วิชาตั้งคำถาม / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

วิชาตั้งคำถาม

 

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะออกมาพูดถึงโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บอกว่าจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ

ผมได้ยินชื่อโรงเรียนนี้ครั้งแรกจากเฟซบุ๊กของพี่วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรท์

เธอไปเป็นวิทยากรในงานเสวนาที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุยเรื่องการเขียนหนังสือ

เธอชื่นชมนักเรียนในโรงเรียนนี้มาก เพราะทุกคนตั้งใจฟัง กล้าถาม

และกล้าสบตา

พี่วีรพรยังบอกว่านักเรียนโรงเรียนนี้ถือว่ากล้ามากที่สบตากับเธอ เพราะด้วยบุคลิกและสไตล์การแต่งตัว แว่นกรอบดำ

เด็กส่วนใหญ่จะกลัว และหลบตา

“น้องๆ ที่นี่สบตาเราค่ะ เขาไม่หลบตาผู้ใหญ่ เขามองกลับมาตรงๆ นิ่งๆ สุภาพ ม่านตาเปิดกว้าง

เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ เด็กไทยไม่เหมือนเด็กอื่นๆ ในโลก จะเรียกได้ว่าผิดมนุษย์มนาก็ได้ เด็กไทยหลบตาผู้ใหญ่ตลอดเวลา เขาไม่มองดูคุณ และแน่นอนเขาไม่เห็นคุณเขาไม่สนใจจะมองเห็นคุณ

แต่ที่แย่กว่าอะไรทั้งหมด นั่นทำให้เรามองไม่เห็นพวกเขาด้วย เขาไม่อยากให้เราเห็นเขา เรามองไม่เห็นตาเขา เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเด็กที่อยู่ข้างในรู้สึกหรือคิดอะไร ที่นี่โรงเรียนสามารถทำให้เด็กๆ สบตาผู้ใหญ่ได้”

เป็นมุมมองที่คมคายแบบ “ซีไรท์”

ตอนที่อ่านโพสต์ของพี่วีรพร ผมก็สนใจโรงเรียนนี้ แต่ไม่ได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม

แค่จำชื่อโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ใน “รอยหยัก” ของสมองแล้ว

คิดว่าคงคล้ายๆ กับโรงเรียนรุ่งอรุณที่เคยอ่านมา

แต่พอ พล.อ.ประยุทธ์เอ่ยชื่อโรงเรียนนี้ และบอกว่าจะตรวจสอบ

ผมรีบค้นข้อมูลเลยครับ

เพราะถ้าคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ชอบ

โรงเรียนนี้ต้องดีแน่ๆ

คนที่มีนิสัย “อำนาจนิยม” จนเคยชิน

รับคำสั่งซ้ายหัน-ขวาหัน มาทั้งชีวิต

ถ้าไม่ชอบโรงเรียนไหน

โรงเรียนนั้นต้องมีความเป็น “ประชาธิปไตย” สูงอย่างแน่นอน

 

ผมค้นเจอบทสัมภาษณ์ “อาจารย์อ้อ” รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเว็บไซต์ mappa

อ่านจบแล้ว ชอบมากก…

นี่คือ โรงเรียนในฝันของหลายคน

รวมทั้งผมด้วย

“อาจารย์อ้อ” เชื่อว่าการทำโรงเรียนไม่ใช่การสอนหนังสือ แต่มันเป็นการพูดถึงการปั้นระบบนิเวศหนึ่งอันขึ้นมา

“ต้องเปลี่ยนจากมุมที่เล็กที่สุด เราไม่รู้หรอกว่าเด็กจะรอดหรือไม่รอด แต่เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ภูมิคุ้มกันให้มากเท่าไหร่มันจะไปได้เยอะเท่านั้น เราเชื่อว่าถ้าเราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวลึกเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งคงทนเท่านั้น แล้วมันจะไปปรับตัวเองในสังคมวงกว้าง

มากไปกว่านั้น เราทุกคนรู้ดีว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน จำเป็นต้องสร้างโมเดลการเรียนรู้ใหม่

เราไม่รู้ว่าโมเดลใหม่มันไปรอดหรือไม่รอดนะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าโมเดลเก่าพาสังคมล้มเหลว เราไม่ทำ”

ผมชอบวิธีคิดนี้

เมื่อเริ่มต้นการตั้งคำถามกับโมเดลเก่า

ระบบและหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป

เพราะเขาตั้งคำถามกับรูปแบบเดิมๆ ในอดีต

เช่น ทำไมต้องมีเครื่องแบบนักเรียน

ทำไมต้องให้เด็กตากแดดอบรมหน้าเสาธง และสวดมนต์ตอนเช้า

ทำไมต้องมีวิชาลูกเสือ เนตรนารี ฯลฯ

บางเรื่องอาจเหมาะสมในอดีต แต่ไม่เหมาะกับวันนี้

“ที่นี่ไม่ใส่เครื่องแบบ ไม่สนใจเรื่องทรงผม แต่เราต้องคุยกันก่อนนะว่าทำไมเด็กไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ต้องตั้งคำถามกันเองเพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจตรงกันไหม นั่นเพราะเราไม่เชื่อว่าการแต่งเครื่องแบบคือคำตอบ

เราไม่ใช้เครื่องแบบ แต่เรามีเสื้อยืดตราโรงเรียน 2 ตัวใส่เฉพาะวันอังคารและศุกร์ที่มีตลาดนัด เพื่อแยกแยะเด็กของเรากับคนภายนอก เนื่องจากโรงเรียนไม่มีขอบรั้วที่มิดชิด

นอกจากนั้น ก็ใส่ในวันที่มีพิธีการหรือออกนอกสถานที่ดูงาน”

เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเราสามารถใส่ชุดไปรเวตไปเรียนได้

ที่โรงเรียนนี้ไม่มีวิชาลูกเสือ เนตรนารี

เขาเปลี่ยนลูกเสือ เนตรนารีเป็นวิชา “อยู่รอดปลอดภัย”

“รื้อเนื้อหาใหม่หมด ไม่มีถักเชือกเงื่อนปม แต่ซ้อมหนีไฟให้เป็น เวลาไฟไหม้ ดับไฟเป็นไหม ปฐมพยาบาลให้เป็น”

วิชาว่ายน้ำ ก็เปลี่ยนเป้าหมาย

“เราไม่มุ่งเรื่องกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ แต่เอาเรื่องพัฒนาการทางด้านร่างกายก่อนวิชาว่ายน้ำของเด็ก ม.1 เทอม 1 พอหนึ่งเทอมผ่านไปครูพละจะต้องตอบโจทย์ว่า ถ้าเด็กตกน้ำ เด็กต้องรอดหรือจะดีขึ้นไปอีกถ้าสามารถช่วยคนอื่นได้ด้วย”

“เอาแค่นี้ ไม่ต้องมาผีเสื้อกับผม”

โรงเรียนนี้ไม่มีสวดมนต์ตอนเช้า เพราะสามารถหัดสวดตอนเรียน มีวิชาวิถีศรัทธาได้

ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะนักเรียนในโรงเรียนนับถือศาสนาแตกต่างกัน

เราต้องเคารพในความหลากหลายทางความเชื่อ

และมาศึกษาถึงแก่นความคิดของแต่ละศาสนาดีกว่า

ตอนเช้าที่เราเคยเบื่อกับการยืนหน้าเสาธงตากแดดร้องเพลงชาติและสวดมนต์ตอนเช้า มาฟังครูใหญ่อบรม

ที่นี่ไม่มีพิธีกรรมนี้ แต่เปลี่ยนเป็นชั่วโมงโฮมรูมในห้อง

“เราให้คุณค่าและความสำคัญกับ 30 นาทีของทุกวัน นี่จะถือเป็นนาทีทองที่เด็กๆ ในแต่ละห้องจะมาพบกับครูประจำชั้น 2 คน นอกจากจะเป็นการสื่อข้อมูลข่าวสารของทางโรงเรียน

ครูประจำชั้นจะพาเด็กคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือทำกิจกรรมเล็กๆ ปรับจูนสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเรียนคาบที่ 1”

อาจารย์อนุชาติบอกว่า ที่โรงเรียนไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม เด็กมัธยมที่นี่ประมาณ 30% ย้อมสีผม จะย้อมสีอะไรก็ได้

“การแต่งตัวก็มีบ้างที่เกินพอดี เช่น ใส่กางเกงขาสั้นเกิน”

ครูก็จะคุยกับเด็กว่าเรื่องนี้ครูไม่สบายใจ

คุยกันด้วยเหตุผล

“เราคิดว่าการให้อิสระกับสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ เพราะเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เขาจะค้นหาไปเรื่อย เรามีหน้าที่คอยประคับประคอง ชี้ข้อดีข้อเสียให้กับเขา”

บทสัมภาษณ์นี้ยังมีเนื้อหาดีๆ อีกเยอะ ควรหาอ่านมากๆ ครับ

อ่านแล้วจะรักเลย

 

ครับ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงโรงเรียนนี้

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ดังเลย

ยิ่งกว่าใช้งบฯ โฆษณาเป็นสิบๆ ล้านอีก

แต่คนไทยวันนี้ไม่ได้โง่ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งบอกว่าโรงเรียนนี้ไม่ดีแล้วเขาจะเชื่อเลย

เขารู้จักหาข้อมูลครับ

มาเจอบทสัมภาษณ์อาจารย์อนุชาติ หรือผู้ปกครองของโรงเรียนออกมาโพสต์ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง

กระแสตีกลับเลยครับ

คนประทับใจโรงเรียนมาก

คาดว่าปีหน้าเปิดรับนักเรียนเมื่อไร

คิวยาวเหยียดแน่นอน

วันวาเลนไทน์นี้ผมแนะนำว่าผู้บริหารโรงเรียนควรจะเอากุหลาบแดงไปมอบให้ท่านนายกฯ

ขอบคุณที่โฆษณาให้