คนซื้อที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19 / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

คนซื้อที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19

 

กูรูด้านอสังหาริมทรัพย์ บริสุทธิ์ กาสินพิลา เคยสรุปไว้ว่า การซื้อที่อยู่อาศัยจะเกิดขึ้นเมื่อมีความพร้อมที่จะเจริญพันธุ์

ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อนานมาแล้วว่า หนุ่มสาวในย่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จะเปลี่ยนจากเช่าอยู่ มาเป็นซื้อหาที่อยู่อาศัยเมื่อมีลูกเท่านั้น ด้วยมุ่งหวังให้ลูกมีชื่อปรากฏในทะเบียนบ้าน มีสิทธิ์เข้าศึกษาในโรงเรียนใกล้บ้าน

พฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นที่มาของกิจกรรมส่งเสริมการขายที่อยู่อาศัยที่ผ่านมา มุ่งเน้นไปที่ครอบครัวสุขสันต์ ไปผนวกรวมกับงานเวดดิ้งแฟร์ หรือคำโฆษณา

ที่เน้นว่า นอกจากจะมีลูกด้วยกันในโครงการนี้ ยังจะอยู่จนเป็นปู่ย่าตายาย

 

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป บ้านเมืองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 พฤติกรรมผู้ซื้อบ้านจึงเปลี่ยนไปจากเดิม

ครอบครัวที่เคยตัดสินใจซื้อบ้านเมื่อสิบยี่สิบปีก่อน มาถึงวันนี้ ล้วนเจริญวัย เข้าสู่ภาวะสูงวัย ความต้องการที่อยู่อาศัยจึงเปลี่ยนไป

บ้านหลังที่เคยคิดฝันจะอยู่จนเป็นปู่ย่าตายาย ก็ได้อยู่จริงๆ แต่สภาพบ้านทั้งคับแคบ ทั้งเสื่อมโทรม ลูกหลานตัวเล็กๆ กลายเป็นหนุ่มสาวตัวโตคับบ้าน บางคนยังมีลูกเล็กเด็กแดงมาเพิ่มขึ้น วัสดุก่อสร้างและระบบท่อเริ่มเป็นปัญหา รวมทั้งพอสูงวัย ห้องนอนที่อยู่ชั้นบน ทำให้ไปไม่ถึงสวรรค์

ยิ่งช่วงโควิด ลูกหลานที่เคยหนีไปนอนคอนโดฯ ในเมือง หวนกลับมาอยู่ด้วย เป็นการย้อนอดีตครอบครัวสุขสันต์ แต่ก็วุ่นวายไม่น้อย

 

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่มาแรง น่าจะเป็นบริษัทรับรีโนเวตบ้าน ตั้งแต่รีโนเวชั่นแค่ปรับบางห้อง ขยายบางห้อง ไปจนถึง ถ้าอยู่ทำเลดี ไปไหนสะดวก คงเป็นแบบรีคอนสตรักชั่น รื้อลงหมดแล้วสร้างใหม่ให้เต็มพิกัด คือ สูง 7-8 ชั้น ตามกฎหมาย มีที่จอดรถ มีห้องนอนพอสำหรับทุกคัน ทุกคน

สำหรับเจ้าของที่ว้าเหว่ ไม่มีคู่ ไม่มีลูกหลาน แต่ทว่าทำเลบ้านที่สร้างบนที่ดินจัดสรรรุ่นโบราณ และบ้านจัดสรรรุ่นเก่า ปัจจุบันความเจริญของเมืองมารุมล้อม เดิมทีนิยมขายทิ้ง ไปซื้อบ้านจัดสรรรุ่นใหม่

แต่พอเกิดวิกฤตคราวนี้ ในเมื่อไม่สามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง ก็ควรจะยอมเป็นพวกเดียวกันไปเสียเลย

อีกทั้งเริ่มไม่แน่ใจว่าจะอยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่ ไร้บริวารได้ จึงหวนคิดถึงการสร้างอาคารพักอาศัยหลายชั้น ชักชวน หลอกลวง หรือขายให้เพื่อนร่วมวัย นอกจากจะพักอาศัยร่วมกัน ยังใช้บริการแม่บ้าน รปภ. และช่างร่วมกันอีก

ทำให้ชีวิตสูงวัยปลอดภัย มีสุขทั่วหน้า

 

บรรดาห้องชุดพักอาศัยขนาดเล็ก บนตึกสูง รอบสถานีรถไฟฟ้า น่าจะกลายเป็นปัญหาการเว้นระยะห่างกัน ทั้งจำนวนห้อง การใช้ลิฟต์โดยสาร ยิ่งโครงการสูง โครงการใหญ่ ผู้อยู่อาศัยยิ่งเยอะ ดูไม่น่าปลอดภัยแน่นอน ยังไม่นับข่าวข่มขืน ฆ่ากันในอพาร์ตเมนต์ มีให้ได้ยินทุกวัน

ขณะเดียวกัน พื้นที่ห้องชุดพักอาศัยที่เคยพอดีสำหรับนอน กลายเป็นไม่พอดี สำหรับเวิร์กฟรอมโฮม ยิ่งอยู่กันสองคน ยิ่งกลายเป็นปัญหา ที่สำคัญ ยังไม่ต้องรีบขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานอีกแล้ว

หลังวิกฤตครานี้ การขายต่อหรือขายใบจอง คงผนวกรวมกับห้องที่ยังขายไม่ได้ กลายเป็นปัญหาแน่ๆ

 

แต่ไม่เป็นไร ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยต้มยำกุ้ง ตอนนั้นโครงการคอนโดมิเนียมมีปัญหาทั่วเมือง เจ้าของโครงการเลยเปลี่ยนแนวเป็นธุรกิจโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ในตอนแรก หรือ AIR BNB ในตอนหลัง

จึงพอคาดการณ์ได้ว่า โครงการคอนโดฯ รังผึ้งตามแนวรถไฟฟ้า จะกลายเป็นจุดหมายของนักศึกษาและคนทำงานหนุ่มสาว ที่โยกย้ายมาจากห้องเช่ารุ่นเก่า ในแฟลตและอพาร์ตเมนต์ทั้งหลาย

ที่จะกลายเป็นปัญหาคลื่นกระทบต่อไปถึงบ้านเช่า ห้องเช่า ในตึกแถวและเรือนแถว ที่จะมลายหายไปในที่สุด