ถอดรหัส เคาะเลือกผู้ว่าฯ กทม. ลดแรงกดดัน หรือหนีไม่ออก/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ถอดรหัส

เคาะเลือกผู้ว่าฯ กทม.

ลดแรงกดดัน

หรือหนีไม่ออก

 

เป็นกระแสกดดันมาตลอดนับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฟอร์มรัฐบาลผสมหลายพรรค หลังการเลือกตั้งปี 2562 เพราะแม้จะให้เกิดการเลือกตั้งใหญ่ไปแล้ว แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งเป็นองคาพยพสำคัญของประเทศ ยังถูกแช่แข็งจนขยับแขนขาไม่ได้ จากผลพวงของคณะรัฐประหาร ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์เอง

แต่ไม่นานก็ทยอยปลดล็อกสนามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไล่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563

ตามด้วยระดับเทศบาล เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 และล่าสุดคือการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564

ยังเหลือกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา อันเป็นพื้นที่ไข่แดงทางการเมือง ทั้งงบประมาณกว่าแสนล้านบาท และศูนย์กลางทางอำนาจและเศรษฐกิจของประเทศที่กระจุกรวมอยู่ในที่เดียว

โดยการตัดสินใจของคนกรุงอาจจะส่งผลต่อทิศทางการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะเป็นประชากรที่อยู่ใกล้ชิดและเห็นรัฐบาลได้ชัดกว่า

 

รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ถูกครหามาอย่างต่อเนื่องว่าคิดที่จะยื้อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)

ทั้งยังปล่อยให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 แต่งตั้งเมื่อปี 2559 ทำงานอยู่ต่อไป

และ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตอบไม่ชัดเสียทีว่าจะให้เลือกตั้งเมื่อไหร่

บ้างเข้าใจว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ดึงเช็งยังไม่ให้ไฟเขียวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะรอให้พรรคพลังประชารัฐสามารถคัดเลือกแคนดิเดตที่จะมาฟัดเหวี่ยงกับคนระดับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่มีแบ๊กเป็นพรรคเพื่อไทย หรือ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ จากฝากพรรคประชาธิปัตย์

หรือรอให้สามารถสร้างความนิยมให้กับตัวเองก่อนการเลือกตั้งใหญ่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้

ชะตากรรมของรัฐบาลที่เจอทั้งศึกนอกอย่างโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ และศึกในอย่างความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่มีหัวหน้าพรรคคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่กลุ่ม 3 ป. คุมอยู่

ที่สุดท้ายเสี้ยนหนามอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คีย์แมนของพรรค ได้พาก๊วน ส.ส.อีก 20 คน หาเรื่องป้ายความผิดให้ตัวเอง เพื่อดีดตัวเองพ้นพรรคไปแบบงงๆ ผละหนีรัฐบาลเรือเหล็กสนิมเขรอะมาลอยลำเอกเทศ

 

ไม่ว่าจะพูดถึงการเลือกตั้งใหญ่ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือการเลือกตั้งซ่อมทั้งสนามภาคใต้และ กทม.

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน ‘ตีชิ่ง’ สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อความนิยม และฐานอำนาจของแต่ละฝ่ายแน่นอน

หากนับจากเมื่อวันที่ 30 มกราคม มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 จตุจักร-หลักสี่ โดยสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย รองแชมป์สมัยที่แล้วฮึดกลับมาคว้าชัยได้ จากการทำพื้นที่อย่างหนัก และต่อเนื่อง ด้วยคะแนน 29,416 คะแนน อันดับ 2 เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล ได้ไป 20,361 คะแนน อันดับ 3 อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า ได้ไป 20,047 คะแนน และอันดับ 4 สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ ได้ไป 7,906 คะแนน กลายเป็นว่าพรรคของ พล.อ.ประวิตรแพ้เลือกตั้งซ่อม 3 ครั้งต่อเนื่อง

การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดสะท้อนความนิยมของแต่ละพรรคได้ทั้งหมด

แต่ก็บอกเป็นนัยว่า คน กทม.ส่วนหนึ่งไม่ปลื้มรัฐบาล วัดจากเสียงของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลรวมกันก็กินขาดไปแล้ว

เป็นการแพ้ในสนามลองเชิงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

 

เมื่อเทียบกับคะแนนนิยมที่นิด้าโพลจัดทำเป็นครั้งที่ 7 จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 33.18 ระบุว่าเป็นชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 2 ร้อยละ 16.59 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 3 ร้อยละ 14.09 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 4 ร้อยละ 6.74 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 5.99 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

ส่วนอันดับ 9 ร้อยละ 2.42 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ต่อให้พยายามอย่างไรก็ไม่เห็นแสงแห่งชัยชนะ

แต่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สะทกสะท้าน กลับส่งสัญญาณเดินหน้าตอบรับเสียงเรียกร้องให้เลือกผู้ว่าฯ กทม.

จากเหตุเมื่อวันที่ 31 มกราคม ในการประชุมวุฒิสภา ‘วันชัย สอนศิริ’ ส.ว. ตัวเปิดประเด็นการเมือง เซ็ตลูกรอท่า โยนบอลให้ตบ ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง กทม.

โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มาตอบคำถามแทนนายกฯ ย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยประสานกับ กกต.ไม่เคยขาด ไม่ได้อยู่เฉยๆ และกำลังดำเนินการเตรียมพร้อมให้เลือกตั้ง ไม่ได้มีลับลมคมในอย่างที่มีการกล่าวหา

คาดว่าหลังวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จะหารือร่วมกันเพื่อนำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในช่วงต้นเดือนมีนาคม

“จากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติอย่างไร สัปดาห์ถัดไปจะแจ้ง กกต.ให้ประกาศ เบื้องต้นที่คาดการณ์ได้คือปลายเดือนมีนาคม จะทราบว่า กกต.จะประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันใด ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับนายกเมืองพัทยา หรือแยกกันนั้นต้องขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรี หลังจากที่มีมติ คณะรัฐมนตรีต้องประกาศ และหลังจากประกาศเลือกตั้งต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคมจะเหมาะสม”

รมว.มหาดไทยระบุ

 

ด้าน ‘ชำนาญ จันทร์เรือง’ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่น จับทางรัฐบาลว่า “หลังผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 ออกมา บางคนวิเคราะห์ว่าคงจะไม่ได้เลือกตั้งว่าผู้ว่าฯ กทม.กันแล้ว แต่ผมกลับมองในทางตรงกันข้าม คาดว่ารัฐบาลจะเปิดให้จัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อน เพื่อลดกระแสกดดัน และพยายามยื้อการยุบสภา หรือลาออกให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เป็นสภาพที่หนีไม่ออก ต้องให้เลือกผู้ว่าฯ กทม. ส่วนพรรคพลังประชารัฐอาจจะต้องยอมแพ้สนาม กทม. แต่ก็ต้องส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อรักษาว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.และ ส.ส.กทม.ของพรรค พปชร.ที่มีอยู่หลายคน นอกจากนี้ ในอนาคตก็ไม่รู้ว่าพรรค พปชร.จะเหลืออยู่กี่คน”

การที่เสือเงียบอย่าง ‘พล.อ.อนุพงษ์’ ขยับตัวในทิศทางนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ‘3 เกลอ’ แห่งก๊วน คสช.คิดอะไรในใจ ดีลอะไรกับใคร และหวังผลอะไร

แต่หากพิจารณาจาก ‘นิสัยฝังลึก’ ของพี่น้องคนละสายเลือดทั้ง 3 ก็ต้องประเมินว่า การเดินหมากแต่ละครั้ง จะต้องให้ตัวเองได้ประโยชน์ และได้เปรียบเสมอ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.ของตัวเอง อย่างที่ถูกจับตาการผูกสัมพันธ์กับกลุ่ม กปปส. เพื่อใช้เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า

ล่าสุด ‘สกลธี ภัททิยกุล’ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ดอดขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ฝากตัวกับนายกฯ และประกาศพร้อมชิงผู้ว่าฯ กทม.

 

สุดท้ายคน กทม.จะได้เลือกตั้งหรือไม่ ไม่มีอะไรการันตีได้

หรือหากได้เลือกตั้งจริง พล.อ.ประยุทธ์คงต้องใช้ทุกสรรพกำลังเพื่อชิงความได้เปรียบให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป

ไหนๆ ก็ต้านกระแสไม่ไหว ก็ตามๆ น้ำ ลดแรงเสียดทานในสนามเล็ก เพื่อไปโฟกัสสนามใหญ่

และรับมือมรสุมที่จ่อถาโถม ทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 รวมถึงปมนายกฯ 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์จึงเซฟตัวเองไม่ยุ่งเกี่ยวสนาม กทม. เพื่อให้ช้ำน้อยที่สุด และไม่สร้างศัตรูเพิ่ม