จับตาลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่ ตะแกรงร่อนคัดแยก ‘รวย-จน’ ได้จริง หรือแค่เรียกคะแนน…กลิ่นเลือกตั้งโชยหึ่ง!/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

จับตาลงทะเบียนบัตรคนจนรอบใหม่

ตะแกรงร่อนคัดแยก ‘รวย-จน’ ได้จริง

หรือแค่เรียกคะแนน…กลิ่นเลือกตั้งโชยหึ่ง!

 

ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2564 กระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรอบใหม่ โดยเป็นการเปิดทบทวนสิทธิ และรับสมัครคนใหม่ เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่ปัจจุบันมีจำนวน 13.45 ล้านคน เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา แต่กลับถูกตีตกให้กลับมาทำใหม่เพราะต้องสอบถามความพร้อมของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

ที่สุด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก็ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไฟเขียวให้เปิดรับลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ จำนวน 20 ล้านคน โดยจะเปิดลงทะเบียนและคัดกรองในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และเริ่มใช้สิทธิใหม่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565

กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิจริงในรอบใหม่นี้ 17 ล้านคน จากที่ลงทะเบียน 20 ล้านคน และมีการตั้งของบประมาณสำหรับสวัสดิการหลักในโครงการในปีงบประมาณ 2566 ไว้ถึง 6 หมื่นล้านบาท

 

เมื่อย้อนกลับไป ดูการใช้งบประมาณ พบว่าปี2562 ราว 4.2 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ได้รับสิทธิจำนวน 13-14 ล้านคน ปี 2563 ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท และปี 2564 อีก 4.7 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นภาระงบประมาณรายจ่ายประจำก้อนใหญ่พอสมควร

ส่วนเงื่อนไขมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการคัดกรองหาผู้มีรายได้น้อยตัวจริง ได้แก่

1. มีสัญชาติไทย

2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

3. ไม่เป็นบุคคลตามที่ประกาศ

4. รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคนต่อปี

5. ทรัพย์สินทางการเงินส่วนบุคคลและเฉลี่ยต่อครอบครัวต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคน

6. กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

7. ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต

และ 8. ต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และสำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นณริฏ พิศลยบุตร ให้ความเห็นการทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า รัฐบาลได้ดำเนินการมานานกว่า 5 ปี ถึงเวลาทบทวนแล้ว และควรจะทำเร็วกว่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีวิกฤตการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แทรกเข้ามา ทำให้คนจนก่อนมีโควิด กับคนจนในช่วงโควิดนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ในเรื่องของจำนวนผู้ได้รับสิทธิที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจทางสถิติของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ พบว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของไทยในปี 2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนคน ซึ่งรวมแล้วอยู่ที่ 4-5 ล้านคน

แม้จะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่ถือว่าเพียงเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ยังคงเป็นปัญหาแบบเดิม คือ เมื่อใช้ค่าสถิติดูข้อมูลจะเห็นว่า คนจนตามสถิติมีความแตกต่างกับคนจนตามข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ครอบคลุมไปถึงผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปีด้วย

สอดคล้องกับที่ว่า ทำไมภาครัฐต้องเปิดรับสมัครถึง 20 ล้านคน ก็เพราะเวลาของบประมาณ หน่วยงานรัฐต้องตั้งเกินไว้ ทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือ และงบฯ ส่วนที่เหลือจะถูกดึงกลับไปใช้ในด้านอื่นๆ แทน ดังนั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลใจกับจำนวนที่เพิ่มขึ้น และการตั้งเป้าลงทะเบียนไว้ถึง 20 ล้านคน

 

นณริฏกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่ากังวลกว่า คือประสิทธิภาพในการคัดกรองของภาครัฐยังทำได้ไม่ค่อยดี ในรอบผ่านๆ มา จากข้อมูลทางสถิติ ไทยมีคนจนเพียง 4-5 ล้านคน ดูเหมือนว่าจำนวนผู้ได้มีสิทธิรับบัตรคนจนกว่า 13 ล้านคน น่าจะครอบคลุมแล้ว

แต่ปรากฏว่า เมื่อมีการสำรวจจริง กลับมีคนจนตกหล่นไปจำนวน 30-40% ของคนจนตามสถิติ หมายถึง กลไกการคัดกรองเดิมนั้นมีปัญหา คนที่ยากจนจริงหลุดออกไปจากระบบพอสมควร ในทางกลับกัน คนที่ไม่ควรจะได้สิทธิ ก็เข้ามาในโครงการจำนวนหนึ่ง

ซึ่งภาครัฐได้แก้ไขปัญหา โดยเอากลุ่มที่พบว่าตกหล่นเมื่อปี 2560-2561 ให้ไปติดต่อกับธนาคารเพื่อเข้ารับการช่วยเหลืออีกครั้ง ซึ่งอยากให้ภาครัฐเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปเพราะยังมีคนยากจน โดยเฉพาะในรอบใหม่ที่จะเปิดลงทะเบียน อาจจะเจอกับปัญหาเดิม คือ บางคนไม่ทราบเรื่อง บางคนอยู่ไกลจากการรับข่าวสาร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ถือว่าเป็นรูรั่วที่หนึ่ง

รูรั่วที่สอง คือประเทศไทยมีสวัสดิการเยอะจนเกินไป อาทิ ประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) โครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ถ้าหากนำข้อมูลมากาง จะพบว่ามันเยอะมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักอยู่แล้ว น่าจะเห็นว่าใครได้สวัสดิการใดแล้วบ้าง ส่วนการเปิดลงทะเบียนรอบใหม่นี้ จะเน้นดูในเรื่องรายได้หรือสินทรัพย์

แต่สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมคือ นำกลไกมาดึงคนที่เข้าไม่ถึงมาอยู่ในระบบ และต้องมีการนำข้อมูลเลข 13 หลักมาใช้ร่วมด้วย ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อค้นหาคนยากจนที่แท้จริง และป้องกันปัญหาการได้รับสิทธิซ้ำซ้อน

สำหรับวงเงินช่วยเหลือในบัตรสวัสดิการนั้น จะให้วงเงินเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะมีเงื่อนไขกำกับไว้ มีบางทฤษฎีระบุว่าควรให้เป็นเงินสด เพื่อให้คนที่ได้รับสิทธินำไปใช้ตามสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละคน

เช่น ในกรณีที่บัตรสวัสดิการมีเงื่อนไขใช้ค่ารถโดยสารเท่านั้น แต่ผู้ถือบัตรนั้น มีที่ทำงานใกล้ที่พัก จนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินค่ารถโดยสาร จึงไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการส่วนนี้ เป็นอีกมุมมองที่คิดว่าควรจะยืดหยุ่น

แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่อยากให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ในสองมุมมองนี้ก็ควรจะต้องรักษาสมดุลกันให้ดี

ลุ้นกัน การคัดกรองบัตรคนจนรอบใหม่ จะดึงคนจนจริงเข้ามาได้หรือไม่ หรือเป็นนโยบายหว่านแห แจกกันทั่วหน้า แค่เรียกคะแนนนิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่กลิ่นเลือกตั้งทั่วประเทศแรงขึ้นทุกที!