กับเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อที่ส่วนกลางมากกว่าหนึ่งศูนย์อํานาจขึ้นไป หรือเรียกกันว่าเมืองสองฝ่ายฟ้าหรือเมืองสามฝ่ายฟ้า (สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียฯ โดยทวีศักดิ์ เผือกสม สํานักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2555 หน้า 19)

อำนาจรวมศูนย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นใหญ่ เหนือเขาพระสุเมรุแวดล้อมด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ สวรรค์ชั้นต่างๆ และวิมานบนยอดเขาสัตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ (ลายรดน้ำบนบานประตูตู้พระธรรม สมัยอยุธยา ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา)

บ้านพี่บ้านน้อง

เจ้าแม่หรือเจ้าพ่อกับลูกน้อง เป็นต้นตอระบบความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง (หรือ เครือญาติอุปถัมภ์) รัฐหนึ่งเมื่อชนะสงครามก็เทครัวกวาดต้อนผู้คนและเลือกสรรสิ่งของมีค่าอื่นๆ จากรัฐแพ้สงครามกลับไปรัฐของตน โดยเหลือไว้บ้างให้รัฐแพ้สงครามปกครองดูแลกันเองต่อไปแล้วอยู่ในอํานาจอุปถัมภ์ตามเงื่อนไขของรัฐชนะสงคราม นับเป็นบ้านพี่เมืองน้อง (โดยไม่ส่งคนไว้ใจไปเป็นเจ้านายปกครองดูแลเมืองขึ้นตามที่บอกไว้ในประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม)

[คําว่าพี่น้องหมายถึงเครือญาติอย่างไม่เจาะจงจะให้คนหนึ่งเป็นพี่ อีกคนหนึ่งเป็นน้อง ดังนั้น บ้านพี่เมืองน้องจึงมีความหมายกว้างๆ ว่าบ้านเมืองเครือญาติอย่างไม่เจาะจงว่าบ้านเมืองไหนเป็นพี่หรือเป็นน้อง เว้นเสียแต่จะเป็นที่ยอมรับยกย่องนับถือกันเอง ดังมีภาษาปากในสมัยหลังเรียกผู้เป็นใหญ่ว่าเจ้าแม่หรือเจ้าพ่อหรือลูกพี่ แล้วเรียกบริวารว่าลูกน้อง]

แนวคิดประวัติศาสตร์อย่างนี้มาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนน้อย แต่พื้นที่มาก จึงต้องการผู้คนเพิ่มเติม โดยการทําสงครามเทครัวเชลยจากรัฐอื่น

รูปแบบรัฐของบ้านพี่เมืองน้อง ไม่มีกําหนดกฎเกณฑ์ตายตัว ดังนี้ (1.) พลเมืองเป็นชนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งเกิดจากการเทครัวกวาดต้อน และอื่นๆ (2.) ภาษามีหลากหลาย อักษรมีเฉพาะคนชั้นสูง (3.) ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต เพราะขอบเขตของรัฐไม่แน่นอน ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับอาณาบารมีของผู้นําแต่ละคนและเป็นครั้งคราว

เทครัวกวาดต้อนคน “ร้อยพ่อพันแม่” อุษาคเนย์โบราณมีพื้นที่กว้างขวาง แต่มีคนไม่มาก พบการตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมืองกระจัดกระจายห่างๆ จนถึงห่างไกลกันมาก จึงมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจํานวนมาก ด้วยเหตุนี้เองความขัดแย้งสมัยหลังๆ จนเป็นสงคราม ทําให้ฝ่ายชนะกวาดต้อนเทครัวฝ่ายแพ้เป็นแรงงาน เรียกเชลย, ข้า, ไพร่, ทาส

นอกจากฝ่ายชนะได้แรงงานมากขึ้นไปบุกเบิกหักร้างถางพงพื้นที่ว่างเปล่าเป็น ชุมชนและไร่นาแล้ว ยังเกิดการประสมประสานของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ร้อยพ่อพันแม่ ดังนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนพูดได้มากกว่า 1 ภาษา หรือหลายภาษา ภาษาพูดจึงปนกันจนแยกชัดเจนไม่ได้ เช่น ภาษาพูดของไทยมีคําจากหลายตระกูลอยู่ปนกันแล้วรวมเรียกภาษาไทย

ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต อุษาคเนย์โบราณไม่มีใครให้ความสําคัญเรื่องดินแดน เพราะคนน้อย พื้นที่มาก จะเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปตั้งหลักแหล่งตรงไหน? เมื่อไร? ก็ได้ จึงไม่มีชายแดน ไม่มีพรมแดนของใครของมัน ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่ชุมชนรอบในหนาแน่น กับรอบนอกไม่หนาแน่นจนถึงเบาบางห่างๆ กัน ยิ่งออกไปไกลๆ ก็ยิ่งเบาบางจนหายไปเลย

เมื่อเติบโตเป็นบ้านเมืองและรัฐในสมัยหลังๆ ก็ไม่มีชายแดน เพราะไม่มีเขตแดนแน่นอน ความรู้เรื่องชายแดนเริ่มมีเมื่อเป็น “รัฐชาติ” (รับจากตะวันตก) ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง